ปัญหาซ้อนปัญหาสังคมญี่ปุ่น ‘อัตราเกิดต่ำ-อัตราตายพุ่ง’

3 มี.ค. 2566 - 07:20

  • อัตราการเสียชีวิตในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 8.9% ในปี 2022 หรือ 1.58 ล้านคน มากกว่าอัตราการเกิดเกือบสองเท่า

  • จำนวนทารกเกิดใหม่ลดลง 5.1% เหลือ 799,728 คนในปี 2022

  • ขณะอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด

japan-deaths-jumped-8.9-2022-to-almost-double-birth-total-SPACEBAR-Thumbnail
ญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่ปัญหาอัตราการเกิดต่ำอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีปัญหาอัตราการตายสูงด้วย โดยล่าสุด เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า อัตราการเสียชีวิตในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 8.9% ในปี 2022  หรือ 1.58 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการเกิดโดยรวมเกือบสองเท่า โดยตัวเลขเหล่านี้ตอกย้ำถึงผลกระทบที่จะเกิดกับสังคมสูงวัยและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

ข้อมูลเบื้่องต้นจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิต 1,582,033 คนที่เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นและชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ โดยอัตราการเสียชีวิตของประชากรในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 4.9% จากปี 2021 เป็น 8.9% 

หน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น ระบุว่า ประชากรในญี่ปุ่นที่เสียชีวิตเพราะการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีจำนวนประมาณ 72,000 คน นับตั้งแต่มีการพบการระบาดของโรคนี้ช่วงต้นปี 2020 แต่ประเด็นสำคัญคือสังคมสูงวัยของญี่ปุ่น โดยเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลได้เปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า 29% ของประชากรญี่ปุ่นมีอายุ 65 ปีหรือ 65 ปีขึ้นไป 

ขณะที่อัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิดเกือบสองเท่า โดยจำนวนทารกเกิดใหม่ปรับตัวร่วงลง 5.1% เหลือ 799,728 คนในปี 2022 โดยอัตราการลดลงเร็วขึ้นจาก 3.4% ในปีก่อนหน้า 

พูดถึงอัตราการตาย สำนักข่าวซินหัว รายงานโดยอ้างข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นว่า สถิติผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น ในปี 2022 อยู่ที่ 21,584 คน เพิ่มขึ้น 577 คน จากปี 2021 แบ่งเป็นเพศหญิง 7,041 คน ลดลง 27 คน และเป็นเพศชาย 14,543 คน เพิ่มขึ้น 604 คน  ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี ที่อัตราการฆ่าตัวตายในประชากรเพศชายพุ่งขึ้น 

อัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับค่อนข้างสูงนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในปี 2020 ขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพเป็นเหตุจูงใจของการฆ่าตัวตายที่พบมากที่สุดในปี 2022 อยู่ที่ราว 11,000คน รองลงมาได้แก่ ปัญหาครอบครัวประมาณ 4,200 คน 

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ซึ่งตระหนักดีถึงปัญหาการตายสูง การเกิดต่ำ ประกาศเดินหน้าแก้ปัญหาประชากรหดตัว โดยบอกว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข 

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งดำเนินการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการลดลงของอัตราการเกิดใหม่ แม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางการจะพยายามสนับสนุนให้ประชาชนมีลูกเพิ่มขึ้นด้วยคำสัญญามอบเงินโบนัสและผลประโยชน์ต่างๆ เพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม 

ข้อมูลการประเมินของทางการญี่ปุ่น ระบุว่า อัตราการเกิดใหม่ในประเทศร่วงลงมาถึงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว ด้วยตัวเลขไม่ถึง 800,000 คนเป็นครั้งแรก ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่รัฐบาลคาดเอาไว้ถึง 8 ปี 

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เชื่อกันว่า ญี่ปุ่นน่าจะประสบภาวะประชากรหดตัวหนักขึ้นไปอีก จากที่ปัจจุบันมีค่ามัธยฐานของอายุพลเมืองอยู่ที่ 49 ปี ซึ่งสูงเป็นอันดับสองของโลกและเป็นรองเพียงประเทศโมนาโก ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก 

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวถึงเรื่องนี้ในโอกาสกล่าวเปิดประชุมสภาสมัยแรกของปีนี้ โดยบอกว่าจะส่งแผนเพิ่มงบประมาณเกี่ยวกับการให้กำเนิดบุตรให้สูงขึ้นสองเท่าภายในเดือนมิ.ย. และจะจัดตั้งหน่วยงานใหม่ของรัฐที่รับผิดชอบงานด้านเด็กและครอบครัวในเดือนเม.ย.เพื่อมาดูแลเรื่องนี้โดยตรง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2sqmyf31rSfVmOpO6EZGIG/57d74d88931232c2c9ecd1244ac94395/Info-5-_________________________________
ขณะที่ผลสำรวจของ YuWa Population Research ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีต้นทุนการเลี้ยงเด็กสูงที่สุดเป็นอันดับสามของโลกในเวลานี้ ตามหลังจีนและเกาหลีใต้ 

ผลสำรวจของ YuWa Population Research  สอดคล้องกับรายงานขององค์การกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ที่ประเมินความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก และจัดอันดับเด็กในกลุ่มประเทศที่มั่งคั่งที่สุด เพื่อช่วยให้เห็นภาพการเลี้ยงดูเด็กๆ ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก 

รายงานฉบับนี้ ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่เด็กที่เติบโตในประเทศนี้เป็นเด็กที่มีสุขภาพร่างกายดีที่สุด โดยพิจารณาจากอัตราการเสียชีวิตของเด็กและโรคอ้วน 

เมื่อเจาะลึกลงไปที่สภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตขึ้นมา  ญี่ปุ่นก็ติดอันดับสองของโลก ซึ่งเป็นการจัดอันดับประเทศโดยดูจากพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ความปลอดภัยของการจราจร 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีอัตราของเด็กที่เป็นโรคอ้วนหรือภาวะอ้วนต่ำที่สุด อัตราการเสียชีวิตของเด็กต่ำสุด ขณะที่มลพิษทางอากาศและน้ำที่กระทบต่อเด็กก็อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเช่นกัน 

รายงานยังระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกสำหรับครอบครัว ไม่ใช่เพียงความปลอดภัยบนท้องถนน แต่อัตราของเหตุฆาตกรรมยังต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่ยูนิเซฟจัดอันดับ คิดเป็นสัดส่วน 0.2 ต่อ 1 ล้าน ขณะที่สหรัฐฯ ตัวเลขอยู่ที่ 5.3 แคนาดา 1.8 และออสเตรเลีย 0.8 

นอกจากสนับสนุนให้มีการเพิ่มจำนวนประชากรแล้ว ช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นยังออกนโยบายเสนอเงินให้ครอบครัวที่อาศัยในโตเกียวจำนวน 1 ล้านเยนต่อลูกหนึ่งคน แต่ถ้าครอบครัวไหนมีมีลูก 2 คนก็มีสิทธิ์ได้เงินสูงสุด 5 ล้านเยน โดยแลกกับการย้ายออกจากแถบเมืองหลวงของโตเกียวไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัด  ภายใต้เงื่อนไขว่าย้ายไปแล้วต้องไปทำงานที่บริษัทในจังหวัดนั้นๆ หรือไปเปิดบริษัทของตัวเอง หรือจะทำงานเดิมก็ได้ แต่ต้องทำงานแบบทางไกล 

การที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเงื่อนไขแบบนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าอย่างน้อยที่สุด ประชาชนที่รับข้อตกลงจะยังมีงานทำหาเลี้ยงตัวเองได้ ส่วนการตั้งบริษัท หรือเปิดกิจการใหม่ในท้องถิ่น ทำให้เกิดปรากฏการณ์กระจายความเจริญจากเมืองหลวงสู่ต่างจังหวัด 

เอาใจช่วยให้นโยบายต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ จะได้ไม่ต้องมาแก้ปัญหาซ้อนปัญหาแบบนี้ไปตลอด 
 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์