จุดจบสายเอฟ! อินโดฯ สั่งห้ามซื้อ-ขายของออนไลน์ผ่านโซเชียล

28 ก.ย. 2566 - 07:24

  • ‘อินโดนีเซีย’ สั่งห้ามการทำธุรกรรมสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องธุรกิจขนาดเล็กจากการแข่งขันอีคอมเมิร์ซ

indonesia-bans-e-commerce-sales-social-media-platforms-SPACEBAR-Hero.jpg

‘อินโดนีเซีย’ ออกกฎใหม่ห้ามการทำธุรกรรมสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องธุรกิจขนาดเล็กจากการแข่งขันอีคอมเมิร์ซ 

กระแสเรียกร้องเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาสำหรับกฎระเบียบที่ควบคุมโซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซ โดยผู้ขายออฟไลน์มองว่าวิถีชีวิตของพวกเขาถูกคุกคามจากการขายผลิตภัณฑ์ราคาถูกบน TikTok Shop และแพลตฟอร์มอื่นๆ 

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับ TikTok Shop และเป็นตลาดแรกที่นำร่องกลุ่มอีคอมเมิร์ซของแอปฯ  

“ในปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซไม่สามารถกลายเป็นโซเชียลมีเดียได้ มันถูกแยกออกจากกัน” ซุลกิฟลี ฮาซัน รัฐมนตรีกระทรวงการค้า กล่าวในการแถลงข่าว พร้อมเสริมว่า กฎระเบียบทางการค้ามีผลบังคับใช้เมื่อวันอังคาร แพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีเวลาหนึ่งสัปดาห์ในการปฏิบัติตามกฎใหม่ 

“รัฐบาลจะปกป้องธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่น” เขากล่าวโดยอธิบายถึงกฎระเบียบดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางในการรับประกันความเท่าเทียมกันในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งบริษัทพาณิชย์จะถูกห้ามไม่ให้อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมการชำระเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ 

“การค้าในโซเชียลสามารถทำโฆษณาได้เช่น ทีวี แต่จะต้องไม่ใช่การให้บริการถึงขั้นการทำธุรกรรม ดังนั้นจึงเปิดร้าน (ผ่านแอปฯ) ไม่ได้ ขายโดยตรงไม่ได้” ฮาซันกล่าวโดยไม่ได้เอ่ยชื่อถึงแอปฯ TikTok  

ทั้งนี้ บริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้ทำธุรกิจในอินโดนีเซียในที่สุด

อินโดนีเซียซึ่งมีผู้ใช้งาน 125 ล้านคน เป็นตลาดโลกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของ TikTok รองจากสหรัฐฯ ตามตัวเลขของบริษัท แต่ขณะนี้ประเทศนี้กลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ต่อต้านความนิยมที่เพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มในการค้าผ่านโซเชียลมีเดีย 

TikTok อินโดนีเซียกล่าวว่า บริษัทกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ขายและผู้บริโภคหลายล้านรายที่ใช้ TikTok Shop 

“เราเคารพกฎหมายและข้อบังคับในท้องถิ่น และจะดำเนินการตามเส้นทางที่สร้างสรรค์ไปข้างหน้า” คำแถลงระบุ 

ฮาซันยืนยันว่าบริษัทต่างๆ จะต้องเลือกระหว่างใบอนุญาตโซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซแยกกัน และบอกว่า ไม่มีใบอนุญาตสำหรับการค้าขายในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หากต้องการค้าขายผ่านโซเชียล ก็จะทำได้แค่การโฆษณาเท่านั้น นอกจากนี้ กฎระเบียบดังกล่าวยังกำหนดราคาขั้นต่ำที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าต่างประเทศบางประเภทที่ซื้อจากผู้ขายชาวอินโดนีเซียบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ  

ตลาดอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซียถูกครอบงำโดยแพลตฟอร์มเช่น Tokopedia, Shopee และ Lazada แต่ TikTok Shop ได้รับส่วนแบ่งการตลาดที่สำคัญนับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2021 ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การห้ามทำธุรกรรมจะส่งผลกระทบต่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น TikTok ซึ่งคิดค่าคอมมิชชั่นจากการขายทุกครั้ง 

“พวกเขาจะขาดทุนอย่างแน่นอน” ทัวฮิด อมัดห์ ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐศาสตร์และการเงินในกรุงจาการ์ตากล่าว 

สตีวานี อฮัวร์ ผู้ขายขายส่งกางเกงยีนส์จากจาการ์ตาเห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลกล่าวว่า รายได้ของเธอลดลง 60% ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ซื้อหันไปหาร้านค้าออนไลน์  

แต่กับผู้ประกอบการบางรายก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้ของรัฐบาลโดยบอกว่า ใน TikTok พวกเขาสามารถขายสินค้าได้อย่างมากมายและสินค้าของพวกเขาไปได้ไกลกว่าการวางขายหน้าร้าน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์