หลังจากเกิดเหตุเที่ยวบิน SQ321 ลอนดอน-สิงคโปร์ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์พร้อมด้วยผู้โดยสาร 211 คนและลูกเรือ 18 คน ตกหลุมอากาศรุนแรงลงมา 6,000 ฟุตภายในเวลาเพียงแค่ 1 นาทีเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้วจนต้องลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บกว่า 70 ราย
ผลการตรวจสอบเบื้องต้นของเที่ยวบิน SQ321 พบว่า
“เครื่องบินโบอิง 777-300ER เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วง (G-force) ‘อย่างรวดเร็ว’ ซึ่งสูงถึง 3 เท่าของโลก และระดับความสูงที่ลดลงประมาณ 54 เมตร (178 ฟุต) จึงมีแนวโน้มทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือที่ไม่ได้คาดเข็มขัดได้รับบาดเจ็บ”
กระทรวงคมนาคม (MOT) แถลงการณ์เมื่อวันพุธ (29 พ.ค.) ระบุว่า ทีมสืบสวน SQ321 ได้แก่
- สำนักงานสืบสวนความปลอดภัยด้านการขนส่ง (TSIB)
- ตัวแทนจากคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ
- องค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA)
- และ ‘โบอิง’ (Boeing) บริษัทผลิตเครื่องบิน
ไล่เรียงเหตุการณ์…เกิดอะไรขึ้นบนเที่ยวบิน SQ321 ในเวลาแค่ 1 นาทีเศษๆ บ้าง
ทีมสืบสวนได้ดึงข้อมูลในเครื่องบันทึกข้อมูลการบินและเครื่องบันทึกเสียงห้องนักบิน…เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมเวลา 15.49.21 น. (ตามเวลาสิงคโปร์) เครื่องบินลำดังกล่าวกำลังบินผ่านทางใต้ของเมียนมาที่ระดับความสูง 37,000 ฟุต และ ‘น่าจะบินผ่านพื้นที่ที่มีการไหลเวียนของอากาศที่กำลังก่อตัว’ ซึ่ง MOT อ้างถึงปรากฏการณ์สภาพอากาศ เช่น พายุฝนฟ้าคะนอง
จากนั้นแรง G ก็ผันผวนระหว่างค่า +0.44G และค่า +1.57G เป็นระยะเวลาประมาณ 19 วินาที “นี่อาจทำให้เที่ยวบินเริ่มมีการสั่นสะเทือนเล็กน้อย” MOT กล่าว นั่นหมายความว่าผู้โดยสารมีเวลาเพียง 8 วินาทีในการตอบสนองหลังจากที่นักบินเปิดสัญญาณ ‘รัดเข็มขัดนิรภัย’ ก่อนที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง
(แรง G วัดความเร่งหรือการชะลอตัวอย่างรวดเร็วโดยเปรียบเทียบกับแรงดึงปกติของแรงโน้มถ่วงบนโลก ซึ่งเป็นค่า +1G ดังนั้น เมื่อแรง G เท่ากับ +1.57G คนจะรู้สึกเหมือนว่าหนักขึ้นอีก 1.57 เท่าของน้ำหนักตัว)

ในช่วงเวลาเดียวกัน ระดับความสูงของเครื่องบินเพิ่มขึ้นอย่าง ‘ควบคุมไม่ได้’ โดยสูงถึงจุดสูงสุดที่ 37,362 ฟุต ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autopilot) จึงปรับเครื่องบินลงเพื่อถอยกลับไปอยู่ที่ 37,000 ฟุต
11 วินาที (15.49.32 น.) หลังจากการสั่นสะเทือนครั้งแรก…
นักบินเปิดสัญญาณรัดเข็มขัดนิรภัย “การเพิ่มขึ้นของระดับความสูงและความเร็วของเครื่องบินอย่างควบคุมไม่ได้น่าจะเกิดจากการที่เครื่องบินถูกกระแสลมหรือการเคลื่อนตัวของอากาศพัดผ่านขึ้นไป…ระบบอัตโนมัติจึงทำงานในช่วงเวลานี้” MOT กล่าว
8 วินาทีต่อมา (15.49.40 น.)…
เครื่องบินประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแรง G จากค่า +1.35G เป็น -1.5G ภายในระยะเวลา 0.6 วินาที แรง G เชิงลบเคลื่อนที่ตรงข้ามกับทิศทางของแรงโน้มถ่วง จึงทำให้ผู้คนรู้สึก ‘ตัวเบา’ หรือ ‘กำลังลอย’ ออกจากที่นั่งพุ่งเข้าหาเพดานห้องโดยสาร ซึ่งส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้ “นี่น่าจะส่งผลให้ผู้โดยสารที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยลอยได้” MOT กล่าว
1 วินาทีต่อมา (15.49.41 น.)…
แรง G เปลี่ยนจากค่า -1.5G กลับมาเป็นค่า +1.5G อีกครั้งในเวลา 4 วินาที ส่งผลให้เครื่องบินตกลงจาก 37,362 ฟุตเหลือ 37,184 ฟุต ส่งผลให้ผู้โดยสารทุกคนที่ถูกเหวี่ยงขึ้นจากที่นั่งก็ต้องตกลงมา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ศีรษะและกระดูกสันหลังได้
ในช่วงเวลานี้ นักบินพยายามรักษาการควบคุมเครื่องบินเพื่อรักษาเสถียรภาพ โดยยกเลิกระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ก่อนที่จะกลับมาควบคุมเครื่องบินด้วยตัวเองเป็นเวลา 21 วินาที
17 นาทีหลังเครื่องบินตกหลุมอากาศรุนแรง...
นักบินเริ่มควบคุมเครื่องได้ และบินลงตามปกติจากความสูง 37,000 ฟุตไปที่ระดับความสูง 31,000 ฟุต จากนั้นได้เปลี่ยนเส้นทางไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ เพื่อลงจอดฉุกเฉินเมื่อเวลา 16.45 น. (ตามเวลาไทย) และข้อมูลหลังจากนี้แสดงให้เห็นว่าเครื่องบินลำดังกล่าวที่มุ่งหน้าไปสิงคโปร์ไม่พบปัญหาตกหลุมอากาศรุนแรงอีกในระหว่างการเปลี่ยนเส้นทาง
“การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแรง G ในช่วงเวลา 4.6 วินาทีส่งผลให้ระดับความสูงลดลง 178 ฟุต เทียบเท่ากับอาคารสูง 19 ชั้น ซึ่งน่าจะทำให้ลูกเรือและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ” MOT กล่าว
“การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแรง G จากค่า (+) ไปเป็นค่า (-) อาจทำให้ผู้โดยสารที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยลอยขึ้นไปกระแทกกับเพดานห้องโดยสารของเครื่องบิน นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมหลังคาห้องโดยสารจึงได้รับความเสียหายอย่างมาก…รายงานที่ออกโดย TSIB นั้นมีข้อมูลที่ดีและเป็นประโยชน์ และดูเหมือนว่าผู้สอบสวนจะมาถูกทางแล้วในการค้นหาสาเหตุที่เป็นไปได้ของเหตุการณ์”
ไมเคิล ดาเนียล กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษา ‘Aviation Insight’ และสมาชิกสมาคมสืบสวนความปลอดภัยทางอากาศระหว่างประเทศ (International Society of Air Safety Investigators) กล่าว
แต่ตราบใดที่คาดเข็มขัดนิรภัย…ทุกคน (อาจ) ปลอดภัย

“ตราบใดที่เราคาดเข็มขัดนิรภัย สิ่งต่างๆ ก็ค่อนข้างปลอดภัย แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเสิร์ฟอาหารและเมื่อมีคนเข้าห้องน้ำ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง…”
ศาสตราจารย์ริโก เมอร์เคิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์กล่าวถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเหตุใดนักบินจึงใช้เวลาอย่างน้อย 19 วินาทีระหว่างการสั่นสะเทือนครั้งแรกก่อนที่จะปลดระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ นั่นก็เพราะว่า “ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติสามารถรับมือกับเหตุการณ์ตกหลุมอากาศส่วนใหญ่ได้” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
“มันแล้วแต่เคส แต่โดยปกติแล้ว นักบินมักนิยมใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (ในช่วงที่ตกหลุมอากาศ) เนื่องจากความสามารถขั้นสูงของมัน เหนือสิ่งอื่นใด ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้เครื่องบินรักษาระดับความสูง ความเร็ว และทิศทางที่ต้องการได้ แม้ว่าจะมีลมพัดผ่านและปัจจัยอื่นๆ ก็ตาม…”
ชานทานู กังกักเฮดการ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินกล่าว
นั่นคือสาเหตุที่นักบินไม่น่าจะปลดระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ยกเว้นในกรณีร้ายแรง
“นักบินต้องใช้เวลาทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเมื่อระบบอัตโนมัติถูกปลดออก การควบคุมเกือบทั้งหมดจะต้องเป็นของนักบินทั้งหมด” กังกักเฮดการ์ กล่าว