ขั้นกว่าของ AI ในการ ‘ทำนายอาชญากรรม’
เทคโนโลยี AI ล้ำหน้าไปอีกขั้นแล้วหลังตำรวจญี่ปุ่นเริ่มทดสอบเครือข่ายกล้องรักษาความปลอดภัยที่เสริมประสิทธิภาพด้วย AI โดยหวังว่าจะช่วยหยุดอาชญากรรมครั้งใหญ่ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น ซึ่งมีแผนเปิดตัวโครงการทดสอบในช่วงปีงบประมาณนี้ในเดือนมีนาคม 2024สำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น ระบุว่า การทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าวชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง ‘หน่วยสกัดอาชญากรรมล่าอนาคต’ (Minority Report) ในปี 2002 โดยตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ความสามารถ ‘การจดจำใบหน้า’ ของเทคโนโลยีนี้
แต่กล้อง AI จะมุ่งเน้นไปที่การจดจำรูปแบบการเรียนรู้ของเครื่องกล 3 ประเภท ได้แก่ ‘การตรวจจับพฤติกรรม’ สำหรับกิจกรรมที่น่าสงสัย ‘การตรวจจับวัตถุ’ สำหรับปืนและอาวุธอื่นๆ และ ‘การตรวจจับการบุกรุก’ สำหรับการป้องกันพื้นที่หวงห้าม
ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายบางคนยืนยันว่ากล้องที่ขับเคลื่อนด้วย AI ใหม่จะช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีวิธีการเฝ้าระวังมากขึ้น แต่คนอื่นๆ ก็กังวลเกี่ยวกับการนำอคติอัลกอริทึม (algorithmic biases) ที่ซ่อนอยู่ในกลไกมาใช้ในการทำงานของตำรวจ
ด้วยความหวาดกลัวต่อการลอบสังหารนายกฯ ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว และเหตุการณ์ความพยายามในการลอบสังหาร ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกฯ คนใหม่ของญี่ปุ่น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาแต่โชคดีที่ล้มเหลว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้ตำรวจดิ้นรนเพื่อป้องกันอาชญากรรมที่มีชื่อเสียงซึ่งมักกระทำโดย ‘ผู้กระทำผิดเพียงคนเดียว’
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังหวังว่าซอฟต์แวร์จะสามารถระบุตัวตนเหล่านี้ออกจากฝูงชนจำนวนมากและสภาวะที่เป็นเหตุให้เสียสมาธิซึ่งทำให้การระบุความเสี่ยงทำได้ยากแม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์รูปร่างของ AI จะช่วยให้ระบบตรวจจับวัตถุต้องสงสัย เช่น อาวุธปืนและอาวุธอื่นๆ (การตรวจจับวัตถุ) ในขณะที่สถานที่ที่ได้รับการป้องกันบางแห่งจะถูกตั้งโปรแกรมให้ตรวจจับผู้บุกรุกที่เป็นอันตราย (การตรวจจับการบุกรุก)
สำหรับตอนนี้ การใช้เทคโนโลยี ‘การทำนายอาชญากรรม’ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นเพียงการทดสอบเท่านั้น ซึ่งเป็นความพยายามในการประเมินความแม่นยำของกล้องที่ใช้ระบบ AI เพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบถึงคุณค่าของการนำระบบมาใช้อย่างเป็นทางการ
อิซาโอะ อิตาบาชิ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การป้องกันการก่อการร้ายกล่าวว่า “ญี่ปุ่นยังห่างไกลจากประเทศแรกที่ใช้เทคโนโลยี AI ทำนายอาชญากรรม…กล้อง AI ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย ซึ่งเทคโนโลยีตรวจจับพฤติกรรมกำลังได้รับการศึกษาโดยบริษัทญี่ปุ่น”
จากการสำรวจในปี 2019 ที่จัดทำโดยมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) ระบุว่าเทคโนโลยีกล้องรักษาความปลอดภัย AI มีการใช้งานแล้วใน 52 ประเทศจาก 176 ประเทศที่กล่าวถึงในการวิจัย
และในปีเดียวกันนนั้น บริษัท Vaak สตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่นได้เปิดตัวซอฟต์แวร์ใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อระบุตัวตนของหัวขโมยในร้านค้าตามภาษากายของพวกเขา
ตามข้อมูลของสำนักข่าว Bloomberg Quint ระบุว่า AI ตรวจจับอาชญากรของ Vaak ได้รับการฝึกฝนให้จดจำ ‘กิจกรรมที่น่าสงสัย' เช่น การกระสับกระส่าย เป็นต้น นอกจากนี้ AI ของ Vaak ยังสามารถแยกความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมปกติของลูกค้ากับ ‘พฤติกรรมอาชญากร’ ได้ เช่น การซุกสินค้าไว้ในแจ็คเก็ตโดยที่ยังไม่จ่ายเงิน จากนั้นซอฟต์แวร์ของพวกเขาจะแจ้งเตือนพนักงานถึงพฤติกรรมที่น่าสงสัยผ่านแอพสมาร์ทโฟนเมื่อพบบางสิ่งที่ผิดปกติในสตรีมกล้องวงจรปิด
แต่ทว่าซอฟต์แวร์ถูกออกแบบมาเพื่อปราบปรามการโจรกรรม รวมไปถึงการทำนายอาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้น ก็ทำให้ผู้คนแอบกังวลว่าพวกเขาอาจตกเป็นเป้าหมายอย่างไม่เป็นธรรมอันเป็นผลมาจากอคติทางเชื้อชาติและอื่นๆ
ขณะที่ การศึกษาของสถาบัน MIT ที่ตีพิมพ์ในปี 2018 ก็ระบุว่า ระบบ AI ที่กำลังเป็นที่นิยมหลายระบบนั้นแสดงการเหยียดเชื้อชาติและเหยียดเพศ แต่นักวิจัยได้กระตุ้นให้องค์กรอื่นๆ ป้อนข้อมูลที่ดีขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่ามีการกำจัดอคติเหล่านั้น
“นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มักพูดอย่างรวดเร็วว่าวิธีทำให้ระบบเหล่านี้มีอคติน้อยลงคือการออกแบบอัลกอริธึมที่ดีขึ้น…แต่อัลกอริทึมจะดีเท่ากับข้อมูลที่ป้อนไปเท่านั้น และการวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าคุณมักจะสร้างความแตกต่างได้มากขึ้นด้วยข้อมูลที่ดีกว่า” ไอรีน เฉิน นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่ร่วมวิจัยกล่าว