แม้เสียเมืองแต่ยังแข็งแกร่ง! กองทัพเมียนมาไม่ได้อ่อนแออย่างที่คิด

9 เมษายน 2567 - 10:13

how-the-myanmar-regime-is-surviving-SPACEBAR-Hero.jpg
  • แม้รัฐบาลเมียนมาจะสูญเสียดินแดน ฐานทัพสำคัญ และทหารจำนวนมาก แต่ดูเหมือนว่าฐานทัพที่เหลือตามเมืองต่างๆ ยังคงแข็งแกร่ง

  • ส่วนใหญ่กองทัพเน้นโจมตีทางอากาศมากขึ้น

สงครามกลางเมืองเมียนมากำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดที่ดูเหมือนว่าฝ่ายเสียเปรียบและกำลัง ‘อ่อนแอ’ จะเป็นฝั่งรัฐบาลทหารเสียเอง หลังจากเสียดินแดน ฐานทัพสำคัญ และทหารยอมจำนนแปรพักตร์ไปเป็นจำนวนมาก จนสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ต้องบังคับใช้กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารหนุ่มสาวในวงกว้าง 

แต่จนถึงขณะนี้ SAC ก็ยังอยู่ในอำนาจ นักวิเคราะห์ที่มองโลกในแง่ดีเกินไปคาดการณ์ว่า แนวโน้มที่รัฐบาลทหารจะล่มสลายทันทียังมีอยู่ แต่ก็น่าเชื่อถือน้อยลงทุกที 

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประมาณ 50 เมืองตกเป็นของ 3 กลุ่มพันธมิตรระหว่างกองทัพอาระกัน สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) รวมถึงกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์บัญชาการระดับภูมิภาคของกองทัพเมียนมายังล่มสลาย ทหารเมียนมาหลายรายหลบหนีเข้าไปในอินเดีย บังกลาเทศ และไทย 

แต่แม้ว่าพรมแดนจะพังทลายลง SAC ก็ยังคงเป็นศูนย์กลาง โดยอาศัยกองกำลังทางอากาศและยุทธศาสตร์เชิงลึกในการปกป้องการผลิตอาวุธ 

ดูเหมือนว่ารัฐบาลเมียนมายังมีฐานทัพที่แข็งแกร่งพอและมีเสถียรภาพอยู่...

ใจกลางเมืองต่างๆ ยังคงมีเสถียรภาพอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมืองหลวงเชิงพาณิชย์อย่างย่างกุ้ง, ย่านการผลิตอุตสาหกรรมทางทหารที่เมืองแปร เขตมาเกว, ไปจนถึงเมืองหลวงเนปีดอ, และเมืองมัณฑะเลย์ ตลอดจนพื้นที่ฐานทัพทหารหลักและฐานทัพอากาศอย่างเมืองเมะทีลา แม้การรักษาการเส้นทางการค้าทางทะเลจะไม่สามารถแทนที่เส้นทางบกที่หยุดชะงักระหว่างประเทศไทยและจีนได้ แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเชื้อเพลิงเครื่องบินและเสบียงทางการทหาร 

อุตสาหกรรมบริการด้านกลาโหม (Ka Pa Sa) ยังคงผลิตระเบิด กระสุน กระสุนปืนใหญ่ และวัตถุอันตรายอื่นๆ แม้ว่ากลุ่มต่อต้านจะยึดอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาลก็ตาม แต่เขตการผลิตและเครือข่ายการขนส่ง ประกอบกับระบบสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงฐานทัพหลายร้อยแห่งในภาคกลางของเมียนมา ถือเป็นแนวป้องกันที่น่าเกรงขาม ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังดูมีเสถียรภาพ และนั่นส่งผลให้กองทัพสามารถเพิ่มการโจมตีแบบทิ้งระเบิดได้ในหลายพื้นที่ 

‘Nyan Lynn Thit Analytica’ กลุ่มองค์กรไม่แสวงผลกำไรได้รวบรวมบทวิเคราะห์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศของ SAC นับตั้งแต่รัฐประหาร และการโจมตีที่เพิ่มขึ้นหลังปฏิบัติการ 1,027 ทั้งนี้พบว่า 

  • ในปี 2021 มีบันทึกการโจมตี 85 ครั้ง 
  • ปี 2022 มีบันทึกการโจมตี 339 ครั้ง 
  • ปี 2023 มีการโจมตีทางอากาศ 1,228 ครั้ง ในระยะเวลา 122 วันระหว่างเดือนกันยายนถึงสิ้นเดือนธันวาคม ซึ่ง SAC ทำการโจมตีทางอากาศ 750 ครั้งโดยเฉลี่ย 6 ครั้งต่อวัน 
  • ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีพลเรือนเสียชีวิต 63 รายและบาดเจ็บ 42 รายในปี 2021  
  • เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 260 รายและบาดเจ็บ 85 รายในปี 2022  
  • และเพิ่มขึ้นจากปี 2023 เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 613 รายและบาดเจ็บ 751 ราย 

จังหวะการโจมตีของทางกองทัพเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีความแม่นยำด้วย ในบางกรณี มีการกล่าวหาว่ากองทัพใช้อาวุธเทอร์โมบาริก หรือระเบิดสุญญากาศ (thermobaric weapons) ซึ่งมีพลังทำลายล้างที่มากกว่า 

นอกจากนี้ การสังหารชาวมุสลิมโรฮีนจามากกว่า 20 คนเมื่อเร็วๆ นี้ในเมืองมินเบีย รัฐยะไข่ และการเผาเมืองในเมืองสีเส็ง ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ยังตอกย้ำถึงความสามารถในการทำลายล้างอำนาจการยิงของ SAC ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการใช้ปืนใหญ่อย่างกว้างขวางและการใช้โดรนติดอาวุธที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ยังมีการโจมตีทางอากาศหลายครั้งใน 4 รัฐทั่วเมียนมา ตามรายงานของรัฐกะยาระบุว่า พลเรือนถูกระเบิด 32 ครั้งในเวลา 2 ชั่วโมง 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (องค์การนิรโทษกรรมสากล) รายงานเมื่อปลายเดือนมกราคมว่า “การขายเชื้อเพลิงเครื่องบินจำนวนมากให้กับกองทัพเมียนมาในปี 2023 ได้รับการอำนวยความสะดวกผ่านสถานที่จัดเก็บในเวียดนามจากเรือบรรทุกน้ำมันติดธงของจีนและไลบีเรีย แต่ไม่สามารถระบุความเป็นเจ้าของได้ 

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2024 ออสเตรเลียได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรบริษัทเมียนมา 3 แห่งที่จัดหาเชื้อเพลิงการบินให้กับกองทัพ ส่วนการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ โดยเฉพาะที่มุ่งเป้าไปที่การจัดหาอาวุธต่างประเทศของเมียนมานั้นเกิดขึ้นเป็นประจำนับตั้งแต่รัฐประหาร ซึ่งคว่ำบาตรโดยเฉพาะต่อการจัดหาเชื้อเพลิงเครื่องบินในเดือนมีนาคมและสิงหาคม 2023  

Photo by AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์