เส้นทางกว่าจะเป็นสุนัขตำรวจ-กู้ภัยช่วยเหลือคน...ฮีโร่ 4 ขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง

3 เม.ย. 2568 - 10:31

  • กว่าจะเป็นสุนัขตำรวจ (K9) และสุนัขกู้ภัย (SAR) ช่วยเหลือผู้รอดชีวิต...ฮีโร่ 4 ขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง

  • SPACEBAR พาไปดูว่าพวกเขาต้องผ่านการฝึกมาหนักแค่ไหนกัน...

how-k9-train-become-rescue-dog-SPACEBAR-Hero.jpg

อีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยค้นหาผู้รอดชีวิตจากซากตึก สตง.ถล่ม อย่างเต็มกำลัง ต้องยกความดีความชอบให้ฮีโร่ 4 ขาอย่างสุนัขตำรวจ ‘K9’ และสุนัขค้นหา-กู้ภัย (SAR) ตั้งแต่วันแรกของการปฏิบัติภารกิจจนเข้าสู่วันที่ 6 แล้ว แต่น้องๆ สี่ขาก็ยังทำงานกันไม่หยุด ทั้งยังคอยฮีลใจบรรดาญาติผู้ประสบเหตุตึกถล่มอีกด้วย 

แต่รู้ไหมว่ากว่าน้องๆ จะมาเป็น ‘สุนัขตำรวจ และสุนัขกู้ภัย’ ได้ พวกเขาต้องผ่านการฝึกมาหนักแค่ไหน SPACEBAR จะพาไปดูกัน... 

กว่าจะเป็นสุนัขตำรวจ...

สุนัข ‘K9’ (Canine) เป็นสุนัขที่ได้รับการฝึกอบรมพิเศษเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาฝึกมักเป็นสายพันธุ์เหล่านี้ : 

  • เยอรมันเชพเพิร์ด 
  • เบลเยี่ยมมาลินอยส์ 
  • บลัดฮาวด์ 
  • ร็อตไวเลอร์ 
  • ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ 
  • บีเกิ้ล เป็นต้น

สุนัขเหล่านี้จะถูกฝึกครั้งแรกเมื่อมีอายุได้ 7 สัปดาห์จนถึง 1 ปี โดยจะต้องผ่านการทดสอบพื้นฐานเพื่อระบุความสามารถตามธรรมชาติของสุนัขในการทำตามคำสั่ง เช่น อยู่นิ่งๆ หมอบ นั่ง การรอ การใช้ปากคาบของ เป็นต้น เพื่อตัดสินว่าน้องๆ มีคุณสมบัติในการเข้าร่วมกองกำลังหรือไม่  

ในระหว่างการฝึก สุนัขเหล่านี้จะได้รับการดูแลที่ดีทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การปกป้อง และการฝึก น้องๆ จะต้องเรียนรู้การเชื่อฟังอย่างไม่ลังเล การปฏิบัติตามคำสั่ง การค้นหา การโจมตี การติดตาม การตรวจจับสารเสพติด และการจดจ่อกับสถานการณ์หากถูกเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อให้พวกเขาเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันใดๆ ขณะปฏิบัติหน้าที่

หน้าที่หลักๆ ของสุนัขตำรวจก็คือ :

  • ติดตามคนร้ายที่กำลังหลบหนี 
  • ค้นหาสารเสพติด หรือวัตถุระเบิด 
  • ค้นหาบุคคลสูญหาย 
  • ค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุภัยพิบัติต่างๆ เช่น ไฟไหม้ แผ่นดินไหว เป็นต้น 
  • ปกป้องเจ้าหน้าที่และบุคคลอื่นๆ

สำหรับสุนัขตำรวจที่ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง (K9 Dual Purpose) ต้องผ่านการฝึกอบรมเฉพาะ ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี โดยจะฝึกด้วยการบูรณาการหน้าที่หลายอย่าง เช่น การตรวจจับยาเสพติด การค้นหา และกู้ภัย ในงานเดียวกัน 

แต่สุนัขตำรวจบางตัวก็จะทำหน้าที่เฉพาะเท่านั้น เช่น สุนัขติดตาม สุนัขกู้ภัย สุนัขค้นหาผู้สูญหาย หรือสุนัขค้นหาศพ

เมื่อถึงคราวเกษียณราชการสุนัขตำรวจ

สุนัขตำรวจบางตัวจะถูกปลดระวางหากได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์ รวมไปถึงการตั้งท้อง แก่เกินไป หรือป่วยจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้ เนื่องจากสุนัขหลายตัวเติบโตในสภาพแวดล้อมการทำงานในช่วงปีแรกของชีวิตและปลดระวางก่อนที่จะไม่สามารถทำงานได้  สุนัขจึงมีอายุการทำงานระหว่าง 6–9 ปี 

ในบางประเทศอย่างอังกฤษ ได้มีการนำแผนเกษียณอายุสำหรับสุนัขตำรวจมาใช้ในมณฑลนอตทิงแฮมเชียร์เมื่อปี 2013 ด้วยการเสนอเงิน 805 ปอนด์ (ราว 3.6 หมื่นบาท) เป็นระยะเวลา 3 ปีเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพิ่มเติม นอกจากนี้ สุนัขเหล่านี้ยังได้รับอนุญาตให้รับเลี้ยงโดยผู้ดูแลเดิมอีกด้วย 

เส้นทางการเป็นสุนัขกู้ภัยก็ไม่ง่าย...

สุนัขค้นหาและกู้ภัย (Search and Rescue dog / SAR) เป็นสุนัขที่ได้รับการฝึกฝนให้ตอบสนองต่อสถานที่เกิดเหตุอาชญากรรม อุบัติเหตุ ภัยพิบัติจากธรรมชาติหรือฝีมือมนุษย์ สุนัขเหล่านี้จะตรวจจับกลิ่นของมนุษย์ ซึ่งเป็นกลิ่นเฉพาะตัวของผิวหนัง ตลอดจนกลิ่นสารซีบัมของมนุษย์แต่ละคนที่หลั่งออกมา นอกจากนี้ น้องๆ ทีม SAR ยังเป็นที่รู้จักในการค้นหาผู้คนใต้น้ำ หิมะ และซากอาคารที่พังทลาย รวมถึงซากศพที่ฝังอยู่ใต้ดิน

สายพันธุ์สุนัขทั่วไปที่ใช้สำหรับการค้นหาและกู้ภัย ได้แก่ :

  • เยอรมันเชพเพิร์ด 
  • ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ 
  • บอร์เดอร์คอลลี่ 
  • โกลเด้นรีทรีฟเวอร์

สุนัขแต่ละตัวจะได้รับการคัดเลือกจากพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานภาคสนาม เช่น :

  • อัธยาศัยดี 
  • ฉลาด 
  • มีความอดทน 
  • คล่องตัวสูง 
  • ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ 
  • กล้าหาญ 
  • มีนิสัยอยากรู้อยากเห็น

การฝึกต่างๆ ที่ใช้ในการฝึกสุนัขกู้ภัยนั้นอิงตามวิธีการที่พัฒนาขึ้นเพื่อฝึกสุนัขทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1และ 2 โดยปกติแล้วจะฝึกตั้งแต่สุนัขยังเด็กๆ 

  • อายุ 10-12 สัปดาห์ : ฝึกการดมกลิ่น 
  • เมื่อเริ่มโตขึ้น : ฝึกด้วยเกมซ่อนหา เพื่อจำลองสถานการณ์คนสูญหายในภัยพิบัติ

สุนัขกู้ภัยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไรก็ตามจะใช้เวลาฝึกประมาณ 12-18 เดือน เป็นเวลา 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น รัฐบางแห่งกำหนดให้ต้องมีการรับรองก่อนประจำการ 

การแจ้งเตือนของสุนัขกู้ภัยให้ผู้ฝึกทราบว่าพวกเขาเจอแหล่งที่มาของกลิ่นแล้ว จะสังเกตพฤติกรรมน้องๆ ได้จากพฤติกรรมเชิงรับ เช่น การเขี่ย การนั่ง เป็นต้น หรือพฤติกรรมเชิงรุก เช่น การเห่า  ข่วน หรือขุด 

“สุนัขกู้ภัยต้องมีสมรรถภาพร่างกายที่แข็งแรง เช่นเดียวกับนักกีฬา และมีอายุยืนยาว...สุนัขเหล่านี้ต้องมีความกล้าหาญ รวมถึงสามารถจัดการกับความกลัวและความไม่มั่นคงของตัวน้องๆ เอง เอาชนะในสถานการณ์ที่ยากลำบากได้” แอนน์ วิชแมน หนึ่งในเจ้าหน้าที่ฝึกสุนัขกู้ภัยสหรัฐฯ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์