หนุ่มอินโดฯ เล่าประสบการณ์สุดเลวร้ายหลังถูกหลอกทำงานบ่อนพนันออนไลน์ในกัมพูชา 3 เดือน

13 ม.ค. 2568 - 06:08

  • ‘สลาเมต’ (นามสมมุติ) ชายชาวอินโดนีเซียจากจังหวัดชวาตะวันออกคนหนึ่งที่หลบหนีจากเครือข่ายพนันออนไลน์ออกมาเล่าประสบการณ์อันเลวร้ายหลังจากจากถูกบังคับให้ทำงานเป็นเวลานาน 3 เดือน

  • เรื่องราวของสลาเมตเกิดขึ้นเมื่อปี 2023 แต่เขาเล่าว่า “มันยังหลอกหลอนผมจนถึงทุกวันนี้...ผมรู้สึกกลัว เพราะเจ้านายในกัมพูชายังคงตามหาผมอยู่”

indonesian-forced-work-cambodia-gambling-ring-recalls-horror-ordeal-SPACEBAR-Hero.jpg

‘สลาเมต’ (นามสมมุติ) ชายชาวอินโดนีเซียจากจังหวัดชวาตะวันออกคนหนึ่งที่หลบหนีจากเครือข่ายพนันออนไลน์ออกมาเล่าประสบการณ์อันเลวร้ายหลังจากถูกบังคับให้ทำงานเป็นเวลานาน 3  เดือน ในระยะเวลาแค่ 4 ชั่วโมงสำหรับการเดินทางจากเมืองบาเวตไปยังสถานทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียในกรุงพนมเปญเพื่อขอความช่วยเหลือให้พาเขาเดินทางกลับบ้าน มันช่างยาวนานและน่ากลัวเหลือเกิน 

ความทรงจำอันเลวร้าย...

เรื่องราวของสลาเมตเกิดขึ้นเมื่อปี 2023 แต่เขาเล่าว่า “มันยังหลอกหลอนผมจนถึงทุกวันนี้” สลาเมตให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNA ทางโทรศัพท์ แต่ไม่ขอเปิดเผยชื่อจริงๆ ของเขา “ผมรู้สึกกลัว เพราะเจ้านายในกัมพูชายังคงตามหาผมอยู่” ชายวัย 27 ปีบอกกับ CNA  

เมื่อหวนนึกถึงวันอันเลวร้ายที่เขาหลบหนีออกจากแก๊งพนันออนไลน์ในเมืองบาเวต ซึ่งเป็นเมืองด่านพรมแดนระหว่างประเทศกัมพูชาและเวียดนาม สลาเมตเล่าว่า เขาพกแค่กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ และที่ชาร์จติดตัวไปเท่านั้น  

สลาเมตเล่าต่อว่า ในวันนั้นเขาขอเจ้านายออกมาสูบบุหรี่ หลังจากนั้นเขาก็หลบหนีโดยเรียกรถแท็กซี่ แล้วขอให้คนขับไปส่งที่เมืองหลวงซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 160 กม. “ผมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขโมยเงินจากบริษัทเพื่อจ่ายค่าเดินทางกลับบ้าน”  

สลาเมตถูกคนจัดหางานหลอกให้เขามาพบในเมืองมาลัง ซึ่งล่อลวงเขาด้วยเงินเดือน 925 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.2 หมื่นบาท) เพื่อไปทำงานในโรงงานแห่งหนึ่งในเวียดนาม และค่าอาหาร 200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6,900 บาท) ซึ่งเงินเดือนนี้สูงกว่าที่เขาเคยได้รับจากการทำงานในอินโดนีเซียมาก 

จากข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ของ ‘Statista’ เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลระบุว่า พนักงานชาวอินโดนีเซียโดยเฉลี่ยคาดว่าจะได้รับเงินเดือนสุทธิประมาณ 3 ล้านรูเปียห์ต่อเดือน (ราว 6,400 บาท) 

ช่วงนั้น สลาเมตยังว่างงานอยู่ เขาจึงตกลงรับข้อเสนอ แต่แทนที่จะถูกส่งไปทำงานที่เวียดนาม เขากลับถูกนำตัวไปที่อพาร์ตเมนต์ในเมืองบาเวต และถูกบังคับให้ไปเป็นเจ้าหน้าที่บริหารของเว็บไซต์พนันออนไลน์ในเดือนมกราคม 2023 

“ผมได้รับเงินเพียงเดือนละ 4 ล้านรูเปียห์ (ราว 8,500 บาท) และต้องทำงานมากกว่าวันละ 12 ชั่วโมง แถมในสำนักงานยังมีชายติดอาวุธ และสุนัขดมกลิ่นคอยเฝ้าอยู่” 

นอกจากนี้ เขายังได้รับมอบหมายให้จัดการธุรกรรมจากผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมการพนันออนไลน์ในอินโดนีเซียด้วย “ผมรู้รหัสผ่านธนาคารและหมายเลขรหัสลับของบริษัท ผมโอนเงินประมาณ 30 ล้านรูเปียห์ (ราว 6.4 หมื่นบาท) จากบัญชีบริษัทไปยังบัญชีธนาคารของผม หากไม่ทำเช่นนี้ ผมคงกลับบ้านไม่ได้” สลาเมตเล่า พร้อมเสริมว่าเขายังคงถูกเจ้านายเก่าในกัมพูชาคุกคามอยู่  

การทรมานทางร่างกายและจิตใจ!!!

indonesian-forced-work-cambodia-gambling-ring-recalls-horror-ordeal-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Sophie DEVILLER / AFP

ตอนที่สลาเมตไปถึงที่นั่น เขาแสดงความไม่พอใจและขอให้ส่งตัวเขากลับอินโดนีเซีย แต่นายจ้างของเขาเรียกร้องค่าปรับ 50 ล้านรูเปียห์ (ราว 1.06 แสนบาท) ทำให้เขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำงานที่นั่นต่อไป “ไม่มีข้อตกลงทางสัญญาใดๆ เลย” สลาเมต เล่า  

สลาเมตเล่าว่า ผู้ที่ทำงานร่วมกับเขาเป็นพลเมืองอินโดนีเซียถึง 80% รวมถึงเจ้านายเก่าของเขาที่เป็นคนจากจังหวัดสุมาตราเหนือด้วย  

สลาเมตทำงานและนอนในออฟฟิศ และออกไปได้เพียงกินข้าว หรือสูบบุหรี่เท่านั้น แต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยควบคุมตัวไว้ “ถ้าในตอนนั้น จิตใจผมไม่เข้มแข็งพอ ผมอาจฆ่าตัวตายไปแล้วก็ได้”  

สถานทูตอินโดนีเซียประจำกรุงพนมเปญบอกกับ CNA ว่า โดยทั่วไปแล้วชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ที่เผชิญปัญหาในกัมพูชาและได้เดินทางกลับบ้านนั้นมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี แต่หลายรายก็มี ‘สภาพร่างกายและจิตใจย่ำแย่’ 

เจ้าหน้าที่จากองค์กรสนับสนุนการดูแลผู้อพยพในจาการ์ตากล่าวว่าได้รับรายงานการละเมิดสิทธิชาวอินโดนีเซียที่ทำงานในกัมพูชาหลายครั้ง  

อารีนา วิดดา ฟาราดิส ซึ่งทำงานในแผนกให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายประจำองค์กรสนับสนุนการดูแลผู้อพยพในจาการ์ตาเผยกับ CNA ว่า “บางคนถูกใส่กุญแจมือ ถูกช็อตไฟฟ้า และถูกทุบตี ซึ่งเหตุผลของการล่วงละเมิดดังกล่าวก็แตกต่างกันไป เช่น ไม่สามารถทำงานบรรลุเป้าหมาย หรือถูกลงโทษเพราะยื่นเรื่องร้องเรียน เป็นต้น” 

“เพื่อนของผมเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งเขาเคยถูกช็อตไฟฟ้าเนื่องจากเขาไม่สามารถทำงานได้อย่างชำนาญหลังจากฝึกงานได้หนึ่งสัปดาห์ และหากเขาทำไม่ได้ในอีกสัปดาห์ข้างหน้า เขาก็ถูกขู่ว่าจะถูกช็อตไฟฟ้าอีกครั้ง และหากภายในหนึ่งเดือนเขายังคงทำไม่ได้ เขาก็ถูกขู่ว่าจะโดนย้ายไปยังเมียนมา ใครจะรู้ว่าชะตากรรมของเขาจะเป็นอย่างไรหากเขาอยู่ในเมียนมา” สลาเมต เล่า   

นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว วิดีโอของ อากุง ฮาร์ยาดี ชายจากหมู่เกาะรีเยาวัย 25 ปีเผยให้เห็น เขาถูกคุมขังในห้องเล็กๆ ในกัมพูชากำลังขอความช่วยเหลือ ได้กลายเป็นกระแสไวรัล “ผมถูกกดดัน ไม่ให้กินอาหาร และถูกบังคับให้ทำงาน ในห้องนั้นมีเพียงน้ำขวดเท่านั้น” อากุง เล่า 

เดสซี แม่ของอากุง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Detik ของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมว่า ในตอนแรกลูกชายของเธอได้รับการเสนองานในบริษัทน้ำมันปาล์มแห่งหนึ่งในมาเลเซีย โดยจะให้เงินเดือนเดือนละ 20 ล้านรูเปียห์ (ราว 4.3 หมื่นบาท) แต่เขากลับถูกนำตัวไปที่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา 

รายงานจากสถานทูตระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนของปีที่แล้ว มีพลเมืองอินโดนีเซีย 2,321 กรณีที่ประสบปัญหาในกัมพูชา ซึ่งเพิ่มขึ้น 122% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมี 1,386 กรณี อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่บันทึกไว้ 2,321 คดี มีเพียง 3 คดีเท่านั้นที่พิสูจน์ได้ว่าเป็น ‘เหยื่อการค้ามนุษย์’ 

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมปีที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียระบุว่า มีพลเมืองอินโดนีเซียจำนวนมากที่เต็มใจเลือกทำงานให้กับบริษัทการพนันออนไลน์ และบริษัทหลอกลวงเหล่านี้ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะไม่ถูกนับเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงการจ้างงานได้ 

ข้อมูลจากสถานทูตอินโดนีเซียในกรุงพนมเปญแสดงให้เห็นว่ามีชาวอินโดนีเซียในกัมพูชา 139,693 คนในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2023 ส่วนข้อมูลอีกชุดหนึ่งจากเดือนมิถุนายน 2024 เผยให้เห็นว่า 58% ของพลเมืองอินโดนีเซียในกัมพูชาระบุว่า พวกเขาทำงานในอุตสาหกรรมออนไลน์ 

เมื่อเดือนที่แล้ว จูดา นูกราฮา ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองพลเมืองอินโดนีเซียกล่าวว่า “สถานทูตอินโดนีเซียในกรุงพนมเปญต้องจัดการกับรายงานพลเมืองอินโดนีเซียที่เข้ามาขอความช่วยเหลือประมาณ 15-30 รายงานต่อวัน” 

“ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2024 สถานทูตที่นั่นจัดการคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพลเมืองอินโดนีเซียได้สำเร็จมากกว่า 2,946 คดี โดยมากกว่า 76% ของคดีเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงออนไลน์” จูดา กล่าว 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ชาวอินโดนีเซียที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ผ่านช่องทางออนไลน์กลายเป็นกระแสนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งในขณะนั้น หลายคนสิ้นหวังในการหางานและตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์