ยูเอ็นเตือน ‘วิกฤตน้ำโลก’ ซ้ำเติมปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยน

28 เมษายน 2566 - 04:08

imminent-risk-global-water-crisis-world-water-development-report-SPACEBAR-Thumbnail
  • ยูเอ็นระบุว่าการใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ต่อปีตลอด 40 ปีที่ผ่านมาจากการเติบโตของประชากรและรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป

  • ภายในปี 2050 ผู้คนในเมืองที่ขาดแคลนน้ำจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 930 ล้านคนในปี 2016 เป็น 2,400 ล้านคน

  • ทุกวันนี้การเข้าถึงน้ำกลายเป็นปัญหาใหญ่ ประชากร 2,000 ล้านคนไม่มีน้ำสะอาดดื่ม

การเปลี่ยนเเปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังสร้างผลกระทบไปทั่วโลกในตอนนี้ กำลังถูกซ้ำเติมจากวิกฤตการณ์การขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นทั่วโลกเพราะการบริโภคในปริมาณมากเกินไป 

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า การใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ต่อปีตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เพราะแรงหนุนจากการเติบโตของประชากรและรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป โดยภายในปี 2050 จำนวนผู้คนในเมืองที่ขาดแคลนน้ำจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 930 ล้านคนในปี 2016 เป็น 2.4 พันล้านคน และคาดว่าความต้องการน้ำในเมืองจะเพิ่มขึ้น 80% ภายในปี 2050 เเละหากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ จะเกิดวิกฤตการณ์ทั่วโลกอย่างแน่นอน 

ทุกวันนี้การเข้าถึงน้ำกลายเป็นปัญหาใหญ่ ประชากร 2,000 ล้านคนไม่มีน้ำดื่มสะอาด และ 3,600 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงสุขอนามัยที่มีการจัดการอย่างปลอดภัย โดยประมาณ 10% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความเครียดจากน้ำสูงหรือวิกฤตอยู่แล้ว 

นอกจากนี้ รายงานของยูเอ็นยังระบุว่า การเติบโตของเมืองและอุตสาหกรรมและการเกษตรกำลังเพิ่มปัญหาการขาดแคลนน้ำที่มีอยู่แล้วให้เลวร้ายยิ่งขึ้น โดยการเกษตรเพียงอย่างเดียวใช้น้ำมากถึง 70% ของโลก ซึ่งการขาดแคลนน้ำตามฤดูกาลจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เช่น ในแอฟริกากลาง เอเชียตะวันออก และบางส่วนของอเมริกาใต้ 

ขณะเดียวกัน การขาดแคลนน้ำจะเลวร้ายลงในตะวันออกกลางและภูมิภาคซาเฮลในแอฟริกา ส่วนภัยแล้งที่รุนแรงและยืดเยื้อซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงยังสร้างแรงกดดันต่อระบบนิเวศของพันธุ์พืชและสัตว์ 

ยูเอ็น ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตน้ำทั่วโลกเนื่องจากการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนของอังกฤษ รายงานว่า สระว่ายน้ำของเมืองที่อุดมสมบูรณ์ทำให้เกิดวิกฤตการณ์น้ำ พอๆ กับภาวะฉุกเฉินทางสภาพอากาศ หรือการเติบโตของประชากร 

นักวิจัยได้ใช้เมืองเคปทาวน์ในแอฟริกาใต้เป็นกรณีศึกษา และพบว่าคนที่รวยที่สุดใช้น้ำมากกว่าคนจนที่สุดถึง 50 เท่า เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำในเมืองปี 2018 หลังจากเกิดภัยแล้งหลายปี คนจนที่สุดจะถูกทิ้งให้ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับความต้องการขั้นพื้นฐาน 

นักวิจัยยังบอกอีกว่า หลายเมืองทั่วโลกมีปัญหาที่คล้ายกัน ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เมืองใหญ่มากกว่า 80 แห่งประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง รวมถึงไมอามี เมลเบิร์น ลอนดอน บาร์เซโลนา เซาเปาโล ปักกิ่ง เบงกาลูรู และฮาราเร 

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าวิกฤตการณ์น้ำในเมืองจะเกิดขึ้นถี่ขึ้น และคาดการณ์ว่าชาวเมืองกว่า 1,000 ล้านคนจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคตอันใกล้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3W5mEExeexAAjO8t8un37A/a19345ed0f40481b0b69dd89aa633363/imminent-risk-global-water-crisis-world-water-development-report-SPACEBAR-Photo01
Photo: เด็กนักเรียนจากโรงเรียนประถมในเคนยาดื่มน้ำจากก๊อกเมื่อ 13 กรกฏาคม 2022 ขณะที่ผู้คนในแถบจะงอยแอฟริกาอย่างน้อย 18 ล้านคนต้องเผชิญกับความอดอยากและภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี (Simon MAINA / AFP)
ส่วนรายงานของ Global Commission on the Economics of Water ระบุไว้ในเดือนมี.ค.ว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตน้ำที่ใกล้เข้ามาทุกที โดยคาดว่าอุปสงค์จะแซงหน้าอุปทานถึง 40% ภายในปี 2030 

ด้าน ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการยูเนสโก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดทำรายงานการพัฒนาแหล่งน้ำฉบับนี้ กล่าวว่า รัฐบาลทั่วโลกต้องร่วมมือกันในเรื่องน้ำ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างกลไกระหว่างประเทศที่เข้มแข็งเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตน้ำทั่วโลกลุกลามจนเกินควบคุม 

อาซูเลย์ กล่าวเสริมด้วยว่า น้ำเป็นอนาคตร่วมกันของทุกคน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการร่วมกันเพื่อแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกันและจัดการอย่างยั่งยืน 

คำเตือนเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนน้ำของยูเอ็นมีขึ้นในช่วงที่ยูเอ็นจัดการประชุมเรื่องวิกฤตการณ์น้ำที่นิวยอร์ก เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปีนับตั้งแต่ปี 1977 โดยมีรัฐบาลเนเธอร์แลนด์และทาจิกิสถานเป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ประเด็นปัญหาน้ำทั่วโลกถูกหยิบยกขึ้นมาหารือโดยรัฐมนตรีและประมุขของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วม 

โยฮัน ร็อกสตรอม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยผลกระทบสภาพภูมิอากาศบอกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลต่างๆ ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำอย่างจริงจัง 
 
“มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเรากำลังเกิดวิกฤตการณ์น้ำ เรากำลังใช้น้ำในทางที่ผิด สร้างมลพิษให้กับน้ำ และเปลี่ยนแปลงวัฏจักรทางอุทกวิทยาทั่วโลกผ่านสิ่งที่เรากำลังทำกับสภาพอากาศ ถือเป็นวิกฤต 3 ต่อเลยทีเดียว” ร็อกสตรอม กล่าว 

รายงานอีกฉบับที่เผยแพร่โดยคณะกรรมาธิการระดับโลกด้านเศรษฐศาสตร์น้ำพบว่า ภายในปี 2030 ความต้องการน้ำจืดจะมีมากกว่าแหล่งน้ำถึง 40% ซึ่งจะมีนัยสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก ต่อธรรมชาติ ต่อชีวิตในเมือง และต่อสภาพอากาศ ขณะที่มีรัฐบาลไม่กี่ประเทศที่ดำเนินการเพื่อรักษาแหล่งน้ำและลดมลภาวะ 

สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากการละลายของธารน้ำแข็งบนแผ่นดิน และปริมาตรน้ำในมหาสมุทรขยายตัว ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญต่อวัฎจักรของน้ำบนโลก เกิดความผันแปรของพายุหมุนเขตร้อน เกิดภัยพิบัติต่างๆ ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงยาวนาน หรือภาวะน้ำท่วมหนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ที่เป็นรากฐานที่สำคัญของความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของโลก 

ปัญหาขาดแคลนน้ำของโลกทำให้ยูเอ็นตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ และรณรงค์ให้นานาประเทศช่วยกันอนุรักษ์น้ำ โดยกำหนดให้วันที่ 22 มี.ค.ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์น้ำของโลก (World Day for Water) ตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์