ที่ผ่านมาใครหลายๆ คนต่างก็เชื่อว่า ‘พีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก’ นั้นอยู่ที่อียิปต์ซึ่งเป็นดินแดนของฟาโรห์ แต่เมื่อไม่นานมานี้ความเชื่อเหล่านี้ถูกตีตกไป เมื่อมีการค้นพบใหม่โดยทีมนักโบราณคดี นักธรณีฟิสิกส์ นักธรณีวิทยา และนักบรรพชีวินวิทยาในเครือสถาบันหลายแห่งในอินโดนีเซีย ซึ่งพวกเขาพบหลักฐานที่แสดงว่า ‘กุนุงปาดัง’ (Gunung Padang) ของอินโดนีเซียต่างหากที่เป็นพีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร ‘Archaeological Prospection’ ทีมวิจัยกลุ่มนี้ได้กล่าวถึงการศึกษามรดกทางวัฒนธรรมเป็นเวลาหลายปี
กุนุงปาดังได้รับการพิจารณาว่าเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่มาหลายปีแล้ว และตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับแล้วในชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคนในพื้นที่ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยในปี 1998 พีระมิดดังกล่าวได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
หลายปีที่ผ่านมากุนุงปาดังมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับลักษณะที่แท้จริงของเนินเขา บางคนแย้งว่าเนินเขาแห่งนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้วมนุษย์ประดับตกแต่งส่วนบนเพิ่มเติม ในขณะที่บางคนแย้งว่าหลักฐานบ่งชี้ว่าเนินเขานี้สร้างขึ้นโดยมนุษย์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด
สำหรับการศึกษาใหม่นี้ ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์ในระยะยาว โดยในช่วงปี 2011-2015 พวกเขาได้ศึกษาโครงสร้างโดยใช้การตรวจเอกซเรย์คลื่นไหวสะเทือน (seismic tomography) การตรวจเอกซเรย์ความต้านทานไฟฟ้า (electrical resistivity tomography) และเรดาร์เจาะพื้นดิน
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังเจาะลงไปบนเนินเขาและเก็บตัวอย่างแกนกลางเพื่อใช้เทคนิคการหาปริมาณคาร์บอนกัมมันตรังสีสำหรับการเรียนรู้อายุของชั้นหินและดินต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นเนินเขา
ในการศึกษาข้อมูลทั้งหมด ทีมวิจัยพบสิ่งที่พวกเขาอธิบายว่าเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า
กุนุงปาดังถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่แสดงว่าโครงสร้างนี้สร้างขึ้นเป็นระยะๆ ห่างกันเมื่อหลายพันปี และพวกเขาพบว่าส่วนที่เก่ากว่าของโครงสร้างถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 25,000-14,000 ปีก่อน จึงทำให้กุนุงปาดังเป็นพีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบหลักฐานบางอย่างว่าอาจมีส่วนที่กลวงอยู่ภายในโครงสร้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจมีห้องซ่อนอยู่ โดยทีมวิจัยเขาได้วางแผนที่จะเจาะลึกลงไปแล้วถ่ายภาพมุมต่ำเพื่อดูว่ามีอะไรอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ต่อไป
Photo by ADEK BERRY / AFP