เปิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ทำไมสหรัฐฯ หนุนหลังอิสราเอลสุดแรง

12 พ.ย. 2566 - 07:00

  • สหรัฐฯ ย้ำว่าจะสนับสนุนอิสราเอลเต็มที่ทั้งในด้านการทูต การเงิน และการทหาร 

  • นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ส่งความช่วยเหลือไปให้อิสราเอลมากกว่าที่สหรัฐฯ เคยช่วยประเทศไหนๆ

how-the-us-became-israel-closest-ally-SPACEBAR-Hero.jpg

แม้จะมีความแตกต่างทางการเมืองที่หลายครั้งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐฯ ตึงเครียดขึ้น แต่สงครามที่ปะทุขึ้นในกาซาเป็นสิ่งยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอลยังเหนียวแน่นเหมือนเดิม 

เมื่อเร็วๆ นี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ย้ำว่าจะสนับสนุนอิสราเอลเต็มที่ทั้งในด้านการทูต การเงิน และการทหาร

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ก่อนหน้านี้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฝ่ายขวาของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ประกาศชัดเจนว่า

“เรายืนเคียงข้างอิสราเอล...และยืนยันว่าอิสราเอลจะได้ในสิ่งที่จำเป็นสำหรับการปกป้องพลเมืองของตัวเอง ป้องกันตัวเอง และตอบโต้การโจมตี”

เช่นเดียวกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่บอกขณะยืนเคียงข้างเนทันยาฮูว่า

“คุณอาจแข็งแกร่งพอจะปกป้องตัวเองได้ แต่ตราบใดที่อเมริกายังอยู่ คุณจะไม่ต้องทำอย่างนั้น เราจะอยู่เคียงข้างคุณเสมอ”

ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็ย้ำให้อิสราเอลใช้มาตรการป้องกันทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับอันตรายด้วย แต่ดูเหมือนว่าจนถึงตอนนี้อิสราเอลจะไม่ฟัง  

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ส่งความช่วยเหลือไปให้อิสราเอลรวมกว่า 158,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่ได้ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ) มากกว่าที่สหรัฐฯ เคยช่วยประเทศไหนๆ และความช่วยเหลือทางทหารอันยาวนานของสหรัฐฯ ช่วยให้อิสราเอลมีความแข็งแกร่งทางการทหาร จนอิสราเอลมีขีดความสามารถในการผลิตอุปกรณ์ทางทหารต่างๆ ถึงอย่างนั้นสหรัฐฯ ยังคงให้ความช่วยเหลือต่อไปเพื่อแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนอย่างแน่วแน่ต่ออิสราเอล แม้ในช่วงเวลาที่นานาชาติไม่เห็นด้วยกับการที่อิสราเอลปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ก็ตาม

สหรัฐฯ สนับสนุนการก่อตั้งรัฐยิวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในช่วงแรกๆ ของการก่อตั้ง ความสัมพันธ์ก็ไม่ได้โดดเด่นเป็นพิเศษ จนกระทั่งช่วงสงคราม 6 วันในปี 1967 ความสัมพันธ์จึงเริ่มเบ่งบาน 

สงครามครั้งนั้นอิสราเอลมีชัยชนะเหนือพันธมิตรรัฐอาหรับโดยสูญเสียเพียงเล็กน้อยแม้จะไม่มีการช่วยเหลือจากภายนอก และยังสามารถยึดดินแดนใหม่ รวมทั้งฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์มาได้ ตอนนั้นสหรัฐฯ กังวลเรื่องอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในตะวันออกกลาง และเกรงว่าความขัดแย้งจะขยายไปสู่สงครามตัวแทนสงครามเย็นหากความขัดแย้งบานปลาย แต่อิสราเอลก็จบความขัดแย้งนี้ได้เร็ว ซ้ำยังทำให้ตัวเองดูเป็นพันธมิตรที่โดดเด่นในสายตาสหรัฐฯ เพราะตอนนั้นสหรัฐฯ ติดพันอยู่กับสงครามเวียดนาม ไม่มีช่องให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทหารในตะวันออกกลาง 

โจเอล เบนิน ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเผยกับ Vox ว่า “สิ่งสำคัญเกี่ยวกับสงครามปี 67 คือ อิสราเอลโค่นอาหรับใน 6 วันโดยไม่มีความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ เลย สิ่งที่สหรัฐฯ เห็นคือ ‘คนพวกนี้เก่งแฮะ เรากำลังยุ่งอยู่กับเวียดนาม งั้นรู้จักพวกเขาไว้ดีกว่า’ หลังจากนั้นก็พัฒนาความสัมพันธ์มาเรื่อยๆ” 

ช่วงแรกสหรัฐฯ เป็นผู้ให้เสียส่วนใหญ่ แต่ก็ยังขายอาวุธให้อิสราเอลด้วย ทั้งยังปล่อยเงินกู้ให้อิสราเอลในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าท้องตลาดเพื่อสนับสนุนการพัฒนาต่างๆ ช่วงศตวรรษ 1980 และ 1990 สหรัฐฯ และอิสราเอลเริ่มร่วมมือกันด้านการวิจัยและพัฒนาและการผลิตอาวุธ กระทั่งในปี 1999 สหรัฐฯ ลงนามในบันทึกข้อตกลง 10 ปีฉบับแรกที่สหรัฐฯ รับปากจะให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่อิสราเอลปีละหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ  

ปี 2011 อิสราเอลประสบความสำเร็จในการพัฒนาโดมเหล็ก (Iron Dome) ระบบต่อต้านขีปนาวุธพิสัยใกล้ที่ใช้เทคโนโลยีเรดาร์ทำลายจรวดยิงกลุ่มติดอาวุธอามาสและกลุ่มอื่นๆ ยิงใส่อิสราเอล โดย Iron Dome นี้ใช้ชิ้นส่วนของสหรัฐฯ และได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ  

ปัจจุบันอิสราเอลได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ ภายใต้บันทึกข้อตกลงที่ลงนามเมื่อปี 2019 ปีละ 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 16% ของงบกลาโหมทั้งหมดในปี 2022 ของอิสราเอล 

ไมเคิล แฮนนา ประธาน International Crisis Group เผยว่า “ความสัมพันธ์นี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความเชี่ยวชาญของกองทัพอิสราเอล ความสัมพันธ์ของอิสราเอล (กับสหรัฐฯ) มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในภูมิภาคนี้ และนั่นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในรักษาความได้เปรียบทางการทหารเชิงคุณภาพของอิสราเอล ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรับประกันว่าอิสราเอลยังคงมีความเหนือกว่าทางการทหารเหนือกองทัพอื่นๆ ในภูมิภาค” 

ทำไมสหรัฐฯ เชื่อว่าการสนับสนุนอิสราเอลเป็นผลดี 

สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอิสราเอลมายาวนาน สหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนการก่อตั้งรัฐยิวนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 คือคู่ค้าที่สำคัญของอิสราเอล โดยมีมูลค่าการค้าทวิภาคีในสินค้าและบริการเกือบ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

นอกเหนือจากนั้น เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังเชื่อมาอย่างยาวนานว่าความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับอิสราเอลมีคุณค่าทางยุทธศาสตร์ในฐานะกองกำลังรักษาเสถียรภาพในตะวันออกกลาง ป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายที่จะเป็นภัยคุกคามต่อการเข้าถึงแหล่งน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาอยู่ 

เริ่มแรกอิสราเอลทำหน้าที่เป็นกองกำลังตอบโต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต แต่แนวคิดนี้ยังคงอยู่แม้สงครามเย็นจะจบลงแล้วก็ตาม และยิ่งแพร่หลายมากขึ้นหลังเหตุโศกนาฏกรรม 9/11 หลังพบว่าคนร้ายบางส่วนเป็นพลเมืองซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ อีกประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง เมื่อไม่มั่นใจว่าจะยังพึ่งพาซาอุฯ ต่อได้หรือไม่ สหรัฐฯ จึงหันไปพึ่งพิงอิสราเอลมากกว่าโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่าอิสราเอลกับสหรัฐฯ มีค่านิยมร่วมและผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่า  

ช่วงหลังๆ มานี้อิสราเอลเป็นเสาหลักของเป้าหมายของสหรัฐฯ ในการสร้างตะวันออกกลางที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม มั่งคั่ง และปลอดภัย ในขณะที่สหรัฐฯ หันไปให้ความสำคัญกับส่วนอื่นๆ ของโลก รวมทั้งรัสเซียและจีน รัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามข้อตกลงหลายฉบับเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและประเทศมุสลิมเพื่อนบ้านของอิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และโมรอกโก 

มีการคาดเดาว่าการโจมตีของฮามาสมีเป้าหมายเพื่อสกัดการเจรจาฟื้นสัมพันธ์ที่รัฐบาลไบเดนเป็นตัวกลางเพื่อให้อิสราเอลกับซาอุฯ กระชับสัมพันธ์กัน เพื่อที่ทั้งสองประเทศนี้จะได้สร้างแนวร่วมต่อต้านอิหร่านซึ่งเป็นศัตรูร่วมที่สนับสนุนด้านการเงินให้กลุ่มฮามาส

ที่ผ่านมาคนอเมริกันสนับสนุนอิสราเอลในระดับสูง แม้ว่าจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแล้วก็ตาม

การสนับสนุนอิสราเอลยังได้รับความนิยมทางการเมืองอย่างไม่น่าเชื่อในสหรัฐฯ เนื่องจากมีแรงหนุนจากกลุ่มล็อบบี้ยิสต์หนุนอิสราเอลในวอชิงตัน อย่างไรก็ดีเสียงสนับสนุนจากคนอเมริกันลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต ที่สนับสนุนปาเลสไตน์มากกว่าอิสราเอลเป็นครั้งแรกในการสำรวจความคิดเห็นของ Gallup เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

บางคนแย้งว่าผลประโยชน์ที่สหรัฐฯ ได้จากความสัมพันธ์กับอิสราเอลเทียบไม่ได้กับสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องจ่าย สตีเวน วอลต์ ศาสตราจารย์ด้านกิจการต่างประเทศของ Harvard Kennedy School ระบุไว้ในเว็บไซต์ Foreign Policy ว่า อิสราเอลไม่ได้สนับสนุนสหรัฐฯ ในการทำสงคราม 2 ครั้งกับอิรัก ซ้ำยังต้องให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือจากการโจมตีของอิรักในสงครามอ่าวครั้งแรกด้วย นอกจากนั้นวอลต์ยังเขียนในบทความดังกล่าวก่อนเกิดสงครามในฉนวนกาซาว่า “การควบคุมอย่างโหดร้ายของอิสราเอลมานานหลายทศวรรษได้ทำลายกรณีทางศีลธรรมสำหรับการสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไขของสหรัฐฯ ” 

แต่ดูเหมือนว่าบรรดาผู้กำหนดนโยบายในสหรัฐฯ จะยอมรับว่ามันเป็นเพียงราคาของการรักษาความสัมพันธ์พิเศษนี้ไว้ ซึ่งไม่ใช่เพียงในแง่ของการทหารและการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นแง่ของส่วนตัวด้วย 

บทบาทของสหรัฐฯ ในการช่วยเหลือครั้งก่อนๆ

ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถเรื่องอาวุธของอิสราเอล และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนก็มีเอกสารยืนยันถึงเหตุการณ์ที่อาวุธเหล่านั้นถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมสงครามและการโจมตีอย่างผิดกฎหมายในกาซา ไม่เว้นแม้ในช่วงก่อนสงครามที่กำลังดำเนินอยู่นี้ 

โอมาร์ ชากีร์ ผู้อำนวยการ Human Rights Watch ในอิสราเอลและปาเลสไตน์เผยกับ Vox ว่า “แม้ว่าตอนนี้อิสราเอลจะมีอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์ของตัวเอง ความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ก็ยังมีบทบาทสำคัญอย่างเห็นได้ชัด และเราก็มักจะเห็นสหรัฐฯ ทำมากกว่าการให้ความช่วยเหลือทางการทหารและขยับการให้ความช่วยเหลือขึ้นเมื่อเกิดการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ขึ้น” 

และสิ่งนั้นก็กำลังเกิดขึ้นอีกครั้งในสงครามกาซา และสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ก็เพิ่งไฟเขียวอนุมัติความช่วยเหลือทางการทหารแก่อิสราเอลมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

การแสดงความสนัสนุนจากสหรัฐฯ อาจขัดขวางตัวละครอื่นในภูมิภาคที่อาจกระพือความขัดแย้ง อาทิ อิหร่าน และกลุ่มติดอาวุธฮิซบุลลอห์ในเลบานอน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจโหมอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านสหรัฐฯ ขึ้นในตะวันออกกลาง เพราะบรรดาเพื่อนบ้านของอิสราเอลได้เห็นเห็นความตายและการทำลายล้างที่เกิดขึ้นโดยกองกำลังอิสราเอลในฉนวนกาซา 

“ความแน่นแฟ้นและความกว้างของความสัมพันธ์นี้…ทำให้สหรัฐฯ ตกเป็นเป้าเมื่อต้องเผชิญกับการกระทำเกินควรของอิสราเอล” แฮนนา จาก International Crisis Group กล่าว “เป็นเรื่องยากสำหรับสหรัฐฯ ที่จะตีตัวออกห่างจากปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลไม่ว่าในทางใดก็ตาม” 

Photo by Brendan SMIALOWSKI / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์