จากกระแสข่าว ‘วิกฤตลิงครองเมือง’ ของลพบุรีที่กำลังกลายเป็นประเด็นให้ถกเกียงกันถึงการจัดการของภาครัฐที่ไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจังเสียที
ปฏิเสธไม่ได้ว่าลิงพวกนี้อยู่คู่ชาวลพบุรีมาอย่างยาวนานจนเป็นภาพให้เห็นจนคุ้นตามาจนถึงทุกวันนี้ ทว่าจำนวนลิงพวกนี้ที่เยอะเกินไปไม่เพียงแต่สร้างความรำคาญ บางครั้งก็รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนด้วย
จริงๆ แล้วในต่างประเทศก็มีปัญหาคล้ายๆ กันนี้เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็น ‘ปัญหาจิงโจ้หลายล้านตัวที่ออสเตรเลีย’ ‘ญี่ปุ่นเจอปัญหากวางเอโซะซิก้าเยอะเกิน’ หรือแม้กระทั่ง ‘วิกฤตปูม้าที่อิตาลี’ จนเป็นผลเสียและทำลายระบบนิเวศ แล้วประเทศเหล่านี้้เขามีวิธีแก้ปัญหาและจัดการอย่างไร?
ออสเตรเลียออกกฎหมาย ‘ล่าจิงโจ้’ เพราะมีเยอะกว่าประชากรในประเทศ!

ออสเตรเลียมีประชากรจิงโจ้มากเกินไปจนก่อให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่า “สัตว์เหล่านี้สามารถสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูก ทรัพย์สิน และที่อยู่อาศัยได้ ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของมนุษย์ด้วย”
ตามรายงานของ BBC ระบุว่า “เจ้าหน้าที่เตือนก่อนหน้านี้ว่าจำนวนจิงโจ้ที่มากเกินไปยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสัตว์เหล่านี้ด้วย เนื่องจากการมีจิงโจ้มากเกินไปจะทำให้มีอาหารไม่เพียงพอ และหลายๆ ตัวอาจต้องอดอยากจนตาย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2016 และ 2017 เมื่อรัฐบาลโชว์ตัวเลขแสดงให้เห็นว่ามีจิงโจ้เกือบ 45 ล้านตัว ซึ่งมากกว่าจำนวนคนในประเทศประมาณ 2 เท่า” เชื่อกันว่าจำนวนจิงโจ้ที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นเพราะสภาพฝนตกชุกทำให้พืชพรรณเพิ่มมากขึ้น แต่มันก็เหมือนกับฤดูฝนอื่นๆ ที่จบลงด้วยความแห้งแล้ง
เดนนิส คิง เจ้าหน้าที่บริหารของสมาคมอุตสาหกรรมจิงโจ้แห่งออสเตรเลียกล่าวกับ AFP ว่า เขาเชื่อว่าออสเตรเลียจะได้เห็นสถานการณ์เช่นนี้ในในอีกเร็วๆ นี้ เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงไม่กี่ปีมานี้ได้สร้างเงื่อนไขสำหรับการเพิ่มจำนวนของจิงโจ้อีกครั้ง “หลังจาก 3 ปีของปรากฏการณ์ลานีญาบนชายฝั่งตะวันออก เราได้เห็นสถานการณ์การเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แบบของจิงโจ้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า…วงจรการผสมพันธุ์เร็วขึ้นจริงๆ"
และหากเป็นเช่นนั้น เขาเชื่อว่าประชากรจิงโจ้จะมีจำนวนมากถึง 60 ล้านตัว ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรในออสเตรเลียถึง 2.3 เท่า
และวิธีป้องกันปัญหาเหล่านี้คือ ‘ยิงพวกมัน’
“การยิงถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและมีมนุษยธรรมที่สุดในการควบคุมจิงโจ้ เพราะสัตว์เหล่านี้ตายอย่างรวดเร็วและลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว” รัฐบาลวิกตอเรียระบุในเอกสารเกี่ยวกับการควบคุมประชากรจิงโจ้ในปี 2017
โดยปกติแล้ว การฆ่า ซื้อ ขาย หรือครอบครองจิงโจ้ในออสเตรเลียถือเป็น ‘สิ่งผิดกฎหมาย’ อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบสนองต่อจำนวนจิงโจ้ที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลออสเตรเลียจึงอนุญาตให้ผู้ถือใบอนุญาต ‘ฆ่า’ หรือ ‘ยิง’ จิงโจ้ได้ สิ่งนี้ส่งผลให้เกิดการฆ่าสัตว์ป่าบนบกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จิงโจ้และวัลลาบี 90 ล้านตัวถูกฆ่าอย่างถูกกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์ทาง ‘การค้า’ หรือเชิงพาณิชย์
แต่เนื่องจากกฎหมายถูกแบ่งระหว่างเครือจักรภพและรัฐบาลท้องถิ่นในออสเตรเลีย ดังนั้น กฎระเบียบในการคัดแยกจิงโจ้จึงมีความซับซ้อน นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่แตกต่างกันออกไปซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจิงโจ้จะถูกฆ่าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าหรือไม่
ส่วนการฆ่าจิงโจ้ที่ ‘ไม่ใช่’ เชิงพาณิชย์นั้นอยู่ภายใต้หลักปฏิบัติแห่งชาติสำหรับการยิงจิงโจ้และวัลลาบีอย่างมี ‘มนุษยธรรม’ เพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียให้เหตุผลในการฆ่าจิงโจ้ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์โดยคำนึงถึงข้อกังวลด้าน ‘สิ่งแวดล้อม’ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
‘กวางเอโซะซิก้า’ ป่วนฮอกไกโดจนญี่ปุ่นต้องสนับสนุนทุน ‘ล่า’

ข้ามฟากมาทางฝั่งญี่ปุ่นเองแม้ขึ้นชื่อเรื่องการจัดระเบียบเมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบนิเวศและธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เมื่อประเทศนี้เผชิญกับปัญหาจำนวน ‘กวางเอโซะซิก้า’ (Yezo sika) ในจังหวัดฮอกไกโดที่ควบคุมไม่ได้มานานหลายปี ทั้งยังออกอาละวาดกินพืชผลของชาวนาและรบกวนการจราจรจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ที่แย่กว่านั้นคือ ‘ขาดความช่วยเหลือจากรัฐบาลท้องถิ่น’
ทว่านโยบายการคุ้มครองสัตว์พื้นเมืองในฮอกไกโด และการลดจำนวนนักล่ากวางนั้นส่งผลให้จำนวนกวางพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก แม้ว่ากวางเหล่านี้จะเคยเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในช่วงยุคเมจิ (1868-1912) มาแล้วก็ตาม
ประชากรกวางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1990 จึงกระตุ้นให้รัฐบาลจังหวัดฮอกไกโดเริ่มออกนโยบายในการกำจัดพวกมันตั้งแต่ประมาณปีงบประมาณ 2010
จากข้อมูลของแผนกควบคุมสัตว์ป่าในฮอกไกโดระบุว่า “เกิดอุบัติเหตุจราจร 4,480 ครั้งและการหยุดชะงักของรถไฟ 4,273 ครั้ง ซึ่งทั้ง 2 กรณีเกิดจากการชนกับกวางเอโซะซิก้าในปี 2022 และปีงบประมาณ 2022 ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 กรณีถือเป็นสถิติสูงสุด…ความเสียหายทางการเกษตรที่เกิดจากกวางมีมูลค่าสูงถึง 4.8 พันล้านเยน (ราว 1.14 พันล้านบาท)”
รัฐบาลจังหวัดได้กำหนดระยะเวลาสำหรับมาตรการรับมือฉุกเฉินตั้งแต่ปี 2010-2014 และเพิ่มเงินอุดหนุนการล่ากวางเอโซะ ส่งผลให้จำนวนประชากรกวางโดยประมาณลดลงเหลือ 650,000 ตัวในปีงบประมาณ 2018 และลดความเสียหายของพืชผลลงเหลือ 3.9 พันล้านเยน (ราว 929 ล้านบาท)
อย่างไรก็ดี จำนวนประชากรกวางเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 720,000 ตัวในปีงบประมาณ 2022 และทางจังหวัดได้กำหนดให้ปี 2024-2026 เป็นช่วงเวลาสำหรับมาตรการตอบโต้ฉุกเฉินต่อกวางเหล่านี้
เจ้าหน้าที่กำลังพิจารณามาตรการต่างๆ รวมถึงการเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการล่ากวางในปีงบประมาณหน้า โดยพวกเขาหวังว่าจะลดจำนวนประชากรกวางเอโซะในอนาคตลงเหลือประมาณ 390,000 ตัว
ทว่าการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนานั้นกลับส่งผลให้นักล่าลดลง และจำนวนประชากรกวางเอโซะซิก้า รวมถึงความเสียหายทางการเกษตรและการชนกับกวางก็เริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2020
ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นได้ตั้งเป้าหมายที่จะล่ากวางให้ได้ 185,000 ตัวในปีงบประมาณ 2023 และ 2024 และหวังว่าจะ ‘ควบคุม’ จำนวนกวางด้วยการยกระดับ ‘การล่ากวาง’
‘ปูม้า’ เยอะเกินจนทำลายระบบนิเวศในทะเลที่อิตาลี

ชุมชนประมงในอิตาลีทางตอนเหนือของประเทศกำลังต่อสู้กับการบุกรุกของ ‘ปูม้า’ (Blue Crab) ที่กำลังกินสัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาค
จริงๆ แล้วปูมีพื้นเพมาจากชายฝั่งอเมริกาเหนือและใต้ และแพร่กระจายไปทั่วทะเลสาบหลายแห่งในอิตาลีในช่วงปีที่ผ่านมาอันเป็นผลจากการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ หลังจากถูกบรรทุกลงเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งส่วนใหญ่มันมักจะจับหอยในท้องถิ่นกิน และสร้างภัยคุกคามต่อบทบาทของประเทศในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิต ‘หอยกาบ’ ชั้นนำของโลก
ตามที่ผู้เชี่ยวชาญระบุ ปูม้าได้เดินทางมายังอิตาลีโดยเป็นผลจากการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ หลังจากถูกบรรทุกลงเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่โดยไม่ได้ตั้งใจเมื่อพวกเขารวบรวมน้ำอับเฉา ซึ่งพวกมันใช้เพื่อรับประกันความเสถียร น้ำนี้ซึ่งมักไม่ถูกกรองก่อนถูกปล่อยลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่งผลให้ปูสามารถบุกเข้ามาในพื้นที่ใหม่ๆ ได้
“ปูม้ากำลังกินทุกอย่าง ทะเลสาบที่ทอดยาวนี้กำลังกลายเป็นทะเลทราย ทุกๆ วัน เราตกปลา พวกมันมากขึ้นทุกๆ วัน...” จานลูก้า ทราวาเจลีย เกษตรกรเลี้ยงหอยแมลงภู่และหอยกาบวัย 52 ปีกล่าว
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ชาวประมงตั้งแต่แอลเบเนียไปจนถึงฝรั่งเศสและสเปนต้องต่อสู้กับการแพร่กระจายของปูม้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสมดุลตามธรรมชาติของประชากรพื้นเมือง
ชุมชนชาวประมงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้รับคำแนะนำให้จับปูม้าให้ได้มากที่สุดเพื่อพยายามควบคุมจำนวนปูม้า แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่ได้ผลมากนัก
สมาคมเกษตรกรรมรายใหญ่ที่สุดของอิตาลี หรือ ‘โคลดิเรตติ’ (Coldiretti) เรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น ‘การบุกรุกของปู’ ซึ่งได้แรงหนุนจากภาวะน้ำอุ่นและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั่วทั้งก้นทะเลของอิตาลี ปูเหล่านี้จะกำจัดหอยกาบ หอยแมลงภู่ ไข่ ปลาอื่นๆ และหอย ส่งผลให้ธุรกิจ 3,000 รายในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโปเสี่ยงต่อการอยู่รอด” โคลดิเรตติระบุ
รัฐบาลอิตาลีจัดสรรเงิน 2.9 ล้านยูโร (ราว 112 ล้านบาท) ในเดือนกรกฎาคม 2023 ให้กับสหกรณ์ประมงเพื่อควบคุมประชากรปูเพื่อจัดการกับสิ่งที่ ‘ฟรันเชสโก โลลโลบริจิดา’ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรเรียกว่า ‘สถานการณ์วิกฤติ’ โดยเงินจำนวนนี้จะเป็น ‘สิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจ’ สำหรับผู้ที่จับและการกำจัดปู ซึ่งโลลโลบริจิดาบอกว่า “ขาดแคลนสัตว์นักล่าตามธรรมชาติในน่านน้ำอิตาลี”
ปัจจุบันแม้รัฐบาลจะสนับสนุนทุนให้จับปูม้าเจ้าปัญหาเหล่านี้ แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจำนวนปูจะลดลงไปตามเป้าที่ตั้งไว้มากน้อยเพียงใด