หลายสิบปีที่ผ่านมาอิหร่านสู้กับอิสราเอลอยู่ในสงครามเงาผ่านตัวแทนที่ตัวเองหนุนหลังซึ่งกระจายอยู่ทั่วตะวันออกกลาง ทั้งกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ และกลุ่มอื่นๆ แต่การโจมตีอิสราเอลครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปีที่อิหร่านโจมตีอิสราเอลโดยตรงจากแผ่นดินของตัวเอง
เกิดอะไรขึ้นในอิสราเอล
ค่ำวันเสาร์ที่ 13 เมษายน กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ลงมือโจมตีอิสราเอลภายใต้ปฏิบัติการ “สัญญาที่แท้จริง” โดยใช้ทั้งโดรนและขีปนาวุธกระหน่ำยิงเข้าน่านฟ้าอิสราเอล กินเวลาราว 5 ชั่วโมง เสียงระเบิดได้ยินในหลายเมืองของอิสราเอล รวมทั้งกรุงเทลอาวีฟ
แดเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอลเผยว่า อิหร่านใช้ขีปนาวุธข้ามทวีปกว่า 120 ลูก โดรน 120 ลำ และขีปนาวุธร่อนกว่า 30 ลูก ซึ่งยิงมาจากอิรัก ซีเรีย และเยเมนด้วย โดย 99% ถูกอิสราเอลสกัดไว้ได้ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ สหราชาณาจักร และฝรั่งเศส มีเพียงเล็กน้อยที่หลุดเข้ามาในประเทศและสร้างความเสียหายเล็ดน้อยให้กับฐานทัพอากาศเนวาติมทางตนใต้ของทะเลทรายเนเกฟ ส่วนจอร์แดนสกัดขีปนาวุธบางลูกของอิหร่านที่ผ่านน่านฟ้าของตัวเอง
มีรายงานว่าอิหร่านใช้โดรน Shahed-136 ซึ่งใช้เวลาบิน 6 ชั่วโมงจากอิหร่านมาถึงอิสราเอล ขณะที่สื่ออิสราเอลรายงานว่า อิหร่านใช้โดรนโจมตี Shahed-238 ซึ่งบินเร็วกว่า Shahed-136 ถึง 3 เท่าซึ่งมีบันทึกการบินตรงกับเหตุการณ์เมื่อค่ำวันเสาร์

เบื้องหลังอิหร่านโจมตี
อิหร่านระบุว่าการโจมตีอิสราเอลเป็นการแก้แค้นที่อิสราเอลโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในดามัสกัสของซีเรียเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 16 ราย รวมถึงนายพล โมฮัมหมัด เรซา ซาเฮด ผู้บัญชาการอาวุโสของกองกำลังกุดส์ของ IRGC อิสราเอลไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธความรับผิดชอบในการโจมตีสถานกงสุล แต่หลักฐานทั้งหมดบ่งชี้ว่าเป็นการโจมตีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับอิหร่านในภูมิภาคที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่นั้นมาอิหร่านประกาศชัดเจนว่าจะแก้แค้น
ประเทศไหนเกี่ยวข้องบ้าง
อิหร่านปล่อยโดรนและยิงขีปนาวุธจากอาณาเขตของตัวเอง ในคืนเดียวกันยังมีจรวดยิงมาจากอิรัก ซีเรีย และเยเมน โดยกองกำลังอิหร่านที่ปฏิบัติการในซีเรียและอิหร่านเป็นพันธมิตรกับกลุ่มกบฏในอิรักและเยเมน กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ซึ่งเป็นกองกำลังตัวแทนที่ทรงพลังที่สุดของอิหร่านประกาศว่าได้ยิงจรวดไปยังตำแหน่งของอิสราเอลในที่ราบสูงโกลันในช่วงเวลาเดียวกับที่อิหร่านถล่มอิสราเอล
พันธมิตรสำคัญของอิสราเอลอย่างสหรัฐฯ เข้ามาช่วยสกัดขีปนาวุธอย่างรวดเร็ว ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศว่า สหรัฐฯ ช่วยอิสราเอลสกัดโดรนและขีปนาวุธ “ได้เกือบทั้งหมด” นายกรัฐมนตรี ริชี ซูนัก ของอังกฤษเผยว่า เครื่องบินรบของกองทัพอากาศยิงทำลายโดรนของอิหร่านได้ “จำนวนหนึ่ง” โดยสกัดได้ในซีเรียและอิรัก ซึ่งกองทัพอากาศอังกฤษเข้าไปประจำการอยู่แล้วใน “ปฏิบัติการเงา” เพื่อต่อต้านกลุ่มไอเอส
ระบบป้องกันภัยทางอากาศของจอร์แดนสกัดอาวุธของอิหร่านที่บินเข้ามาในเขตน่านฟ้าได้หลายลูก (จอร์แดนมักจะวิจารณ์อิสราเอลแต่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐฯ) กองทัพอิสราเอลระบุว่าฝรั่งเศสเข้ามาช่วยอิสราเอลด้วย แต่ไม่ได้เผยรายละเอียดว่าเครื่องบินรบของฝรั่งเศสสกัดขีปนาวุธของอิหร่านหรือไม่
ปฏิกิริยานานาชาติ
การโจมตีของอิหร่านสร้างความกังวลให้นานาชาติ หลายประเทศ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และกาตาร์ ต่างเรียกร้องให้อดทนอดกลั้น อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานสหภาพยุโรปเรียกร้องให้อิหร่าน “หยุดการโจมตีทันที” อันโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติประณาม “การยกระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการโจมตีครั้งใหญ่ที่โจมตีอิสราเอลโดยสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน”
ขู่สหรัฐฯ อิสราเอล
วันที่ 14 เมษายน นายพลโมฮัมหมัด บาเกรี ผบ.ทบ. อิหร่าน เผยว่า ปฏิบัติการของอิหร่านประสบความสำเร็จและจบลงแล้ว แต่เตือนอิสราเอลและสหรัฐฯ ว่าจะมี “การตอบโต้ที่ใหญ่กว่านี้” หากมีการตอบโต้ และฐานทัพของสหรัฐฯ จะตกเป็นเป้าหากวอชิงตันสนับสนุนการดำเนินการทางทหารขงอิสราเอลต่ออิหร่าน หลังฝั่งอิสราเอลประกาศว่า “การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด”

อิสราเอลจะตอบโต้อย่างไร
ทั่วโลกกำลังจับตาดูว่าอิสราเอลจะตอบโต้การโจมตีของอิหร่านอย่างไร ซึ่งคนที่จะตัดสินคือ คณะรัฐมนตรีสงคราม เบนนี แกนตซ์ หนึ่งในคณะรัฐมนตรีสงครามระบุก่อนการประชุมว่า อิสราเอลจะ “บีบบังคับให้อิหร่านชดใช้ด้วยวิธีและเวลาที่เหมาะสมสำหรับเรา” ส่วน โยอัฟ กัลลันต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลซึ่งนั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีงครามด้วยเผยว่า ขณะนี้อิสราเอล “มีโอกาสจัดตั้งพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ต่อต้านภัยคุกคามจากอิหร่าน”
ทว่ามีรายงานว่า คณะรัฐมนตรีสงครามซึ่งนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮูนั่งเก้าอี้อยู่ด้วย ยังตกลงกันไม่ได้เรื่องเวลาและขนาดของการตอบโต้ สำนักข่าว CNN รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่อิสราเอลรายหนึ่งว่า การประชุมของคณะรัฐมนตรีสงครามจบลงโดยยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ผู้นำในอิสราเอลบางคนผลักดันให้โต้กลับอย่างหนัก อาทิ เบน กวีร์ รัฐมนตรีความมั่นคงแห่งชาติฝ่ายขวาเรียกร้องให้อิสราเอล “ไปให้สุดไปเลย” เบซาเลล สมอทริช รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเรียกร้องการตอบสนองที่ “ก้องกังวานไปทั่วตะวันออกกลางไปอีกหลายชั่วอายุคน” ด้านกระทรวงกลาโหมระบุว่า “แผนการตอบโต้ทั้งรุกและรับได้รับการอนุมัติแล้ว”
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ระบุว่า สหรัฐฯ จะไม่ช่วยอิสราเอลตอบโต้อิหร่าน
Photo by Mahmud HAMS / AFP