แค่สูดฝุ่นแต่ได้ปอดเหมือนคนสูบบุหรี่! รู้ไหมว่าสูดฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพฯ = สูบบุหรี่กี่มวน?

24 ม.ค. 2568 - 09:29

  • เคยมีคำกล่าวว่า “อยู่เมืองใหญ่ อาจมีปอดเหมือนคนสูบบุหรี่ แม้ว่าจะไม่เคยแตะบุหรี่เลยก็ตาม”

  • แล้วรู้ไหมว่าสูดฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพฯ = สูบบุหรี่กี่มวน?

if-you-live-in-big-city-you-already-smoke-every-day-SPACEBAR-Hero.jpg

เคยมีคำกล่าวว่า

“หากคุณอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ คุณอาจมีปอดเหมือนคนสูบบุหรี่ แม้ว่าคุณจะไม่เคยแตะบุหรี่เลยก็ตาม”

นักวิทยาศาสตร์แห่ง ‘เบิร์กลีย์เอิร์ธ’ (Berkeley Earth) องค์กรวิจัยด้านภูมิอากาศ ได้วัดระดับมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ๆ และเปรียบเทียบกับผลกระทบจากการสูบบุหรี่แล้วพบว่า คุณภาพอากาศในบางเมือง เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่มากกว่า 3 ซองต่อวันเลยทีเดียว 

มลพิษทางอากาศถือเป็นภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดในโลกในปัจจุบันโดยเฉพาะมลพิษจากอนุภาคในอากาศที่มองไม่เห็นที่เรียกว่า ‘PM2.5’ อนุภาคเหล่านี้มีความอันตรายเป็นพิเศษ เนื่องจากมีขนาดเล็กมากจนสามารถแทรกซึมลึกเข้าไปในปอดและกระแสเลือด ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งปอด และโรคหอบหืดได้ 

จากผลงานวิจัยเรื่อง ‘Air Pollution and Cigarette Equivalence’ โดย ริชาร์ด เอ. มุลเลอร์ และ เอลิซาเบธ เอ. มุลเลอร์ นักวิทยาศาสตร์แห่งเบิร์กลีย์เอิร์ธ ระบุว่า “ระดับมลพิษทางอากาศ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (μg/m3) เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน”  

นั่นหมายความว่า การสูดอากาศในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีค่า PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานจึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่ต่างจาก ‘การสูบบุหรี่’ นั่นเอง 

แล้วสูดฝุ่นในกรุงเทพฯ เท่ากับสูบบุหรี่กี่มวน...

if-you-live-in-big-city-you-already-smoke-every-day.jpg
Photo: อินโฟกราฟฟิกโดย : สังกาส นารักษ์

เมืองไหนเจอมลพิษทางอากาศสูงที่สุด?

จากข้อมูลของ ‘IQAIR’ ดัชนีคุณภาพอากาศอัปเดตแบบเรียลไทม์ในวันนี้ (24 ม.ค. เวลา 11.00 น.) ระบุว่า : 

  • ธากา, บังกลาเทศ / 224 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร   
  • กัมปาลา, ยูกันดา / 199 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 
  • เดลี, อินเดีย / 199 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 
  • ลาฮอร์, ปากีสถาน / 190 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 
  • กาฐมาณฑุ, เนปาล / 188 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 
  • นครโฮจิมินห์, เวียดนาม / 174 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 
  • กรุงเทพฯ, ไทย / 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สำหรับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดที่เคยบันทึกไว้คือ ‘เมืองเสิ่นหยาง ประเทศจีน’ ในปี 2015 บันทึกค่ามลพิษได้ 1,400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 63 มวนต่อวันสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นั่น 

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 3 ล้านคนทุกปีจากการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร ประชากรโลก 9 ใน 10 อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน ซึ่ง WHO กำหนดปริมาณ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีไว้ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  

รายงานของเบิร์กลีย์เอิร์ธระบุว่า มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คนมากกว่าโรคเอดส์ โรคมาลาเรีย โรคเบาหวาน หรือวัณโรคในแต่ละปี และการวิจัยได้ข้อสรุปที่น่าตกตะลึงว่า “มลพิษทางอากาศอาจเป็นภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์