สหรัฐฯ​ ซุ่มสร้างคลังแสงในออสเตรเลียเตรียมรับมือจีนบุกไต้หวัน

2 กุมภาพันธ์ 2567 - 04:36

how-us-preparing-for-chinese-invasion-taiwan-SPACEBAR-Hero.jpg
  • กองทหารสหรัฐฯ​และออสเตรเลียฝึกซ้อมการยกพลขึ้นบก การรบภาคพื้นดิน และการปฏิบัติการทางอากาศ เพื่อตอบโต้ความทะเยอทะยานทางทหารที่เพิ่มขึ้นของจีน

  • ขณะที่ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ได้สั่งให้กองทัพเตรียมพร้อมยึดไต้หวันภายในปี 2027

  • นักวิเคราะห์หลายคนมองว่านั่นเป็นความพยายามที่จะกระตุ้นกองทัพของเขามากกว่ากำหนดเวลาสำหรับการรุกรานน

เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว กองทัพสหรัฐฯ​และออสเตรเลียฝึกซ้อมการยกพลขึ้นบก การรบภาคพื้นดิน และการปฏิบัติการทางอากาศ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นหัวข้อข่าวเกี่ยวกับความเป็นพันธมิตรที่ร่วมมือกันด้านกลาโหมเพื่อตอบโต้ความทะเยอทะยานทางทหารที่เพิ่มขึ้นของจีน  

สหรัฐฯ​ และพันธมิตรมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน อาจสั่งให้กองทัพของเขาเข้ายึด ‘ไต้หวัน’ ซึ่งมีข้อพิพาทกับจีน ดังนั้นกองทัพสหรัฐฯ จึงพิจารณาอย่างหนักถึงความพร้อมทางทหารของตัวเองและพยายามไล่ตามให้ทันจีนในเรื่องสำคัญอย่างเครือข่ายโลจิสติกส์  

แต่สำหรับนักวางแผนสงครามของสหรัฐฯ ที่เตรียมรับมือกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นเหนือไต้หวัน การฝึกซ้อม ‘Talisman Saber’ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังนี้ มีอะไรมากกว่านั้น เพราะการซ้อมรบนี้ช่วยสร้างคลังแสงยุทโธปกรณ์ทางทหารแห่งใหม่ทิ้งไว้ในออสเตรเลีย หลังจากสิ้นสุดการฝึกซ้อมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อาทิ ยานพาหนะ และรถพ่วงประมาณ 330 คัน ตู้คอนเทนเนอร์ 130 ตู้ในโกดัง ขณะที่จำนวนยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐฯ​ ไม่ได้รับรองก่อนหน้านี้มากพอที่จะจัดหาให้กับบริษัทโลจิสติกส์ประมาณ 3 แห่ง โดยมีทหารมากถึง 500 นายขึ้นไป เพื่อให้แน่ใจว่าเสบียงส่งไปถึงมือกองกำลัง 

อาวุธเหล่านี้เป็นยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการฝึกซ้อมในอนาคต ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือในสงคราม 

“เรากำลังพยายามทำเช่นนี้ให้มากขึ้นเรื่อยๆ มีอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ที่เรามีข้อตกลงในการทำเช่นนั้นอยู่แล้ว” ชาร์ลส ฟลินน์ ผู้บัญชาการกองทัพบกระดับสูงในมหาสมุทรแปซิฟิกกล่าวในการให้สัมภาษณ์โดยไม่ได้ระบุชื่อประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ 

การสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบันมากกว่า 20 ราย โดย Reuters พบว่าการขนส่งทางทหารของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นหนึ่งในช่องโหว่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นเหนือไต้หวัน 

เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญทั้งในปัจจุบันและอดีตระบุว่า เกมจำลองสงครามของสหรัฐฯ สรุปว่าจีนมีแนวโน้มที่จะพยายามทิ้งระเบิดเสบียงเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นหรือเติมเชื้อเพลิงเรือ ทำลายอำนาจทางอากาศและทางทะเลของสหรัฐฯ โดยไม่ต้องสู้รบกับเครื่องบินรบติดอาวุธหนัก หรือเรือรบผิวน้ำของสหรัฐฯ เพื่อเป็นการตอบสนอง สหรัฐฯ กำลังพยายามขยายศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางการทหารของตัวเองไปทั่วภูมิภาค รวมถึงโกดังคลังแสงในออสเตรเลีย 

สหรัฐฯ กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมกำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อทำให้กองกำลังสหรัฐฯ เคลื่อนที่และกระจายกำลังมากขึ้น 

สถานทูตจีนในสหรัฐฯ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวนี้โดยตรง แต่โฆษกกล่าวว่า สหรัฐฯ ควรหยุดเสริมสร้างการติดต่อทางทหารกับภูมิภาคไต้หวันและหยุดสร้างปัจจัยที่อาจทำให้ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันเพิ่มสูงขึ้น 

ด้านนักวิจารณ์กล่าวว่า เครือข่ายของสหรัฐฯ ยังคงมีการกระจุกตัวมากเกินไป และรัฐบาลไม่ได้ทุ่มเงินหรือความเร่งด่วนเพียงพอสำหรับความพยายามนี้ 

ความเสี่ยงสำหรับสหรัฐฯ 

สหรัฐฯ ไม่ได้กล่าวอย่างเป็นทางการว่าจะเข้าแทรกแซงหากจีนโจมตีไต้หวัน แต่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ แนะนำหลายครั้งว่าเขาจะจัดกำลังทหารสหรัฐฯ เพื่อปกป้องเกาะแห่งนี้ ขณะที่สีได้สั่งให้กองทัพเตรียมพร้อมยึดไต้หวันภายในปี 2027 แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่านั่นเป็นความพยายามที่จะกระตุ้นกองทัพของเขามากกว่ากำหนดเวลาสำหรับการรุกราน 

เจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทัพสหรัฐฯ ที่ไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวว่า การจัดหากระสุนอยู่ในอันดับต้นๆ ของลำดับความสำคัญในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ตามมาด้วยเชื้อเพลิง อาหาร และชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับอุปกรณ์ “ถ้าเราไม่มีของให้ยิง … นั่นก็จะเป็นปัญหาเฉพาะหน้า” เจ้าหน้าที่กล่าว พร้อมเสริมว่า การวางแผนรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินในไต้หวันกำลังดำเนินไปด้วยดีอยู่แล้ว 

ในเกมจำลองสงครามที่จัดขึ้นสำหรับสภาคองเกรสในเดือนเมษายน จีนเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกต่อไต้หวันด้วยการโจมตีทางอากาศและขีปนาวุธครั้งใหญ่ต่อฐานทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาค นั่นรวมถึงฐานทัพเรือสหรัฐฯ บนเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่น และฐานทัพอากาศโยโกตะทางตะวันตกของโตเกียว 

เบกกา วาสเซอร์ จากศูนย์คลังสมองแห่งศูนย์ความมั่นคงอเมริกันใหม่ (CNAS) ซึ่งดำเนินเกมสงครามกล่าวว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีศูนย์กลางโลจิสติกส์ของสหรัฐฯ เรือเติมน้ำมัน และเรือบรรทุกน้ำมันกลางอากาศ ถือเป็นสัญญาณเตือนสำหรับสมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคน ‘จีนจงใจไล่ตามด้านลอจิสติกส์บางส่วน เพื่อทำให้สหรัฐฯ ดำเนินกิจการต่อไปในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้ยาก’ 

เพื่อแก้ไขช่องโหว่ดังกล่าว กองทัพสหรัฐฯ กำลังมองหาสถานที่ต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย ให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยมากขึ้นในการสะสมยุทโธปกรณ์ แม้ว่าจะขยายความร่วมมือกับฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และพันธมิตรอื่นๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกก็ตาม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์