อินเดียเดินหน้าต่อไม่รอสหรัฐฯ แล้ว! เตรียมทะยานสู่ ‘ดวงอาทิตย์’ เดือนหน้า

29 ส.ค. 2566 - 06:49

  • ภารกิจอาทิตยา-แอล 1 มุ่งเป้าไปที่การศึกษาดวงอาทิตย์จาก ‘วงโคจรรอบ L1’ เพื่อสำรวจ ‘โฟโตสเฟียร์’ (ชั้นบรรยากาศล่างสุดของดวงอาทิตย์) ‘โครโมสเฟียร์’ (ชั้นบรรยากาศบางๆ รอบดวงอาทิตย์ อยู่สูงกว่าโฟโตสเฟียร์) และ ‘โคโรนา’ (บรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์)

isro-launch-solar-mission-aditya-l1-on-september-2-SPACEBAR-Thumbnail

อินเดียทะยานสู่ ‘ดวงอาทิตย์’

หลังจากภารกิจจันทรายาน 3 (Chandrayaan-3) ของอินเดียประสบความสำเร็จในการลงจอดขั้วใต้ดวงจันทร์สำเร็จเป็นชาติแรกแล้ว และภารกิจต่อไปที่องค์การอวกาศอินเดีย (ISRO) จะดำเนินก็คือ ‘การส่งยานภารกิจ ‘อาทิตยา-แอล1’ (Aditya-L1) ไปสำรวจดวงอาทิตย์ครั้งแรกของประเทศ’ โดยจะปล่อยยานออกจากฐานในศรีหริกาตาวันที่ 2 กันยายนนี้ เวลา 11.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่น)  

ภารกิจอาทิตยา-แอล 1 มุ่งเป้าไปที่การศึกษาดวงอาทิตย์จาก ‘วงโคจรรอบ L1’ (ลากรองจ์ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก = จุดสมดุลย์ของแรงโน้มถ่วงระหว่างโลกและดวงอาทิตย์) โดยจะบรรทุกอุปกรณ์ 7 ชิ้น เพื่อสำรวจ ‘โฟโตสเฟียร์’ (ชั้นบรรยากาศล่างสุดของดวงอาทิตย์) ‘โครโมสเฟียร์’ (ชั้นบรรยากาศบางๆ รอบดวงอาทิตย์ อยู่สูงกว่าโฟโตสเฟียร์) และ ‘โคโรนา’ (บรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์)
 

ยานภารกิจ ‘อาทิตยา-แอล 1’ จะทำอะไร?

ตามข้อมูลของ ISRO ระบุว่า พวกเขามีเป้าหมายที่จะรวบรวมข้อมูลเพื่อไขข้อสงสัยว่าอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศโคโรนาสูงถึงประมาณ 1 ล้านองศาได้อย่างไร ในขณะที่อุณหภูมิพื้นผิวดวงอาทิตย์ยังคงอยู่ที่มากกว่า 6,000 องศาเซลเซียส 

ISRO ได้วางแผนให้ดาวเทียมไปอยู่ในวงโคจรรัศมีรอบจุด L1 ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบหลักในการสังเกตดวงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีดาวเคราะห์ใดๆ มาบดบังการมองเห็นหรือทำให้เกิดสุริยุปราคา “มันเป็นข้อได้เปรียบในการสังเกตกิจกรรมสุริยะและผลกระทบต่อสภาพอากาศในอวกาศแบบเรียลไทม์” ISRO ตั้งข้อสังเกต 

ISRO กล่าวอีกว่า “เราคาดว่าชุดอุปกรณ์กล่องถ่ายภาพ SUIT (Solar Ultraviolet Imaging Telescope) บนยานภารกิจจะให้ข้อมูลที่สำคัญที่สุดในการทำความเข้าใจปัญหาความร้อนของโคโรนา การดีดมวลโคโรนา (CME) กระบวนการก่อนเกิดและเกิดการลุกจ้าของดวงอาทิตย์ รวมไปถึงพลวัตของสภาพอากาศในอวกาศ ฯลฯ”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์