ในวันที่ไทยเสี่ยงถูกสหพันธ์โอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) ตัดสิทธิ์เจ้าภาพเอเชียนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ 2024 (Asian Indoor & Martial Arts Games) ซึ่งจะจัดขึ้นในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังทางการยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะจัดการแข่งขันได้หรือไม่ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่างบประมาณการจัดงานไม่เพียงพอ
แต่ ‘อินโดนีเซีย’ กำลังเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2036 ทั้งๆ ที่การแข่งขันโอลิมปิก 2024 ยังไม่ทันจะปิดฉากลงก็มีการหารือถึงการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในอีก 12 ปีข้างหน้าซะแล้ว ว่ากันว่าความพยายามของประเทศจากอาเซียนแห่งนี้ริเริ่มมาตั้งแต่สมัย โจโค วีโดโด (โจโควี) อดีตประธานาธิบดีคนก่อน
ภายหลังการประชุม G-20 ที่บาหลีเมื่อช่วงปลายปี 2022 เสร็จสิ้นลง โจโควี ได้ประกาศผ่านทางช่องยูทูบของสำนักเลขาธิการประธานาธิบดีว่า รัฐบาลของเขาจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2036 ที่เมืองนูซันตารา เมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศ ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมีกำหนดจะแล้วเสร็จเต็มรูปแบบในปี 2045
แม้ยังไม่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่าประเทศไหนจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2036 แต่อินโดนีเซียก็แสดงความสนใจอย่างชัดเจนมาก ถึงขนาดที่ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ปราโบโว ซูเบียนโต เดินทางไปปารีสพร้อมกับ เอริก โทฮีร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือกับ โทมัส บัค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC)
แม้อินโดนีเซียจะไม่เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาก่อน แต่เอริคได้เน้นย้ำถึงผลงานของอินโดนีเซียในการเป็นเจ้าภาพงานสำคัญๆ เช่น :
- การแข่งขันซูเปอร์ไบค์เวิล์ด (World Superbike) และกรังด์ปรีซ์มอเตอร์ไซค์เคิลเรซซิ่ง (MotoGP) ที่สนามแข่งมันดาลิกา
- การแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2018 ที่กรุงจาการ์ตาและเมืองปาเล็มบัง
- การแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ 2022 ที่เมืองโซโล
- การแข่งขันฟุตบอลโลก U-17 (รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี) 2023 ที่กรุงจาการ์ตา
- และการแข่งขันบาสเกตบอลชิงแชมป์โลก 2023 (FIBA 2023) ที่กรุงจาการ์ตา
อย่างไรก็ดี แม้ว่าอินโดนีเซียจะประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก U-17 ในช่วงปลายปี 2023 แต่ก็เสียสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก U-20 (รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี) ในเดือนมีนาคมของปีที่แล้ว เนื่องจากกลุ่มอิสลามออกมาประท้วงและคัดค้านการเข้าร่วมการแข่งขันของอิสราเอล
ขณะที่ชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นถึงการเยือนปารีสของปราโบโวและเอริคว่า “ปัญหาจะเกิดขึ้นอีกครั้ง หากอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก”
“อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกได้อย่างไร… เพราะอิสราเอลจะเข้าร่วมอย่างแน่นอน…มันจะเหมือนกับฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดอีกครั้ง” ชาวเน็ตแสดงความคิดเห็น
อินโดนีเซียหวังที่จะเป็นประเทศแรกในอาเซียนในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก

“หลังการประชุมสุดยอด G20 ปี 2022 IOC ได้ยืนยันว่า อินโดนีเซียจะเข้าร่วมในขั้นตอนการเจรจาอย่างต่อเนื่องของกระบวนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก ในระยะนี้ คณะผู้แทนจากอินโดนีเซียในฐานะผู้สังเกตการณ์จะเดินทางไปเยี่ยมชมการแข่งขันกีฬาที่ปารีส” ตามรายงานของ GamesBids.com เว็บไซต์อิสระที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกระบุ
เมื่อผ่านขั้นตอนของปารีสไปแล้ว อินโดนีเซียจะได้รับเชิญจาก IOC อีกครั้งให้ติดตามการเตรียมการของคณะกรรมการจัดงานการแข่งขันกีฬาที่ลอสแองเจลิส 2028 อย่างใกล้ชิด
ตามเว็บไซต์ของ IOC ระบุว่า ขั้นตอนการเจรจาอย่างต่อเนื่องนั้นมีความยืดหยุ่นและไม่จำเป็นต้องมีการผูกมัดทางการเงิน การส่งเอกสาร หรือการค้ำประกันทางกฎหมาย หรือทางการเงินอื่นๆ
ราชา ซัปตา อ็อกโตฮารี ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติอินโดนีเซีย (NOC) บอกกับสำนักข่าว CNA ว่า “ทางอินโดนีเซียเองก็มีความกระตือรือร้นที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนในปี 2030 ด้วยเช่นกัน ซึ่งใกล้เข้ามาแล้ว” ขณะเดียวกันก็ยังมีประเทศที่สนใจเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเยาวชนปี 2030 เหมือนกัน ได้แก่ ไทย อินเดีย และเม็กซิโก
หากประสบความสำเร็จ นูซันตาราจะกลายเป็นเมืองแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แม้ว่าจะไม่ใช่เมืองแรกที่เคยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพก็ตาม เนื่องจากทั้งกรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์ต่างก็ยื่นใบสมัครเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2008 ด้วยเช่นกัน
ส่วนในบรรดาประเทศอื่นๆที่คาดว่าจะยื่นใบสมัครเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกปี 2036 ได้แก่ เม็กซิโก เกาหลีใต้ อังกฤษ อียิปต์ เยอรมนี อินเดีย และกาตาร์
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลอินโดนีเซียเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในช่วงปลายปี 2020 ในรัฐบาลโจโควีก็ยื่นเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2032 ที่จาการ์ตา แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ซึ่งสุดท้ายแล้วเป็นชัยชนะของเมืองบริสเบน ออสเตรเลียที่ได้ไป
แต่ต้นทุนการจัดโอลิมปิกอาจสูงเกินไป...แถมไม่ได้กำไร

สำหรับค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเป็นอีกประเด็นหนึ่ง โดยจากแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการคาดว่า งบประมาณสำหรับการจัดโอลิมปิกที่ปารีสในปี 2024 อาจอยู่ที่ 4.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.56 แสนล้านบาท) ขณะที่การคาดการณ์โดยฝ่ายต่างๆ อย่างสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations / CFR) ได้คาดการณ์ค่าใช้จ่ายไว้ที่ 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.1 แสนล้านบาท)
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยยังเตือนด้วยว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกไม่ได้สอดคล้องกับการเติบโตของรายได้ ตัวอย่างเช่น โอลิมปิกปักกิ่งในปี 2008 สร้างรายได้ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.28 แสนล้านบาท) ในขณะที่ IOC บันทึกต้นทุนในการจัดงานไว้ที่ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.42 ล้านล้านบาท)
ตามรายงานของ CFR ระบุว่า รายได้ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศเจ้าภาพ ขณะเดียวกัน IOC ยังเก็บรายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไว้มากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งมักเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของการแข่งขัน
“ต้นทุนในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นยังไม่ชัดเจน” CFR ระบุไว้ในเอกสารวิจัยที่มีชื่อว่า “The Economics of Hosting the Olympic Games”
แม้ต้นทุนการจัดจะสูงเพียงใด แต่ โรเบิร์ต บาเด และ วิกเตอร์ แมทธิวสัน นักวิจัย ชี้ให้เห็นว่า การเสนอเป็นเจ้าภาพของประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าหลังจากปี 1988 ประเทศต่างๆ เช่น จีน บราซิล และรัสเซีย ต่างก็กระตือรือร้นที่จะใช้มหกรรมกีฬาเหล่านี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของตัวเองบนเวทีโลก
อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ได้ลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น :
- การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2014 ที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย ต้องเสียค่าใช้จ่ายพุ่งสูงถึงกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท)
- การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2016 ที่เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ใช้งบกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.13 แสนล้านบาท)
- กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน มีการคาดการณ์จากสำนักข่าว Business Insider ว่า ใช้งบไป 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) ขณะที่ทางการจีนระบุว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีค่าใช้จ่ายเพียง 4 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น (ราว 1.42 แสนล้านบาท)
ทว่าต้นทุนเหล่านี้กลับทำให้บางเมืองต้องถอนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาที่จะมีขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 IOC ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อให้การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมีค่าใช้จ่ายน้อยลง โดยการขยายระยะเวลาการเสนอตัวและขยายข้อกำหนดทางภูมิศาสตร์เพื่อให้เมือง รัฐ หรือประเทศต่างๆ สามารถร่วมเป็นเจ้าภาพได้
แต่การดำเนินการดังกล่าวก็ยังไม่ส่งผลให้มีผู้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพมากขึ้น ในปี 2021 พบว่า เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2032 กลายเป็นเมืองแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกโดยไม่มีคู่แข่ง นับตั้งแต่ปี 1984 ที่เมืองลอสแองเจลิสถูกรับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโดยไม่มีคู่แข่งเหมือนกัน
เงินทุนสนับสนุนเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกมาจากไหน?

งบประมาณสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและแตกต่างกันไปในแต่ละครั้งที่จัดการแข่งขัน ขึ้นอยู่กับบริบทปัจจุบันของเมืองเจ้าภาพ แต่หลักการพื้นฐานในการจัดหาเงินทุนสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้นยังคงเหมือนเดิมและสามารถแบ่งงบประมาณออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. งบประมาณคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (OCOG)
IOC จะไม่มอบเงินให้กับรัฐบาล แต่จะมอบให้กับคณะกรรมการจัดงานการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกโดยเฉพาะ และยังช่วยเหลือคณะกรรมการจัดงานในหลายๆ ด้าน รวมถึงการถ่ายทอดความรู้และการบริหารจัดการการดำเนินงานการออกอากาศของเจ้าภาพ
โดยส่วนใหญ่แล้วจะได้รับการระดมทุนจากภาคเอกชน โดยมีเงินสนับสนุนจำนวนมากจาก IOC ซึ่งมาจากแหล่งรายได้ที่หลากหลาย เช่น การขายลิขสิทธิ์ในการออกอากาศการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เป็นต้น
2. งบประมาณจากหน่วยงานท้องถิ่น
งบประมาณนี้โดยทั่วไปจะอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานท้องถิ่นและประกอบด้วยองค์ประกอบหลายประการ ได้แก่
- งบประมาณการลงทุนด้านทุน (สถานที่แข่งขันและไม่แข่งขัน) โดยปกติแล้ว หน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชนจะเป็นผู้จัดหาเงินทุนสำหรับการลงทุนดังกล่าว
- งบประมาณการดำเนินงาน รวมถึงบริการการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่สนับสนุนการแข่งขันกีฬา (เช่น ความปลอดภัย การขนส่ง บริการทางการแพทย์ ศุลกากรและการตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น)
- แผนการลงทุนระยะยาวสำหรับโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป