รัฐสภาของอินโดนีเซียอนุมัติการแก้ไขกฎหมายทหารของประเทศจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะให้กองทัพมีบทบาทในรัฐบาลมากขึ้น และคาดว่าจะมีการประท้วงบนท้องถนนเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
นักวิจารณ์เตือนว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจทำให้ประเทศอินโดนีเซียกลับไปสู่ยุคมืดของการปกครองแบบเผด็จการทหารของซูฮาร์โต ซึ่งกินเวลานานถึง 32 ปี จนกระทั่งเขาถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งในปี 1998
การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต อดีตผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษและอดีตลูกเขยของซูฮาร์โต อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลได้โดยไม่ต้องเกษียณ หรือลาออกจากกองทัพก่อน
“การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และเทคโนโลยีทางการทหารระดับโลกทำให้กองทัพต้องปรับเปลี่ยน...เพื่อเผชิญกับความขัดแย้งทั้งแบบธรรมดาและแบบไม่ธรรมดา” ชาฟรี่ ชัมซอยดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวปกป้องกฎหมายฉบับนี้ต่อรัฐสภา
การแก้ไขดังกล่าวทำให้บุคลากรทางทหารที่ยังประจำการสามารถดำรงตำแหน่งในสถาบันพลเรือนได้ 14 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 10 แห่ง และยังเพิ่มอายุเกษียณอีกหลายปีสำหรับยศเกือบทุกยศ นายพลระดับสูงสุดสี่ดาวสามารถรับราชการได้ถึง 63 ปี จากเดิม 60 ปี
ตั้งแต่เย็นวันพุธ (19 มี.ค.) จนเย็นวันพฤหัสบดี (20 มี.ค.) ฝูงชนที่ออกมาประท้วงหน้ารัฐสภามีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบพันคนพร้อมถือป้าย “ส่งทหารกลับค่ายทหาร!” “ต่อต้านลัทธิทหารและการปกครองโดยกลุ่มคนหัวรุนแรง”
สำหรับชาวอินโดนีเซียบางคน ปราโบโวเป็นตัวอย่างของยุคเผด็จการ เขาเป็นผู้นำหน่วยรบพิเศษที่ถูกกล่าวหาว่าลักพาตัวนักเคลื่อนไหวในปี 1997-1998 หลายคนหวั่นเกรงว่าการที่เขากลับคืนสู่อำนาจทางการเมืองและขึ้นเป็นประธานาธิบดีจะทำลายระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซียที่ต่อสู้มาอย่างยากลำบาก
“แก่นแท้ของประชาธิปไตยคือกองทัพไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง กองทัพควรจัดการแค่ค่ายทหารและการป้องกันประเทศเท่านั้น...นับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ระบอบประชาธิปไตยได้ถูกทำลายลงอย่างช้าๆ และในวันนี้ก็ถือเป็นจุดสูงสุดของระบอบประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยถูกสภาผู้แทนราษฎรสังหารไปแล้ว” วิลสัน นักเคลื่อนไหวจากสมาคมครอบครัวผู้สูญหายแห่งอินโดนีเซีย (KontraS) กลุ่มที่สนับสนุนนักเคลื่อนไหวที่สูญหายระหว่างการปราบปรามในปี 1997-1998 กล่าวกับสำนักข่าว BBC
ตั้งแต่ปราโบโวเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เขาได้ขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมของกองทัพในพื้นที่สาธารณะแล้ว ตัวอย่างเช่น โครงการอาหารฟรีมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.35 แสนล้านบาท) สำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์ ซึ่งเป็นโครงการเรือธงของเขาที่ได้รับการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์จากกองทัพ
กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มโต้แย้งว่าการเพิ่มการควบคุมของกองทัพในกิจการสาธารณะนอกเหนือจากการป้องกันประเทศจะบั่นทอน ‘ความเป็นกลาง’
“ดูเหมือนประธานาธิบดีปราโบโวจะตั้งใจฟื้นฟูบทบาทของกองทหารอินโดนีเซียในกิจการพลเรือน ซึ่งเคยเต็มไปด้วยการละเมิดและการลอยนวลพ้นผิดมาอย่างยาวนาน การรีบเร่งของรัฐบาลในการนำการแก้ไขเพิ่มเติมนี้ไปใช้ถือเป็นการขัดต่อความมุ่งมั่นที่รัฐบาลมีต่อสิทธิมนุษยชนและความรับผิดชอบ” อันเดรียส ฮาร์โซโน นักวิจัยอาวุโสด้านอินโดนีเซียของฮิวแมนไรท์วอตช์กล่าว
“การต่อสู้ที่ยาวนานนี้ไม่อาจหยุดลงได้เพียงเพราะกฎหมายได้ถูกตราขึ้นแล้ว คำเดียวเท่านั้นคือ ต่อต้าน เราจะประท้วงต่อไปจนกว่าเราจะได้ชัยชนะ...เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยึดครอง ‘บ้านของประชาชน’” สุขมา อายู นักศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย ‘Muhammadiyah Prof. Hamka’ ในกรุงจาการ์ตากล่าว
(Photo by ADITYA AJI / AFP)