เขตร้อนอย่างอินโดนีเซียก็มีธารน้ำแข็ง แต่มันกำลังจะละลายหมดภายใน 3 ปีนี้

8 กันยายน 2566 - 06:17

indonesia-tropical-eternity-glaciers-could-vanish-within-years-SPACEBAR-Thumbnail
  • ธารน้ำแข็งของอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในธารน้ำแข็งเขตร้อนไม่กี่แห่งบนโลกใบนี้ และเป็นธารน้ำแข็งเขตร้อนแห่งสุดท้ายของภูมิภาค

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งชาวอินโดนีเซียเผยว่า “ธารน้ำแข็งอาจหมดไปเลยก่อนปี 2026 หรืออาจเร็วกว่านั้น และเอลนีโญอาจเร่งกระบวนการละลาย”

หากพูดถึงสภาพภูมิอากาศเขตร้อนหลายคนคงไม่คิดถึงธารน้ำแข็งแน่นอน และอาจยิ่งแปลกใจเข้าไปใหญ่หากรู้ว่าเพื่อนบ้านของเราอย่างอินโดนีเซียก็มีธารน้ำแข็งกับเขาด้วย

ธารน้ำแข็งของอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในธารน้ำแข็งเขตร้อนไม่กี่แห่งบนโลกใบนี้ และเป็นธารน้ำแข็งเขตร้อนแห่งสุดท้ายของภูมิภาค โดยตั้งอยู่บนยอดเขาจายา หรือปุนจักจายาในภาษาอินโดนีเซีย ของภูเขาจายาวิจายา หรือบางคนเรียกว่าพีระมิดคาร์สเทนซ์ ในเขตอุทยานแห่งชาติลอเรนตซ์ของปาปัวนิวกินี

น่าเสียดายที่แม้จะได้ชื่อว่า Eternity Glacier หรือธารน้ำแข็งนิรันดร์ แต่ธารน้ำแข็งแห่งนี้กำลังละลายและจะหมดไปแล้ว เช่นเดียวกับธารน้ำแข็ง East Northwall Firn ที่ตั้งอยู่บนภูเขาเดียวกัน

หน่วยงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศ และธรณีฟิสิกส์ของอินโดนีเซีย (BMKG) เผยว่า ธารน้ำแข็ง Eternity Glacier ละลายมาตลอดอันเนื่องมาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปี 2015-2016 ซึ่งปรากฏการณ์เอลนีโญ (ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้น) เล่นงานอินโดนีเซียอย่างหนัก ส่งผลให้ธารน้ำแข็งบนยอดเขาปุนจักจายาละลายราวปีละ 5 เมตร และเอลนีโญในปีนี้ก็จะยิ่งเร่งให้ธารน้ำแข็งละลายหนักขึ้นไปอีกจนอาจถึงขั้นหายไปหมดเลย

โดนัลดิ เปอร์มานา ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งชาวอินโดนีเซียเผยว่า “ธารน้ำแข็งอาจหมดไปเลยก่อนปี 2026 หรืออาจเร็วกว่านั้น และเอลนีโญอาจเร่งกระบวนการละลาย”

โดนัลดิระบุว่า จากอายุของดินและรูปแบบการกระจายของพืชพรรณต่างๆ รอบๆ ธารน้ำแข็งสามารถสรุปได้ว่า พื้นที่ธารน้ำแข็งเมื่อปี 1850 อยู่ที่ 19 ตารางกิโลเมตร ภาพถ่ายทางดาวเทียมในเวลาต่อมาแสดงให้ห็นว่าธารน้ำแข็งลดลงเหลือเพียง 2 ตารางกิโลเมตรในปี 2002 และลดลงเหลือ 0.23 ตารางกิโลเมตรในปี 2022 นั่นหมายความว่ายิ่งนานวันการละลายของธารน้ำแข็งก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

หลายคนอาจสงสัยว่าธารน้ำแข็งก่อตัวได้ยังไงในประเทศแถบศูนย์สูตรอย่างอินโดนีเซียที่น่าจะร้อนไม่แพ้เมืองไทย

ยอดเขาปุนจักจายาตั้งอยู่บนความสูง 4,884 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แน่นอนว่าสูงขนาดนั้นอุณหภูมิยิ่งลดลง เมื่ออุณหภูมิต่ำลง พอฝนตกลงมาฝนก็จะกลายเป็นน้ำแข็งที่ทับถมกันมาเรื่อยๆ ป็นพันเป็นหมื่นปีจนกลายเป็นธารน้ำแข็งในที่สุด โดยอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ฝนตกชุกมากที่สุดถึงเกือบ 300 วันต่อปี แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ฝนเหล่านั้นไม่เปลี่ยนเป็นหิมะแล้ว

ธารน้ำแข็งของอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในธารน้ำแข็งเขตร้อนเพียง 3 บริเวณที่ยังเหลืออยู่บนโลกใบนี้นอกเหนือจาก ธารน้ำแข็งบนยอดเขาแอนดีสในเปรูและโบลิเวีย ธารน้ำแข็งบนยอดเขาคีรีมันจาโรในแทนซาเนีย ธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบตและเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งกำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกับธารน้ำแข็งของอินโดนีเซีย

ธารน้ำแข็งเขตร้อนอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมาก แต่ที่ยังเหลือรอดมาถึงทุกวันนี้เป็นเพราะตั้งอยู่ในที่สูง แต่ในบรรดาธารน้ำแข็งเขตร้อนที่ยังเหลืออยู่นี้ ยอดเขาปุนจักจายาอยู่ต่ำที่สุดจึงมีสิทธิหายไปก่อนที่อื่น

ก่อนหน้านี้โดนัลดิและทีมงานศึกษาธารน้ำแข็งของอินโดนีเซียด้วยการขุดเจาะแกนน้ำแข็งขึ้นมาเมื่อปี 2010 โดยการเจาะลึกลงไป 32 เมตรจนถึงฐานชั้นล่าง รวมทั้งติดตั้งท่อพีวีซีเพื่อวัดว่าธารน้ำแข็งละลายไปเท่าไรด้วยการดูที่ความหนา ในปี 2015 ทีมของโดนัลดิพบว่า ท่อพีวีซีโผล่ขึ้นมา 5 เมตร ซึ่งหมายความว่าแต่ละปีธารน้ำแข็งหายไปราว 1 เมตร

ที่น่าตกในคือ ในปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่ปรากฏการณ์เอลนีโญนำพาทั้งความร้อนและความแห้งแล้งมาสู่อินโดนีเซีย ธารน้ำแข็งยิ่งละลายเร็วขึ้น โดยจากปี 2015 ถึง 2016 ความหนาของธารน้ำแข็งหายไปถึง 5 เมตร และจากปี 2016-2021 ก็หายไปอีก 12.5 เมตร

โดนัลดิอธิบายเหตุผลที่ธารน้ำแข็ละลายหายไปอย่างรวดเร็วว่า เมื่อธารน้ำแข็งละลาย พื้นที่รอบๆ ธารน้ำแข็งก็จะยิ่งขยายใหญ่ขึ้น เมื่อมีพื้นที่มากขึ้นก็ยิ่งดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้มากขึ้น ทำให้น้ำแข็งยิ่งละลายมากขึ้นไปอีก วนเป็นวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ธารน้ำแข็งที่เป็นมากกว่าแค่ธารน้ำแข็ง 

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อหลายๆ ชุมชนทั่วโลกในด้านต่างๆ ในแอฟริกายอดเขาที่มีหิมะปกคลุมน้อยลงอาจทำให้เม็ดเงินที่มาจากการท่องเที่ยวหายไป ในเปรูการลดลงของธารน้ำแข็งหมายถึงการขาดแคลนน้ำดื่มสำหรับผู้คนที่อยู่ท้ายน้ำ ในอินโดนีเซียแม้ว่าจะไม่ขาดแคลนน้ำแต่ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากัน

นอกเหนือจากสัตว์และต้นไม้รอบๆ ปาปัวจะเดือดร้อนจากการละลายของธารน้ำแข็งแล้ว ยังมีชาวเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่รอบๆ ธารน้ำแข็งและเชื่อว่าธารน้ำแข็งแห่งนี้คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นศีรษะของพระเจ้า การหายไปของธารน้ำแข็งก็เปรียบเสมือนสมองของพระเจ้าหายไป ซึ่งอาจกระทบกับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์