‘กวางนะระ’ จาก ‘สัตว์ศักดิ์สิทธิ์’ สู่ ‘ผู้รุกราน’ ที่ต้องถูกกำจัด

6 เมษายน 2567 - 01:00

japan-nara-plans-to-cull-more-sacred-deer-to-protect-farms-SPACEBAR-Hero.jpg
  • กวางนะระเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของเมืองนะระและครั้งหนึ่งถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ต้องได้รับการปกป้อง ใครฆ่ากวางมีโทษถึงตาย

  • ปี 2017 มีการกำหนดโซนเพื่อควบคุมกวางว่าโซนไหนกำจัดได้ โซนไหนกำจัดไม่ได้ และกำหนดโควตาให้ฆ่ากวางได้ปีละ 120 ตัว

  • ล่าสุดทางการเมืองนะระเสนอเพิ่มโควตากำจัดกวางและเพิ่มพื้นที่ที่สามารถฆ่ากวางได้

ลิงครองเมืองกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของลพบุรี เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับชาวลพบุรีมายาวนาน จนชาวบ้านเริ่มทนไม่ไหวกลายเป็นความขัดแย้งระหว่าง “คน” กับ “ลิง” ขึ้นมา เช่นเดียวกับที่เมืองนะระของญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการรุกรานของกวางที่เป็นสัตว์ประจำเมืองและตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว 

สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของนะระ 

กวางสายพันธุ์ชิกะเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของเมืองนะระ มีประชากรกว่า 1,200 ตัวอาศัยอยู่ในสวนสาธารณะนะระ รวมทั้งในบริเวณวัดโทไดจิที่เป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พวกมันสามารถเดินไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี 

ศาสนาชินโตเชื่อว่ากวางนะระเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีตำนานเล่าว่า เทพเจ้าสายฟ้าขี่กวางสีขาวลงมาปรากฏตัวที่เมืองนะระ แล้วบอกมนุษย์ว่านับจากนี้ไปกวางจะรายงานพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ไปยังเทพเจ้า นับแต่นั้นมากวางจึงได้รับการปกป้องอย่างดี ใครฆ่ากวางเหล่านี้มีโทษถึงตาย  

ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้กวางนะระเป็น “สมบัติทางธรรมชาติ” ในปี 1957 และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายปกป้องทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น กวางจึงออกลูกออกหลานเต็มเมือง และเริ่มกระจายตัวออกไปนอกสวนสาธารณะจนไปกัดกินพืชผลของเกษตรกรอย่าง หน่อไม้ ข้าว ผักและผลไม้  

ควบคุมประชากรกวาง

เมื่อหลายปีก่อนทางการเมืองนะระพยายามควบคุมประชากรกวางด้วยการฆ่า แต่ต้องเผชิญเสียงคัดค้านจากประชาชนทั้งในและนอกเมืองนะระ ภายหลังมีการออกมาตรการที่รุนแรงน้อยกว่าอย่างการเปิดโอกาสให้ประชาชนรับเลี้ยงกวางแล้วพากลับบ้าน แต่ก็ไม่ได้ผล 

สุดท้ายทางการเมืองนะระจึงส่งหนังสือไปยังสำนักงานวัฒนธรรมในกรุงโตเกียวขออนุญาตกำจัดกวางนะระ และได้รับอนุญาตเมื่อปี 2017 โดยมาตรการกำจัดกวางนี้ถูกนำมาใช้ร่วมกับมาตรการกำหนดโซนพื้นที่สำหรับกวางซึ่งแบ่งเป็น 4 โซน คือ  

  • เขตคุ้มครองพิเศษ ครอบคลุมพื้นที่สวนสาธารณะนะระ  
  • เขตคุ้มครองกึ่งพิเศษ อยู่รอบนอกสวนสาธารณะนะระ  
  • เขตกันชน กวางที่ทำพืชผลเสียหายจะถูกจับแล้วส่งไปศูนย์กักกันกวางที่ดูแลโดยมูลนิธิอนุรักษ์กวางนะระซึ่งเป็นองค์กรเอกชน  
  • เขตควบคุม กวางที่อยู่ในเขตนี้สามารถจับและฆ่าได้ 

ทางการกำหนดให้ฆ่ากวางนะระได้ 120 ตัวต่อปี โดยใช้กล่องกับดักขนาดใหญ่สูงระดับสะโพกผู้ชายไปตั้งในจุดต่างๆ นอกสวนสาธารณะนะระ  

สมาคมสัตว์คัดค้าน

มาตรการนี้ได้รับเสียงคัดค้าน (ทำนองเดียวกับเสียงคัดค้านการจับลิงลพบุรี) จากสมาคมหมีและป่าญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเฮียวโงะ โดย มาริโก โมริยะมะ ประธานสมาคมในขณะนั้นเผยว่า องค์กรรู้สึกว่า “การฆ่าทั้งที่ไม่จำเป็นเป็นอาชญากรรม” และว่า มาตรการรับมือควรเน้นไปที่การติดตั้งรั้วที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นรอบๆ พื้นที่เกษตรกรรมที่กวางเข้าไปสร้างความเสียหายแทน

อย่างไรก็ดี เกษตรกรบางคนมองว่าการกำจัดคือหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ เกษตรกรรายหนึ่งเล่าว่า กวางในพื้นที่ของเขากระโดดสูงถึง 2 เมตร ดังนั้นรั้วต้องสูงกว่านั้นจึงจะมีประสิทธิภาพ

อีกคนหนึ่งบอกว่า "ผมรู้ว่าพวกมันเป็นผู้ส่งสาส์นของเทพเจ้า แต่ดูเหมือนว่าพวกมันไม่ได้อยากอยู่บนภูเขา" และบอกว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้กวางมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น

japan-nara-plans-to-cull-more-sacred-deer-to-protect-farms-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Behrouz MEHRI / AFP

เพิ่มจำนวนกวางที่จะถูกกำจัด 

ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อนทางการเมืองนะระเสนอเพิ่มเพดานจำนวนกวางนะระที่จะถูกกำจัด จากที่ปัจจุบันนี้สามารถกำจัดกวางในเขตควบคุมได้ปีละ 180 ตัว นอกจากนี้ยังเสนอลดพื้นที่เขตกันชนลง หรือพูดอีกอย่างก็คือ เพิ่มพื้นที่ที่สามารถกำจัดกวางนะระ 

 โดยขณะนี้ทางการกำลังพิจารณาเรื่องตัวเลขและติดตามสถานการณ์ และหากเห็นว่าจำเป็นจะบังคับใช้มาตรการใหม่นี้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิหน้า 

กวางในศูนย์ดูแลขาดสารอาหาร 

อีกสาเหตหนึ่งที่ทางการเมืองนะระต้องเพิ่มตัวเลขกวางที่จะถูกกำจัดคือ การดูแลกวางที่ถูกจับมาจากเขตกันชนไม่ดี โดยสัตวแพทย์ที่ทำงานให้มูลนิธิอนุรักษ์กวางนะระร้องเรียนไปยังทางการเมืองนะระว่าผู้จัดการมูลนิธิเพิกเฉยต่อเรื่องที่เธอแจ้งว่ากวางราว 270 ตัวในศูนย์ดูแลกำลังจะอดอาหารตาย

เจ้าหน้าที่ของศูนย์ดูแลปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของสัตวแพทย์โดยอ้างว่า กวางหลายตัวซูบผอมเพราะอ่อนล้าตอนที่ถูกจับ หรือไม่ก็ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย 

ด้าน ยูมิโกะ โอดอนเนลล์ เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวจังหวัดนะระเผยว่า “กวางในสวนสาธารณะนะระแข็งแรงดีและมีอาหารกินอย่างดี ส่วนหนึ่งคือแคร็กเกอร์ที่นักท่องเที่ยวป้อน แต่มีรายงานว่ากวางที่ป่วยหรือบาดเจ็บในศูนย์ดูแลมกำลังมีปัญหา ดูเหมือนว่ากวางที่ศูนย์ดูแลเพิ่มจำนวนขึ้น แต่มีอาหารไม่พอหรือไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล สภาพที่นั่นไม่ค่อยดี” แต่เจ้าหน้าที่ของจังหวัดรับทราบเรื่องนี้แล้ว และได้จัดสรรเงินทุนเพิ่มเติมให้กับองค์กรอนุรักษ์แล้ว  

ไม่เห็นด้วย 

โอกิมะสะ มุระคะมิ ประธานคณะกรรมการแก้ปัญหากวางนะระพูดถึงข้อเสนอเพิ่มพื้นที่กำจัดกวางนะระว่า “หวังว่าประชาชนจะเข้าใจถึงความจำเป็นในการกำจัดกวางหากมีการอธิบายอย่างดี” 

ทว่า สึโทมุ ฮะระดะ ไกด์ที่เดินทางมาเมืองนะระหลายครั้งไม่เห็นด้วย โดยบอกว่า “ต้องหาสมดุลระหว่างโลกของธรรมชาติและความจำเป็นของคนท้องถิ่น ชุมชน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอื่นๆ สำหรับพวกเรา กวางคือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องได้รับความเคารพ และยังเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวของเมืองด้วย”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์