นายกฯ ฮุนมาเนต ของกัมพูชาออกคำเตือนอย่างชัดเจนต่อการใช้ข้อพิพาทชายแดนระหว่างกัมพูชาและไทยเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยอ้างถึงความขัดแย้งในอดีตที่นำไปสู่การปะทะด้วยอาวุธและความทุกข์ทรมานของผู้คนจำนวนมากเป็นเวลาหลายปี
ในโพสต์บนโซเชียลมีเดียเมื่อวันอาทิตย์ (2 มี.ค.) ฮุนมาเนตได้เล่าถึงเหตุการณ์ตึงเครียดทางทหารระหว่างสองประเทศเมื่อปี 2008–2011 ซึ่งเกิดจากวาทกรรมชาตินิยมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองเกี่ยวกับดินแดนพิพาทใกล้ปราสาทพระวิหาร นอกจากนี้ ฮุนมาเนตยังแชร์ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2011 ซึ่งถ่ายในระหว่างการเจรจาหยุดยิงที่ด่านชายแดนโชอัม-ซังกัมในจังหวัดอุดรมีชัย ซึ่งเขาเป็นผู้นำคณะผู้แทนกัมพูชาในตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชา
“ภาพเหล่านี้แสดงถึงการเจรจาระหว่างฝ่ายกัมพูชา นำโดยตัวผมเอง…และฝ่ายทหารไทย นำโดย พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก...การเจรจาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อบรรลุข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกองทัพกัมพูชาและไทย หลังจากการปะทะกันที่เกิดขึ้นในปี 2008 ใกล้กับปราสาทพระวิหาร และต่อมาลุกลามไปยังพื้นที่ปราสาทตาเมือนธมและปราสาทตากกระบีในปี 2011” ฮุนมาเนต โพสต์ พร้อมเน้นย้ำว่าความขัดแย้งด้วยอาวุธไม่ได้เกิดจากการยุยงของรัฐบาล หรือกองทัพของทั้งสองประเทศ แต่เกิดจากกลุ่มหัวรุนแรงทางการเมืองมากกว่า
“ควรระลึกไว้ว่าการปะทะกันด้วยอาวุธในเวลานั้นไม่ได้เริ่มต้นโดยกองทหารหรือรัฐบาลของทั้งสองประเทศ แต่ถูกจุดชนวนโดยนักการเมืองชาตินิยมสุดโต่งชาวไทยไม่กี่คนที่แอบอ้างความรักชาติ บุกรุกและยึดครองเจดีย์แก้วสิกขาคีรีศวร ซึ่งอยู่ภายในเขตอธิปไตยของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2008” ฮุนมาเนต โพสต์
เขาเน้นย้ำถึงผลกระทบอันเลวร้ายของความขัดแย้งซึ่งส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายสูญเสียชีวิต พลเรือนหลายพันคนต้องอพยพ และความสัมพันธ์ทวิภาคีได้รับความเสียหายในระยะยาว ฮุนมาเนตเรียกร้องให้ชาวกัมพูชาและไทยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ และต่อต้านการตกสู่วังวนของความรุนแรง
ฮุนมาเนต โพสต์ต่อไปว่า “ประสบการณ์ในทศวรรษที่ผ่านมาถือเป็นคำเตือนสำหรับประชาชนทั้งสองประเทศให้ใช้ความระมัดระวังในการกระทำ และคิดให้รอบคอบเพื่อป้องกันกิจกรรมสุดโต่งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงเหมือนเหตุการณ์ในปี 2008-2011”
“ทั้งชาวกัมพูชาและชาวไทยต่างก็มีสิทธิที่จะรักประเทศและผืนแผ่นดินของตัวเอง ทั้งสองประเทศไม่สามารถแยกจากกันได้ และปัญหาชายแดนที่เหลือก็เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ดำรงมายาวนาน เราต้องทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศและทางเทคนิค ผ่านกลไกอย่างเป็นทางการที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน เพื่อป้องกันความรุนแรงที่ไม่จำเป็นเช่นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2008-2011”
ฮุนมาเนต สะท้อนประสบการณ์ของตัวเองโดยเปรียบเทียบการปะทะกันในช่วงปี 2008–2011 กับสงครามในอดีต โดยเน้นย้ำถึงความทุกข์ยากที่ทหารและพลเรือนต้องเผชิญ “ผมไม่ได้เกิดในช่วงสงครามช่วงทศวรรษ 1970 และผมยังเด็กในช่วงสงครามกลางเมืองช่วงทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าความขัดแย้งในช่วงปี 2008–2011 นั้นไม่ต่างจากสงครามในอดีตเลย ไม่มีประโยชน์อะไรจากสงครามและการสู้รบ”
นอกจากนี้ ฮุนมาเนตยังวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองชาตินิยมที่ยุยงให้เกิดการปะทะ แต่ยังคงอยู่ห่างจากแนวหน้า “ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ทหารของทั้งสองประเทศและครอบครัวของพวกเขาที่สูญเสียคนที่รัก รวมถึงพลเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง...ในขณะเดียวกัน กลุ่มชาตินิยมสุดโต่งที่เป็นต้นเหตุความขัดแย้งจนนำไปสู่การปะทะทางทหารก็ไม่เคยปรากฏตัวในสนามรบ พวกเขามักจะหนีไปยังสถานที่ปลอดภัยที่อยู่ห่างจากการสู้รบหลายร้อยกิโลเมตร”
ในโพสต์เมื่อวานนี้ (3 มี.ค.) ฮุนมาเนตย้ำว่า แม้ว่าการไม่หมกมุ่นอยู่กับอดีตจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ประวัติศาสตร์ก็เสนอบทเรียนอันสำคัญยิ่งสำหรับอนาคตเช่นกัน
“เป็นเรื่องจริงที่เราไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตลอดไปภายใต้เงาของอดีต อย่างไรก็ตาม บทเรียนประวัติศาสตร์สามารถมอบประสบการณ์อันมีค่าให้เราได้ไตร่ตรองและตัดสินใจว่าควรหรือไม่ควรทำอะไรในปัจจุบันและอนาคต เพื่อหลีกเลี่ยงผลลัพธ์เชิงลบที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ให้เกิดขึ้นอีก” ฮุนมาเนต โพสต์
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ พื้นที่พิพาทระหว่างกัมพูชาและไทยได้รับความสนใจจากประชาชน หลังเกิดเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างชาวกัมพูชาและชาวไทยที่ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดน
วิดีโอที่เผยแพร่ทางออนไลน์เผยให้เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อทหารไทยพยายามหยุดกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชา รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนกัมพูชาที่กำลังร้องเพลง ‘Den Dei Sovannaphum’ (ดินแดนแห่งทองคำ) หน้าปราสาท ทำให้เกิดการโต้เถียงกันจนนำไปสู่การขู่ใช้อาวุธอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ต่อมา รัฐบาลทั้งสองยืนยันว่าปัญหาได้คลี่คลายลงแล้ว โดยไม่มีเหตุการณ์สำคัญใดๆ เกิดขึ้นอีก และนักท่องเที่ยวยังคงเยี่ยมชมสถานที่ประวัติศาสตร์ตามปกติ
ขณะเดียวกัน พลเอกเหมา โซ๊ะพัน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพกัมพูชา (RCAF) และผู้บัญชาการกองทัพบกกัมพูชา (RCA) ก็นำคณะผู้แทนระดับสูงไปตรวจเยี่ยมหน่วยทหารที่ประจำการตามแนวชายแดนกัมพูชา-ไทย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ตามแถลงการณ์ของกองทัพระบุว่า การเยือนครั้งนี้รวมถึงการแวะเยี่ยมชมจุดผ่านแดนที่สำคัญ เช่น หลักเขตหมายเลข 1 และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตากกระบี
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)