เมื่ออากาศร้อนแรงอย่างฉุดไม่อยู่และยังร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตำรวจจราจรในอินเดียจึงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อสู้กับความร้อน และนั่นก็คือ ‘หมวกกันน็อคปรับอากาศ’ (ActivCooling Helmets / AC) ที่เปิดตัวให้ตำรวจจราจรเมืองวโฑทราได้ใช้ ซึ่งออกแบบและผลิตโดยบริษัทสตาร์ทอัพหมวกกันน็อค ‘จาร์ช เซฟตี้’ (Jarsh Safety) จากรัฐเตลังคานา
เกาสตุพ คุนดินยา (Kaustubh Kaundinya) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ ‘Jarsh Safety’ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC-TV18 ว่า “สิ่งนี้มีไว้สำหรับการใช้งานชั่วคราวเป็นหลักเมื่อใดก็ตามที่เผชิญกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นนี้”
ขณะที่คณะกรรมการตำรวจเมืองอื่นๆ รวมถึงเมืองกานปุระ และเมืองลัคเนา ก็กำลังนำความคิดริเริ่มนี้ไปใช้เช่นเดียวกัน
หมวกกันน็อคปรับอากาศ (ActivCooling Helmets) มาพร้อมกับเทคโนโลยี ‘ActivCooling’ (ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ถ่ายเทความร้อน) ที่ได้รับสิทธิบัตรเครื่องปรับอากาศในตัว น้ำหนัก 200 กรัม ลดอุณหภูมิได้ 10-15 องศาฯ และใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จไฟได้ สามารถทำงานได้นานถึง 10 ชั่วโมง
คุนดินยายังได้หารือเกี่ยวกับต้นทุนและเวลาในการผลิตหมวกกันน็อคเหล่านี้ด้วย “ระยะเวลารอสินค้าโดยเฉลี่ยคือประมาณ 30 วัน ขณะนี้เราอยู่ในระดับเล็ก ดังนั้นโรงงานผลิตของเราจึงมีจำกัด เรากำลังหาเงินทุนเพื่อขยายโรงงานผลิตและสายผลิตภัณฑ์ของเรา”
สำหรับราคาหมวกกันน็อคปรับอากาศอยู่ระหว่าง 13,000-17,000 รูปีอินเดีย (ราว 5,770-7,550 บาท) “เราไม่ได้ขายหมวกกันน็อคเป็นหลัก แต่เราขายระบบระบายอากาศแบบพกพา ราคาจึงเทียบได้กับการมีแอร์” คุนดินยากล่าวเสริม

ในเวลานี้ ตำรวจจราจรเมืองวโฑทราได้แจกจ่ายหมวกกันน็อคดังกล่าวไปแล้วกว่า 450 ใบ
โจติ ปาเตล (Jyoti Patel) รองผู้บัญชาการตำรวจ (DCP) ฝ่ายจราจรเมืองวโฑทรากล่าวว่า “เรากำลังคิดว่าจะมีเสื้อแจ็คเก็ตปรับอากาศสำหรับตำรวจจราจรด้วยซ้ำ…หากหมวกกันน็อคปรับอากาศได้ผลดี เราอาจซื้อแจ็คเก็ตปรับอากาศมาให้ตำรวจจราจรใช้ด้วย”
อย่างไรก็ดี ขณะนี้โครงการดังกล่าวกำลังเปิดตัวในเมืองอื่นๆ ตำรวจเมืองกานปุระได้แจกจ่ายหมวกกันน็อคปรับอากาศจำนวน 7 ใบ ขณะที่ตำรวจเมืองลัคเนาสั่งซื้อหมวกกันน็อคปรับอากาศไปแล้ว 500 ใบเพื่อทดลองใช้เป็นเวลา 1 เดือน การทดลองจะตัดสินว่าสามารถเปิดตัวผลิตภัณฑ์อย่างเป็นทางการได้หรือไม่