ครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 21 ช่วงปี 2007-2009 ทั่วโลกเคยเผชิญกับ ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่’ (The Great Recession) ซึ่งถือว่ายาวนานที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกมองว่าเป็น ‘วิกฤตการณ์การเงินครั้งเลวร้ายที่สุด’ นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930
จนกระทั่งมันกลับมาอีกครั้งในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 เป็นเหตุให้หลายประเทศต้องปิดพรหมแดน กระทบวงการธุรกิจเป็นวงกว้างต้องปิดตัวลงไปตามๆ กัน ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี หลังจากฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ราวๆ 3 ปี ก็ดูเหมือนจะเกิดคำถามตามมาอีกว่า ‘เรากำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งหรือไม่?’ ท่ามกลางมาตรการภาษีสุดเข้มงวดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่สะเทือนไปทั่วโลก
ภาษีศุลกากรของทรัมป์จะนำโลกไปสู่ ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’ อีกครั้งได้อย่างไร?

นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า “สงครามการค้าของทรัมป์น่าจะส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันมากกว่าประเทศอื่นๆ”
การเก็บภาษีนำเข้าทั้งหมดจะทำให้ธุรกิจในสหรัฐฯ ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคในสหรัฐฯ สูงขึ้น และอาจส่งผลให้สหรัฐฯ เข้าสู่ ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’ อย่างต่อเนื่อง
“เป็นเรื่องยากสำหรับสหรัฐฯ ที่จะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากภาษีศุลกากรยังคงอยู่ในระดับที่ประกาศไว้” คลอเดีย ซาห์ม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทจัดการการลงทุน ‘New Century Advisors’ บอกกับนิตยสาร TIME
“ผู้ที่สูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดจากเรื่องนี้คือ สหรัฐฯ อย่างแน่นอน” หยวน เหมย ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ กล่าว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผลกระทบตามมามากมายที่จะแผ่ขยายไปทั่วโลก
เคยมีคำกล่าวที่ว่า
“เมื่ออเมริกาจาม ทั่วโลกก็จะเป็นหวัด” คำสั้นๆ ที่อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ว่าจะส่งผลสะเทือนต่อประเทศอื่นๆ อย่างไร
ทว่าคำกล่าวนี้ยังไม่เพียงพอที่จะถ่ายทอดถึงผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์กับมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรครั้งใหม่จำนวนมหาศาลจากพันธมิตรทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งตอนนี้ทุกประเทศ (ยกเว้นจีน) กำลังอยู่ในสถานะที่ทรัมป์ ‘ระงับเก็บภาษีใหม่’ เป็นเวลา 90 วัน
พอล โดโนแวน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ ‘UBS Global Wealth Management’ ธนาคารเพื่อการลงทุนของสวิสบอกกับสำนักข่าว CNN ว่า “สหรัฐฯ ไม่ได้จาม แต่กำลังตัดแขนขาข้างหนึ่งของตัวเองออก”
โดโนแวนตั้งข้อสังเกตว่า “ในช่วงต้นปี เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่ใน ‘สถานะที่ดีมาก’ แต่ตอนนี้ หากภาษีศุลกากรยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ อาจนำไปสู่ ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’ และเศรษฐกิจทั่วโลกก็น่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบตามไปด้วย”
ขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า “อเมริกากำลังทำร้ายตัวเองมากพอๆ กับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำเพราะมาตรการภาษีล่าสุด”
เศรษฐกิจอเมริกากำลังถดถอย?
บริษัทให้บริการทางการเงิน ‘JPMorgan’ ระบุว่า “หากทรัมป์ยังคงใช้มาตรการภาษีนี้ต่อไป ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งสหรัฐฯ และโลกในปีนี้ก็คือ ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’” ภาษีศุลกากรดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาสินค้าในอเมริกาพุ่งสูงขึ้นด้วย โดยดัชนีราคาผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2% ในปี 2025
ดัชนีเงินเฟ้อหลักของสหรัฐฯ ยังไม่สามารถลดลงสู่ระดับปกติได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า เงินเฟ้อสูงขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นักวิเคราะห์ของ JPMorgan กล่าวว่า “การขึ้นภาษีศุลกากรรวมในปีนี้ควรถูกมองว่าเป็นการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ราว 660,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 22 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือเป็นการขึ้นภาษีที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี และจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเงินเฟ้อ...ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาษีศุลกากรของทรัมป์จะเลวร้ายขึ้น หากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ”
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงมักมาพร้อมกับการเลิกจ้างคนงานจำนวนมาก การล้มละลาย และการยึดทรัพย์สิน ซึ่งสวนทางกับเป้าหมายที่ทรัมป์ประกาศไว้ว่า “จะทำให้อเมริกากลับมามั่งคั่งอีกครั้ง” ด้วยแผนภาษีของเขา
อย่างไรก็ดี ทรัมป์อาจยังคงระงับ หรือลดภาษีศุลกากรที่ประกาศไปเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนเหมือนที่เคยทำในช่วงที่ผ่านมา แต่การเก็บภาษีครั้งใหม่นี้ยังคงมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว
แล้วเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ล่ะ...
‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’ หรือการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ จะทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีกำลังซื้อน้อยลง ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ หากธุรกิจนอกสหรัฐฯ พบว่าความต้องการสินค้าของตัวเองลดลง พวกเขาอาจต้องระมัดระวังมากขึ้นว่าพวกเขาจะลงทุนต่อไป หรือจะจ้างพนักงานต่อไปหรือไม่
นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารดอยซ์แบงก์คาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจะเพิ่มขึ้นในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าจากผลกระทบของภาษีศุลกากรของทรัมป์
ภาษีนำเข้ารอบใหม่ยังอาจทำให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศในอเมริกาลดลงด้วย เนื่องจากสินค้ามีราคาแพงกว่าสินค้าที่ผลิตในอเมริกา ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทรัมป์ต้องการอย่างแน่นอน ทรัมป์เคยกล่าวว่า นโยบายภาษีของเขาถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มความต้องการสินค้าที่ผลิตในอเมริกาและกระตุ้นภาคการผลิตของประเทศ
เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน หัวหน้าฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป เผยว่า “สำหรับผู้ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นคือ ความไม่แน่นอน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และระบบที่ยุ่งยากซับซ้อน...ธุรกิจทั้งหมด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะต้องประสบปัญหาตั้งแต่วันแรก...ต้นทุนในการทำธุรกิจกับสหรัฐฯ ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก”
ส่วนประเทศต่างๆ เช่น เวียดนามซึ่งถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 46%, กัมพูชา 49%, และบังกลาเทศ 37% จะได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญและส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก
การสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใด อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ผู้ซื้อจากสหรัฐฯ เริ่มหยุดคำสั่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มจากบังกลาเทศแล้ว ซึ่งส่งออกสินค้ามูลค่า 7.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.4 ล้านล้านบาท) ไปยังสหรัฐฯ เมื่อปีที่ผ่านมา และเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกอันดับหนึ่งที่ต้องจ้างคนงานประมาณ 4 ล้านคน
ส่วนเวียดนามซึ่งผลิตรองเท้าให้ไนกี้ (Nike) ถึง 50% และอาดิดาส (Adidas) 39% ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน โดยธนาคารโอเวอร์ชีส์-ไชนีสแบงกิ้ง คอร์ปอร์เรชั่น (OCBC) ประเมินว่า เวียดนามอาจสูญเสียการส่งออกสินค้ามากถึง 40% เนื่องมาจากภาษีศุลกากรที่สูงเช่นนี้ ซึ่งอาจทำให้บริษัทบางแห่งย้ายฐานการผลิตออกจากเวียดนาม หรือทำให้บริษัทอื่นๆ ลงทุนในประเทศลดลง
อย่างไรก็ดี บริษัทที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ‘Oxford Economics’ คาดว่าเศรษฐกิจโลกยังคงหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในปีนี้ แต่การเติบโตจะต่ำกว่า 2% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโต ‘ที่ต่ำที่สุด’ นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลก (ไม่นับช่วงโควิด-19)
ความท้าทายระดับโลกยังมีมากกว่าแค่การจัดการกับภาษีศุลกากร การฟื้นคืนการค้าจะไม่ใช่เรื่องง่ายหากไม่มีการประสานนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการเงินระหว่างทวีปต่างๆ เข้าด้วยกัน อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะสูงขึ้น แม้จะคำนึงถึงผลกระทบจากภาวะเงินฝืดของสินค้าส่งออกราคาถูกของเอเชียแล้วก็ตาม แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ ‘ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการลงทุนทางธุรกิจที่ลดลง’
สถานการณ์นี้อาจจำเป็นต้องมีการลดอัตราดอกเบี้ยพร้อมกันในหลายประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ อาจเข้าร่วมด้วย พร้อมกับการใช้มาตรการทางการคลังที่เข้มงวดในประเทศที่ยังมีพื้นที่ทางการคลังให้ขยายตัวได้