ลูกหลานจะได้เห็นไหม? ไม่ใช่แค่ไทย แต่โลมาอิรวดียังเสี่ยงสูญพันธุ์ไปจากโลกด้วย

3 ม.ค. 2566 - 10:18

  • ประชากรโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขงลดลงจนน่าเป็นห่วง

  • นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชา สั่งสร้างเขตอนุรักษ์ในแม่น้ำโขงความยาวราว 180 กิโลเมตร ปกป้องโลมาอิรวดี ห้ามทำประมงทุกชนิด

irrawaddy-dolphins-cambodia-laos-critically-extinction-SPACEBAR-Thumbnail

นอกจากจำนวนโลมาอิรวดีในบ้านเราเข้าขั้นน่าเป็นห่วงเหลือเพียง 14 ตัวในทะเลสาบสงขลาแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างกัมพูชาก็ประสบปัญหาประชากรโลมาอิรวดีลดลงฮวบฮาบเช่นกัน จนล่าสุดนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชามีคำสั่งให้สร้างเขตอนุรักษ์ในแม่น้ำโขงความยาวราว 180 กิโลเมตรระหว่างทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดกระแจะและจังหวัดสตรึงเตรง โดยห้ามทำประมงทุกชนิดในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อปกป้องโลมาอิรวดีจากอวนติดตา หลังจากพบโลมาอิรวดีสุขภาพแข็งแรงตายเพราะติดอวนในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อเดือนที่แล้วถึง 3 ตัว 

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ระบุว่า ปีที่แล้วมีโลมาตายทั้งหมด 11 ตัว ส่งผลให้ตัวเลขรวมตลอด 3 ปีที่ผ่านมาขยับขึ้นไปอยู่ 29 ตัว

ตัวเลขนี้ถือว่าน่าตกใจมาก เนื่องจากโลมาอิรวดีโดยเฉพาะใน 3 แม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำโขง แม่น้ำมหาคัม (อินโดนีเซีย) และแม่น้ำอิรวดี ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อ “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” (critically endangered) ขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) มาตั้งแต่ปี 2014 

การทำสำมะโนประชากรโลมาอิรวดีครั้งแรกในกัมพูชาเมื่อปี 1997 คาดว่า ประชากรโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขงมีอยู่ราว 200 ตัว แต่ในปี 2020 เหลือเพียง 89 ตัว หรือเพียง 23 ปี โลมาอิรวดีหายไปถึง 111 ตัว 

ส่วนในลาวนั้นหลังจากโลมาอิรวดีที่มีโค้ดเนมว่า ID#35 ซึ่งเป็นโลมาตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำระหว่างพรมแดนเชอเตียลที่ทอดระหว่างกัมพูชาและลาวตายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วจากการติดอวนหาปลาก็ตกอยู่ในสถานะ “สัตว์สูญพันธุ์” ทันที จากที่เคยมีโลมาอิรวดีอยู่ในแหล่งน้ำแห่งนี้ 17 ตัวเมื่อปี 1993 ก่อนจะลดลงเหลือ 7 ตัวในปี 2009 และเหลือ 6 ตัวในอีก 3 ปีต่อมา ปี 2018 เหลือ 3 ตัว  และเหลือ ID#35 เพียงตัวเดียวเมื่อปี 2021
 

อวนติดตาภัยคุกคามตัวร้าย

โลมาอิรวดีที่หลืออยู่ในกัมพูชาขณะนี้กำลังตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับเพื่อนๆ ของมันที่ตายไป โดยภัยคุกคามหลักของโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขงคือ อวนติดตาที่ถูกชาวประมงวางขวางลำน้ำเพื่อจับปลา ด้วยความที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลขนาดใหญ่ โลมาอิรวดีจึงมักจะติดอวนติดตาและจมน้ำตายในที่สุด หรือไม่ก็ทนพิษบาดแผลจากการติดอวนไม่ไหวจนออกหาอาหารไม่ได้เหมือนเจ้า ID#35 

อันที่จริงเมื่อปี 2012 รัฐบาลกัมพูชาอุมัติเขตปกป้องโลมาในพื้นที่ 180 กิโลเมตรที่ทอดยาวระหว่างแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดกระแจะไปถึงพรมแดนลาว และแบนการใช้อวนติดตา รวมทั้งการตระเวนตรวจตราตามลำน้ำโดยทีมเจ้าหน้าที่ 72 คน ทว่าในลาวไม่มีการห้ามใช้อวนดังกล่าว มีเพียงการปกป้องในพื้นที่แหล่งน้ำในแขวงจำปาสักที่เป็นที่อยู่อาศัยของโลมาอิรวดีเท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นๆ นอกแหล่งน้ำดังกล่าวซึ่งเป็นที่ที่พบโลมาอิรวดีว่ายน้ำพบการใช้อวนติดตา การปกป้องโลมาอิรวดีตามลำนำโขงที่ไหลผ่านทั้งสองประเทศจึงยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร

 

เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำทำวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลง

วิพลเผยกับ The Third Pole ว่า จำนวนประชากรโลมาอิรวดีในเชอเตียลที่ลดลงสัมพันธ์กับการเริ่มก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำดอนสะโฮงเมื่อปี 2020 ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำเชอเตียลเพียง 2 กิโลเมตร  

ส่วนทางตอนล่างของเขื่อนดอนสะโฮง วิพลเผยว่า เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำส่งผลกระทบกับประชากรโลมาอิรวดีในกัมพูชาทั้งหมด เนื่องจากเขื่อนเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำและห่วงโซ่อาหาร “มันไม่ได้ก่อให้เกิดการตายโดยตรง แต่เปลี่ยนแปลงปลาที่เป็นอาหารของโลมา” 

แผนการสร้างเขื่อนซำบอในจังหวัดกระแจะของกัมพูชาก่อให้เกิดความกังวลต่อชะตาของโลมาอิรวดีเช่นกัน หากเขื่อนนี้สร้างจะขวางกั้นแม่น้ำโขงโดยมีแนวกั้นยาว 18 กิโลเมตร และมีอ่างเก็บน้ำยาว 82 กิโลเมตร เพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในกัมพูชา 

สมมะนี รองผู้อำนวยการกรมอนุรักษ์สัตว์น้ำของกัมพูชาและเจ้าหน้าที่ประสานงานรัฐบาลที่ WWF กัมพูชาเผยกับ The Third Pole ว่า หลังสร้างเสร็จ เขื่อนดอนสะโฮงในลาวยังก่อให้เกิดการทำประมงผิดกฎหมายในเชอเตียล เนื่องจากเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำโขงเส้นหลักที่ฝูงปลาเคยรวมตัวกัน ทำให้ชาวประมงต้องออกเรือล่วงลึกเข้าไปในที่อยู่อาศัยของโลมาอิรวดี
 

โรคและเลือดชิดทำโลมาอิรวดีอ่อนแอ

รายงานของ WWF เมื่อปี 2009 ซึ่งอ้างอิงจากตัวอย่างโลมาในแม่น้ำโขงที่ตายระบุว่า โรคจากแบคทีเรียเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ รวมทั้งสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น สารปรอทและยาฆ่าแมลง ซึ่งน่าจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงจากการขุดทองและเกษตรกรรม ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของโลมาอ่อนแอลง 

ส่วนการศึกษาเมื่อปี 2018 ที่วิจัยตัวอย่างยีนจากโลมาในแม่น้ำโขงพบว่า โลมาอิรวดีมีประชากรเพียง 5.2% ของจำนวนประชากรของบรรพบุรุษเท่านั้น และยังลดลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วยทั้งในแง่ของจำนวนและความหลากหลายของยีน แล้วด้วยแหล่งพันธุกรรมร่วมกันที่มีอยู่อยงจำกัดนี้เองที่ทำให้เกิดภาวะเลือดชิด เกิดการกลายพันธุ์ที่เป็นปัญหา และการไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรายงานระบุว่า “สัทพันธ์กับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์