จันทรายาน-3 ส่งสัญญาณแรก พบ ‘กำมะถัน’ บริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์

31 สิงหาคม 2566 - 05:31

india-chandrayaan-3-rover-confirms-sulphur-on-moon-south-pole-SPACEBAR-Thumbnail
  • ยานสำรวจของอินเดียส่งข้อมูลมายืนยันแล้วว่า บริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์นั้นมีกำมะถันและองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่าง ได้แก่ อะลูมิเนียม แคลเซียม เหล็ก โครเมียม และไทเทเนียม

หลังจากประสบความสำเร็จในการลงจอดขั้วใต้ดวงจันทร์เป็นชาติแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสำหรับภารกิจจันทรายาน 3 ของอินเดีย โดยทางองค์การอวกาศอินเดีย (ISRO) เผยว่า  ‘ยานสำรวจปรัชญาน’ ได้ออกสำรวจดวงจันทร์และส่งข้อมูลมายืนยันแล้วว่า ‘บริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์นั้นมีกำมะถันและองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่าง’ 

“เครื่องมือเลเซอร์สเปกโทรสโกปี (Laser-Induced Breakdown Spectroscopy / LIBS) ที่ติดอยู่บนยานจันทรายาน 3 ได้ทำการตรวจวัดองค์ประกอบของพื้นผิวดวงจันทร์ใกล้กับขั้วโลกใต้ในแหล่งกำเนิดเป็นครั้งแรก และพบว่ามีกำมะถันอยู่บริเวณนี้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ด้วยเครื่องมือที่อยู่บนยานอวกาศ” ISRO ระบุ 

การวิเคราะห์ทางเปกโทรสโกปียังยืนว่ามี ‘อะลูมิเนียม แคลเซียม เหล็ก โครเมียม และไทเทเนียม บนพื้นผิวดวงจันทร์’ แต่หลังจากตรวจวัดเพิ่มเติมยังพบว่ามี ‘แมงกานีส ซิลิคอน และออกซิเจน’ อยู่ด้วย 

“ยานสำรวจยังศึกษาบรรยากาศของดวงจันทร์และกิจกรรมแผ่นดินไหวด้วย…เมื่อวันจันทร์ (28 ส.ค.) ที่ผ่านมา เส้นทางของยานสำรวจได้รับการตั้งโปรแกรมใหม่เมื่อเข้าใกล้ปล่องภูเขาไฟกว้าง 4 เมตร และตอนนี้กำลังมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางใหม่อย่างปลอดภัย” เอส โสมานาถ ประธาน ISRO กล่าว 

ทั้งนี้ ตัวยานจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วช้าๆ ประมาณ 10 เซนติเมตร (4 นิ้ว) ต่อวินาที เพื่อลดแรงกระแทกและความเสียหายต่อยานในการวิ่งบนพื้นผิวที่ขรุขระของดวงจันทร์ 

อินเดียกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ส่งยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจรรอบดาวอังคารสำเร็จเมื่อปี 2014 และยังมีแผนที่จะส่งยานสำรวจไปยังดวงอาทิตย์ในวันที่ 2 กันยายนนี้ 

นอกจากนี้ ISRO ยังวางแผนที่จะเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในปีหน้าโดยร่วมมือกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเพื่อส่งยานสำรวจไปยังดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2025 และภารกิจโคจรดาวศุกร์ในอีก 2 ปีข้างหน้าอีกด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์