เรามักจะได้ยินคำพูดหนึ่งที่ว่า ‘คนไทยจะเดินทางไปไหนก็ลำบาก’ เห็นทีก็คงจะจริง จากที่ปกติเราก็ประสบกับการเดินทางที่ยากลำบากเพราะขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้ออำนวยแล้ว ล่าสุด ‘รถเมล์’ ก็ดันมาเปลี่ยนสายให้บริการ แถมฟอนท์ใหม่ที่ใช้มันช่างบางเสียเหลือเกิน สร้างภาระให้ผู้สูงอายุหรือแม้กระทั่งเราที่ต้องใช้รถเมล์ในการสัญจร
จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ วันนี้เราเลยจะพาไปดูกันว่าประเทศอื่นๆ สายรถเมล์เขายุ่งยากขนาดนี้ไหม!?
เริ่มกันที่ ‘ฮ่องกง’
สายรถเมล์ในฮ่องกงอาจจะดูซับซ้อน เพราะบัสหมายเลขเดียวกันอาจให้บริการในเส้นทางที่ต่างกันทั้งหมดเลยก็ได้ ซึ่งเหตุผลที่เลขรถเมล์มันซ้ำกัน อิงจากประวัติศาสตร์ของรถเมล์ฮ่องกงคือมันถูกดำเนินกิจการโดย 5 – 6 บริษัท และทุกบริษัทก็กำหนดเส้นทางตามใจของตัวเอง

จนกระทั่งในปี 1933 รัฐบาลฮ่องกงได้ลดจำนวนผู้ประกอบการรถเมล์ในแต่ละพื้นที่ลง แต่กว่าจะถึงเวลานั้นคนใช้รถเมล์ก็รู้และกำหนดเส้นทางต่างๆ ไว้แล้ว และไม่มีใครกล้าเปลี่ยนเส้นทางพวกนั้นเลยนอกจากมันจะซ้ำทับกันแบบจริงๆ
รถเมล์บางสายในไทยก็มีการนำตัวอักษรมาใช้ต่อท้ายเลขเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้ฮ่องกงก็ทำแต่อักษรที่พวกเขาใช้มีความหมายที่เรียกได้ว่าต่อให้ไม่รู้อะไรเลยก็สามารถเดาได้ เช่น M คือรถเมล์ที่จะวิ่งไปสุดที่สถานีรถไฟใต้ดิน (MTR ของที่นู่นนั่นเอง), P คือรถเมล์ที่จะออกมาวิ่งในช่วงพีค หรือเวลาเร่งด่วน, X คือรถเมล์ที่จอดแค่บางป้าย มาจากคำว่า Express นั่นเอง
ไกลออกมาอย่าง ‘ลอนดอน’
เดิมทีผู้โดยสารที่โดยสารรถประจำทางในลอนดอน สมัยวิคตอเรียน อาศัยการจดจำสีสันลวดลาย และเส้นทางด้วยตัวเอง จนกระทั่งเริ่มกำหนดตัวเลขครั้งแรกในปี 1906

จากนั้น จอร์จ ซามูเอล ดิกส์ จากบริษัท London Motor Omnibus สังเกตว่าเส้นทางที่ชื่อ ‘Vanguard’ ได้รับความนิยมอย่างมาก และตัดสินใจตั้งชื่อสายทั้งหมดว่า Vanguard และเพิ่มหมายเลข 1 – 5 เข้าไป สิ่งนี้ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ตระหนักได้ว่าการใช้ตัวเลขง่ายต่อการจดจำของผู้โดยสาร และเริ่มใช้ตัวเลขที่ตัวเองตั้งขึ้นมาและเป็นเช่นนี้อยู่ราว 18 ปี
ในปี 1924 ได้มีการนำพระราชบัญญัติจราจรลอนดอนมาใช้ คุณลักษณะอย่างหนึ่งของมันคือการกำหนดหมายเลขสำหรับรถโดยสารในลอนดอน และแก้ไขระบบในปี 1934 เมื่อ London Transport ก่อตั้งขึ้น และพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
รถเมล์เมลเบิร์น
การกำหนดเลขรถเมล์ในเมลเบิร์นสะท้อนถึงโซนพื้นที่ที่เคยใช้ในช่วงทศวรรษ 1980 และหมายเลขรถเมล์จะเป็นเลข 3 หลัก ส่วน 2 หลักจะเป็นรถรางหรือแทรมป์เท่านั้น

- สาย 150–199, 400–899: เส้นทางเหล่านี้ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ส่วนใหญ่พบในเขตชานเมืองตอนกลางและรอบนอก
- สาย 200–399: เส้นทางเหล่านี้เคยเป็นเส้นทางที่ดำเนินการโดยรัฐบาล (Melbourne & Metropolitan Tramways Board และ MetBus) ส่วนใหญ่พบในเขตชานเมืองชั้นใน เช่น Footscray/Sunshine, Elsternwick-Brighton, Clifton Hill และ Port Melbourne เส้นทางในพื้นที่ Doncaster/Templestowe ก็มีตัวเลขเหล่านี้เช่นกัน
- สาย 900: ในอดีตหมายเลขเส้นทางเหล่านี้ถูกใช้โดย Victorian Railways ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถโดยสารที่ประสานงานกับรถไฟในบางเส้นทาง ปัจจุบันเส้นทางที่มีหมายเลขเหล่านี้ถูกยกเลิกหรือรวมเข้ากับเส้นทางอื่นไปหมดแล้ว

เอาเข้าจริง จากที่เราดูวิธีการตั้งต้นของตัวเลขบนรถเมล์ อาจจะเริ่มมากจากความชอบส่วนตัวของแต่ละบริษัท ทว่าสุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป ‘รัฐบาล’ แต่ละประเทศก็เข้ามากำกับดูแลให้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งการจำกัดเลขเพื่อกำหนดเส้นทาง การใช้ตัวอักษรเพื่อขยายความรถต่างๆ ที่ออกมาวิ่งบนท้องถนน ทำป้ายรถเมล์ที่บอกรายละเอียดสายรถชัดเจน หรือแม้กระทั่งการจัดการ ‘เวลา’ ออกรถ ที่เราจะเห็นได้ว่าขนส่งสาธารณะของต่างประเทศจะเข้า-ออกตรงเวลามากๆ รวมถึงราคาที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
สิ่งนี้อาจไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราวของรถเมล์ แต่มันอาจหมายถึง ‘คุณภาพชีวิต’ ที่รัฐจะต้องจัดการให้เข้าที่เข้าทางเสียที