ประเทศแรกในอาเซียน! อินโดฯ เข้าร่วม ‘BRICS’ สมาชิกเต็มตัวอย่างเป็นทางการ

9 ม.ค. 2568 - 08:38

  • กระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์ว่า “การเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS นั้นเป็น ‘หนทางเชิงยุทธศาสตร์ในการเพิ่มความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนกับประเทศอื่นๆใน BRICS’”

  • ก่อนหน้านี้ การขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอินโดนีเซียได้รับการอนุมัติในปี 2023 แต่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียในขณะนั้น เลือกที่จะไม่ดำเนินการขอเป็นสมาชิก

indonesia_officially_becomes_first_southeast_asian_member_of_brics_SPACEBAR_Hero_fec01ca07b.jpg

บราซิลประกาศเมื่อวันจันทร์ (6 ม.ค.) ว่า อินโดนีเซียได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ‘BRICS’ กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเต็มตัวแล้ว หลังจากอินโดนีเซียแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจนี้ 

“รัฐบาลบราซิลยินดีที่อินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่ม BRICS อินโดนีเซียมีประชากรและเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีความมุ่งมั่นร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในการปฏิรูปสถาบันการกำกับดูแลระดับโลก และมีส่วนสนับสนุนในเชิงบวกต่อการขยายความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South cooperation)” บราซิล ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มในปีนี้ ระบุในแถลงการณ์ 

กระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร (7 ธ.ค.) ว่า “การเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS นั้นเป็น ‘หนทางเชิงยุทธศาสตร์ในการเพิ่มความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนกับประเทศอื่นๆใน BRICS’” 

กลุ่ม BRICS ตั้งชื่อตามสมาชิกหลัก ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ได้ขยายกลุ่มออกไปแล้ว ซึ่งได้รับการรับรองในการประชุมสุดยอด BRICS ที่เมืองโยฮันเนสเบิร์กในปี 2023 นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้ว กลุ่ม BRICS ยังได้รวมซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน เอธิโอเปีย อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ไว้ด้วยกัน พร้อมทั้งดึงประเทศอื่นอีก 13 ประเทศเข้าร่วมในฐานะ ‘ประเทศพันธมิตร’ อีกด้วย 

การขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอินโดนีเซียได้รับการอนุมัติในปี 2023 แต่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียในขณะนั้น เลือกที่จะไม่ดำเนินการขอเป็นสมาชิก โดยกล่าวว่าเขาต้องการชั่งน้ำหนักข้อดี และข้อเสียของการเป็นสมาชิกดังกล่าว ผลก็คืออินโดนีเซียไม่ได้อยู่ในกลุ่มสมาชิกใหม่ที่ประกาศในการประชุมสุดยอดที่เมืองโยฮันเนสเบิร์ก

ซูจิโอโน รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของอินโดนีเซีย กล่าวเมื่อเดือนตุลาคมในระหว่างการประชุมสุดยอดประจำปีของกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซัน ประเทศรัสเซียว่า “ปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อไม่กี่วันก่อน ได้ตัดสินใจว่าอินโดนีเซียจะเข้าร่วม BRICS เป็นสมาชิกเต็มตัว” 

“การขอเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS สะท้อนถึงนโยบายต่างประเทศที่เสรีและกระตือรือร้นของประเทศ และสอดคล้องกับลำดับความสำคัญหลักของรัฐบาลปราโบโว ซึ่งรวมถึงความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การขจัดความยากจน ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซูจิโอโน กล่าว 

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงจุดยืนของรัฐบาลอินโดนีเซียในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS นั้นไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงลักษณะที่ยืดหยุ่นของนโยบายต่างประเทศที่ ‘เสรีและกระตือรือร้น’ ของอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงแนวทางที่แตกต่างกันระหว่างโจโควีและปราโบโวอีกด้วย 

การยกระดับของอินโดนีเซียสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีต่อกลุ่ม BRICS ซึ่งได้วางตำแหน่งตัวเองให้เป็นทางเลือกแทนสถาบันระดับโลกที่ถูกครอบงำโดยสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ 

เมื่อปีที่แล้ว ทั้งมาเลเซียและไทยได้ประกาศว่าพวกเขาได้สมัครเป็นสมาชิก BRICS อย่างเป็นทางการแล้ว ต่อมาในเดือนตุลาคม 2024 ก็พบว่าประเทศทั้งสองนี้ รวมถึงอินโดนีเซียและเวียดนาม ก็อยู่ในกลุ่มประเทศพันธมิตร 13 ประเทศอื่นๆ ของ BRICS (ได้แก่ แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา คาซัคสถาน ไนจีเรีย ตุรกี ยูกันดา และอุซเบกิสถาน) 

Photo by Ricardo STUCKERT / Brazilian Presidency / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์