บทวิเคราะห์: ทองจะแพงไปถึงไหน? ซื้อตอนนี้ยังทันมั้ย?

15 มิ.ย. 2567 - 03:00

  • ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วราคาทองขยับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนแตะออลไทม์ไฮที่ 2,450 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม

  • คริสโตเฟอร์ หว่อง นักยุทธศาสตร์จากธนาคาร OCBC มองปัจจัยดันราคาทองคำ 3 ปัจจัยคือ ภูมิศาสตร์การเมือง การลดดอกเบี้ย และการตุนทองคำของธนาคารกลาง

how-long-will-gold-rush-last-as-prices-hit-record-highs-SPACEBAR-Hero.jpg

ราคาทองเชื่อมโยงกับสถานการณ์โลกและสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วราคาทองขยับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนแตะออลไทม์ไฮที่ 2,450 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม  และซื้อขายกันที่ 2,373 ดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 6 มิถุนายน สูงกว่าสถิติครั้งก่อนหน้าเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระตุ้นความต้องการทองคำจนราคาขยับขึ้นไปที่ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  

ฝั่งประชาชนก็แห่แหนซื้อทอง อย่างในจีนมีคนรุ่นใหม่หันมาซื้อทองคำแท่งขนาดจิ๋วเท่าเมล็ดถั่ว สนนราคาเม็ดละ 90 ดอลลาร์สหรัฐ (3,309 บาท) หรือในเกาหลีใต้ที่ให้ซื้อทองแท่งขนาดไม่เกินนิ้วมือในร้านสะดวกซื้อ โดยทองคำน้ำหนัก 1.87 กรัมขายกันที่ 170 ดอลลาร์สหรัฐ (6,251 บาท)  

คริสโตเฟอร์ หว่อง นักยุทธศาสตร์จากธนาคาร OCBC มองว่า แนวโน้มทองคำยังคงเป็นบวก จากการที่บรรดาธนาคารกลางเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินไม่ว่าจะผ่อนมากผ่อนน้อยก็ตาม และทองคำก็ยังทำหน้าที่เป็นตัวช่วยกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนได้อย่างดี แต่การลงทุนทองคำก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย เนื่องจากราคาขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว

how-long-will-gold-rush-last-as-prices-hit-record-highs-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ทองคำแท่งจิ๋ว หรือ gold beans ที่วัยรุ่นจีนนิยมซื้อ Photo by Xiaohongshu

ทำไมทองขึ้น? 

หว่องอธิบายว่าเกิดจากเหตุการณ์ 3 อย่างที่เขาเรียกว่า 3Gs G ตัวแรกคือ geopolitics หรือภูมิศาสตร์การเมือง เมื่อใดก็ตามที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นักลงทุนจะแห่ไปที่ทองคำซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) การปรับขึ้นของราคาทองคำเมื่อเร็วๆ นี้มาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งทั้งในตะวันออกกลางและสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน  

หว่องเผยอีกว่า การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้อาจดันให้ราคาทองคำขยับขึ้นอีก  เพราะถ้า โดนัลด์ ทรัมป์ ทวงเก้าอี้ประธานาธิบดีคืนมาได้ เขาอาจประกาศสงครามการค้าระลอกใหม่กับจีน โดยเจ้าตัวเพิ่งจะประกาศว่ามีแผนจะเก็บภาษีสินค้าจากจีน 60% หรือมากกว่านั้น และในปี 2018 และ 2019 ก็เป็นตัวอย่างแล้วว่าช่วงที่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเริ่มขึ้นและยกระดับขึ้นนั้น ราคาทองคำก็ขยับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

G ต่อมาคือ global easing หรือการลดอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก หนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังแนวโน้มเชิงบวกของทองคำคือการคาดการณ์ว่าจะเกิดวัฏจักรการลดอัตราดอกเบี้ย ธนาคารกลางของหลายประเทศ รวมทั้งบราซิล แคนาดา สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และในยุโรปเริ่มประกาศลดอัตราดอกเบี้ย โดยมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจะเดินตามรอยประเทศเหล่านี้ภายในปีนี้  

หว่องมองว่า โอกาสที่ธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยหนุนราคาทองคำ ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วเมื่อปี 2001 ที่ราคาทองคำแข็งแกร่งขึ้นเมื่อวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดสิ้นสุดลง หากประวัติศาสตร์เกิดซ้ำ ราคาทองคำยังมีช่องให้ขยับขึ้นไปอีกหากเฟดเริ่มลดดอกเบี้ยจริงๆ  

G สุดท้ายคือ gold buying spree by central banks หรือการระดมซื้อทองคำของธนาคารกลาง ธนาคารกลางยังคงเดินหน้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องคือ ราว 1,082 ตันทองคำในปี 2022 และ 1,037 ตันในปี 2023 และแนวโน้มนี้ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ โดยธนาคารกลางของจีนซื้อทองคำมากเป็นอันดับต้นๆ คือ ซื้อเพิ่ม 225 ตันเมื่อปีที่แล้ว และเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกันที่จีนซื้อทองคำเข้าคลัง 

หว่องเผยว่า ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจของธนาคารกลาง เนื่องจากทองคำยังคงสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่เกิดวิกฤต ทั้งยังเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีและมีสภาพคล่องสูง 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวโน้มทองคำยังคงเป็นบวก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความผันผวน ทองคำอาจได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นของตลาด นโยบายทางการเงิน ข้อมูลเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ ราคาทองคำอาจเผชิญแรงกดดันหากเฟดชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยออกไป หรือหากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ลดลง  

ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียก่อนลงทุนทอง 

ราคาทองคำเชื่อมโยงอยู่กับสภานการณ์โลกและสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแยกกันไม่ออก ดังนั้นจึงมีทั้งข้อดีข้อเสียให้ต้องพิจารณาก่อนจะลงทุนในทองคำ 

ข้อดีอย่างแรกของทองคำคือ สามารถเก็บรักษามูลค่าได้อย่างดี นับตั้งแต่ปี 2001 ทองคำสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในแง่ของค่าเฉลี่ยในแต่ละปีปฏิทิน หากย้อนดูข้อมูลจนถึงปัจจุบันจะพบว่าอัตราผลตอบแทนรายปีเฉลี่ยของทองคำอยู่ที่ 9.0% นับตั้งแต่ปี 2001 ช่วงเดียวที่ทองคำสร้างผลตอบแทนได้ไม่ดีคือ ตอนที่เฟดส่งสัญญาณว่าจะลดนโยบายมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หรือขึ้นดอกเบี้ย 

ข้อดีต่อมาของทองคำคือ ทองคำถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงในช่วงเวลาที่เกิดความไม่แน่นอนขึ้น นี่เป็นเรื่องจริงในช่วงวิกฤตที่ผลตอบแทนส่วนใหญ่เป็นบวก แม้ว่าจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงของวิกฤตก็ตาม 

หากย้อนดูวิกฤตใหญ่ๆ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าราคาทองคำยังค่อนข้างมั่นคง ซึ่งตรงข้ามกับตลาดหุ้นที่บางครั้งดิ่งลงจนน่าใจหาย เช่น ราคาทองคำพุ่งขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2007-2008 ส่วนราคาหุ้นนั้นสวนทาง แต่แน่นอนว่าผลประกอบการในอดีตอาจไม่จำเป็นต้องบ่งชี้ถึงผลลัพธ์ของอนาคตเสมอไป และบางคนอาจแย้งว่าการเปรียบเทียบนี้เป็นการเปรียบเทียบแบบทั่วๆ ไปเกินไป แต่เราก็ต้องพิจารณาสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและความรู้สึกของนักลงทุนที่มีอิทธิพลต่อราคาทองคำด้วย ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะวิกฤตใดวิกฤตหนึ่ง 

การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ทั้งหุ้น พันธบัตร และทองคำจะช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมได้ หากมีสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งสร้างผลตอบแทนได้ไม่ดี สินทรัพย์อื่นอาจช่วยบรรเทาการขาดทุนได้  

อย่างไรก็ดี การถือทองคำไว้ก็มีข้อเสียเช่นกัน การแข็งค่าของราคาทองคำมีแนวโน้มช้ากว่าของหุ้น ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในทองคำอาจไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทองคำไม่สามารถสร้างอัตราผลตอบแทนจากการถือครองหรือเงินปันผลเหมือนพันธบัตรหรือหุ้น ผลตอบแทนจากทองคำขึ้นอยู่กับราคาที่ขยับขึ้นในช่วงเวลาที่เราตัดสินใจว่าจะขายหรือไม่ขายทองคำที่เราถืออยู่ และราคาทองคำก็ผันผวนมากในบางครั้ง 

ทองคำเป็นทรัพย์สินที่จับต้องได้ซึ่งเราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการจัดเก็บให้กับผู้ให้บริการห้องนิรภัย หรือหากจะเก็บทองคำไว้ที่บ้านก็มีความเสี่ยงต้องแบกรับ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนค่าเสียโอกาสในแง่ของประสิทธิภาพในการเปลี่ยนทองคำเป็นเงิน แม้ว่าทองคำอาจจะมีสภาพคล่องมากกว่าการลงทุนอื่น แต่การขายทองคำจำนวนมากอย่างรวดเร็วก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงขาลง 

ท้ายที่สุดแล้ว ทองคำอาจไม่ใช่การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกคน แม้ว่าทองคำจะน่าดึงดูดใจก็ตาม นักลงทุนต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เป้าหมายการลงทุน และพอร์ตลงทุนโดยรวมก่อนเช่นเดียวกับการลงทุนอื่นๆ  

Photo by Yasser AL ZAYYAT / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์