หากพูดถึงรถไฟในอินเดีย ภาพแรกที่หลายคนนึกถึงคงจะเป็นขบวนรถไฟที่มีผู้โดยสารแออัดล้นแล้วล้นอีกจนต้องไปนั่งกันบนหลังคา หรือห้อยโหนส่วนต่างๆ ของรถไฟ แทบจะไม่มีภาพของความทันสมัยอยู่ในหัวเลย
ทว่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 ธ.ค.) กระทรวงรถไฟของอินเดียประกาศความก้าวหน้าไปอีกขั้นของรถไฟอินเดียว่า กำลังจะเปิดตัวรถไฟพลังงานไฮโดรเจนที่ออกแบบและผลิตเองในประเทศภายในสิ้นปีหน้านี้แล้ว เพื่อนำมาทดแทนรถไฟเก่าที่ใช้งานมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 หรือเกือบ 100 ปีมาแล้ว
หากจะเปรียบเทียบกัน รถไฟของอินเดียและของไทยเกิดขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน และในขณะนั้นก็ถือว่าทันสมัยที่สุดแล้ว
รถไฟอินเดียเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษเมื่อปี 1832 (เพียง 7 ปีหลังจาก Stockton & Darlington Railway ของอังกฤษเปิดเดินรถไฟสำหรับสาธารณชนเป็นครั้งแรกของโลก) ในแถบเมืองมัทราส หรือเมืองเจนไนในปัจจุบัน โดยชาวอังกฤษเป็นผู้สร้าง เริ่มแรกใช้งานเฉพาะขนส่งสินค้า อาทิ หินแกรนิต และวัตถุดิบการก่อสร้าง
ส่วนรถไฟโดยสารเกิดขึ้นในปี 1853 หรือเมื่อ 169 ปีที่แล้ว เชื่อมระหว่างเมืองบอมเบย์ หรือมุมไบ กับเมืองฐาเณ
ย้อนไปเมื่อค.ศ. 1947 ซึ่งเป็นปีที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ อินเดียมีทางรถไฟทั่วประเทศยาวถึง 53,996 กิโลเมตร โดยรถไฟอินเดียจัดเป็นเครือข่ายทางรถไฟที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน แต่ปัจจุบันถูกจีนแซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว
ทว่า หลังจากนั้นอีก 75 ปี อินเดียสร้างทางรถไฟรางคู่เพิ่มขึ้นเพียง 15,000 กิโลเมตรเท่านั้น หนำซ้ำรถไฟที่ให้บริการอยู่ก็เริ่มเก่า มีอุบัติเหตุรถไฟตกรางเสมอ มีการยกเลิกเที่ยวรถไฟบ่อยๆ แถมความเร็วยังค่อนข้างช้า แม้ว่ารถไฟด่วนพิเศษบางสายจะวิ่งที่ความเร็ว 160 กิโชเมตรต่อชั่วโมง แต่โดยเฉลี่ยรถไฟด่วยระยะยาวทำความเร็วเพียง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ขณะที่รถไฟธรรมดาใช้ความเร็วเพียง 32 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การรถไฟของอินเดียไม่ได้รับการพัฒนาในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
หลังจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เข้ามาบริหารประเทศก็เกิดการยกเครื่องและเพิ่มงบประมาณเพื่อปรับปรุงการรถไฟอินเดียครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟแบบกึ่งความเร็วสูง Gatimaan Express มีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงวิ่งระหว่างเดลี-อักรา ระยะทาง 188 กิโลเมตร โดยใช้เวลาราว 100 นาที รวมถึงจะเปลี่ยนเครือข่ายที่มีอยู่ทั้งหมดไปใช้รางไฟฟ้าแบบ 100% ภายในปี 2024
การเปลี่ยนแปลงรถไฟครั้งใหญ่ของอินเดียคือ ดีลสร้างรถไฟความเร็วสูงกับญี่ปุ่นระยะทาง 508 กิโลเมตรเชื่อมระหว่างเมืองมุมไบกับอาเมห์ดาบัดทางตะวันตก
แต่ถึงอย่างนั้นการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้ต้องเผชิญแรงเสียดทานมากมาย อาทิ การถกเถียงเกี่ยวกับเส้นทางและการประท้วงจากบรรดาชาวไร่ชาวนาและนักการเมืองท้องถิ่นกรณีการสูญเสียพื้นที่ทำการเกษตร จนต้องล่าช้าและอาจจะเสร็จสิ้นในปี 2028 เป็นอย่างน้อย
ขณะที่รางรถไฟไทยมีเพียง 4,346 กิโลเมตร และส่วนใหญ่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และแม้ว่าเมื่อพ.ศ. 2471 ไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เปลี่ยนหัวรถจักรไอน้ำมาเป็นหัวรถจักรดีเซล ด้วยฝีมือบริหารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงคนแรก ทำให้รถไฟไทยทันสมัยที่สุดในเอเชีย แต่หลังจากนั้นการรถไฟไทยกลับพัฒนาค่อนข้างน้อยหลังจากนั้นไม่ต่างจากอินเดีย
จนในช่วงไม่กี่ปีก่อนที่เริ่มมีการขยับขยายสร้างรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด 4 สายคือ อีสาน เหนือ ตะวันออกและใต้ เริ่มก่อสร้างแล้ว 2 สายคือ สายอีสาน กรุงเทพฯ-หนองคาย หรือเรียกง่ายๆ ว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ระยะทาง 608 กม. ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างเฟส 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะ 253 กม. ส่วนอีกสายคือสายตะวันออก หรือรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กรุงเทพฯ-ตราด ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งมอบและปรับพื้นที่ก่อสร้างเฟส 1 สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. ส่วนเฟส 2 อู่ตะเภา-ระยอง-ตราด อยู่ระหว่างศึกษาเส้นทาง
แสดงให้เห็นว่ารถไฟไทยมีพัฒนาการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 120 ปี แต่อาจจะล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวที่เปิดใช้รถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างเวียงจันทน์-บ่อเต็นไปบ้าง
อินเดียกำลังจะมีรถไฟพลังงานไฮโดรเจน แล้วรถไฟไทยมีอะไร
20 ธ.ค. 2565 - 08:42
การรถไฟอินเดียและไทยเริ่มต้นขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน
ล่าสุดอินเดียกำลังจะมีรถไฟพลังงานไฮโดรเจนที่ออกแบบและผลิตเองในปี 2023
