ญี่ปุ่นเล็งให้ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน แต่ความบ้างานของคนแดนปลาดิบอาจทำให้มันไม่เกิดขึ้น

25 ธ.ค. 2567 - 02:30

  • ทางการกรุงโตเกียวจึงลุกขึ้นมาประกาศโครงการ “ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน” เพื่อให้คนญี่ปุ่นมีเวลาปั๊มลูกกันมากขึ้น

  • ปีที่แล้วมีเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นเพียง 727,277 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาของคนญี่ปุ่นที่มักจะกดดันให้ผู้หญิงต้องเลือกระหว่าง “งาน” กับ “ครอบครัว”

 japan-pushing-4-day-working-week-but-workaholic-culture-hard-SPACEBAR-Hero.jpg

ไม่ค่ำไม่กลับบ้าน! คำนี้อาจบ่งบอกถึงวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นได้อย่างดี แต่มันอาจไม่ใช่เรื่องดี เพราะเคยมีคนเสียชีวิตเพราะทำงานหนักเกินไปมาแล้วก็หลายคน รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เล็งเห็นปัญหานี้ บวกกับช่วงหลังๆ มานี้คนญี่ปุ่นมีลูกกันน้อยลงจนประชากรลดฮวบ ทางการกรุงโตเกียวจึงลุกขึ้นมาประกาศโครงการ “ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน” เพื่อให้คนญี่ปุ่นมีเวลาปั๊มลูกกันมากขึ้น 

ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียวประกาศว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนปีหน้าเป็นต้นไปข้าราชการของกรุงโตเกียวสามารถเลือกหยุดได้ 3 วันต่อสัปดาห์ “เราจะทบทวนสไตล์การทำงาน...ด้วยความยืดหยุ่น เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครต้องหันหลังให้อาชีพของตัวเองเพื่อเหตุการณ์บางอย่างในชีวิต เช่น การคลอดหรือการดูแลลูก”  

นโยบายใหม่นี้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้คู่รักชาวญี่ปุ่นมีลูกในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับอัตราการเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์ ปีที่แล้วอัตราการมีลูกของผู้หญิงญี่ปุ่นลดลงมาเหลือ 1.2 คนในระหว่างช่วงชีวิต แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เริ่มสร้างครอบครัวอย่างหนักแล้วก็ตาม ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องการตัวเลข 2.1 จำนวนประชากรจึงจะมั่นคง 

อีกนโยบายหรึ่งของกรุงโตเกียวคือ อนุญาตให้พ่อแม่ที่มีลูกเรียนอยู่ชั้นประถมแลกเงินเดือนบางส่วนเพื่อกลับบ้านก่อนเวลาได้  

ปีที่แล้วมีเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นเพียง 727,277 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาของคนญี่ปุ่นที่มักจะกดดันให้ผู้หญิงต้องเลือกระหว่าง “งาน” กับ “ครอบครัว” 

อันที่จริงรัฐบาลญี่ปุ่นริเริ่มโครงการทำงานน้อยลงมาตั้งแต่ปี 2021 หลังนโยบายนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภา เพียงแต่ยังเป็นเพียงการขอความร่วมมือ ไม่ได้บังคับ และยังไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นถูกปลูกฝังด้วยวัฒนธรรมการทำงานหนัก 

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นระบุว่า มีบริษัทญี่ปุ่นเพียง 8% ที่อนุญาตให้พนักงานหยุดงานได้สัปดาห์ละ 3 วัน 

ทิม เครก ที่ใช้เวลากว่า 20 ปีในการสอนและวิจัยในโรงเรียนธุรกิจอันดับต้นๆ ในญี่ปุ่นเผยว่า “เหตุผลที่คนญี่ปุ่นทำงานกันจนดึกดื่นคือวัฒนธรรมและสังคม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” เนื่องจากคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับงานมาเป็นอันดับแรกเพราะมองว่า งานคือ “แง่บวกของชีวิต” แต่แรงกดดันทางสังคมก็มีส่วนเช่นกัน

“หากพวกเขากลับบ้านเร็ว เพื่อนร่วมงานจะ (ก) มองด้วยความสงสัย และ (ข) ต้องทำงานเพิ่มขึ้นในส่วนของงานเพื่อน ซึ่งไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีทั้งสองทาง”

ทิม เครก ผู้ก่อตั้ง BlueSky Academic Services

มาร์ติน ชูลต์ซ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายของ Fujitsu มองว่า ที่ทำงานคือที่ที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นส่วนใหญ่ คือที่ที่พนักงานมักจะเต็มใจอยู่นานขึ้นเพื่อช่วยทีมและเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ยาวนานของบริษัท

“การเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทก็แทบจะเท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และนั่นทำให้ชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้น แต่ไม่ใช่ชั่วโมงการทำงานที่มีประสิทธิภาพ”

มาร์ติน ชูลต์ซ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายของ Fujitsu

 japan-pushing-4-day-working-week-but-workaholic-culture-hard-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Shutterstock/VTT Studio

เดือนตุลาคมปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเผยแพร่รายงานสมุดปกขาวเกี่ยวกับปัญหาการทำงานหนักเกินไปและความเกี่ยวข้องกับความซึมเศร้า และโรคจากการทำงานหนักจนเสียชีวิต หรือ Karoshi Syndrome โดยปี 2022 คนญี่ปุ่นเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจาก Karoshi Syndrome 2,968 คน ส่วนปี 2021 มี 1,935 คน 

รายงานระบุว่า 10.1% ของผู้ชาย และ 4.2% ของผู้หญิงทำงานเกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  

ฮิโรชิ โอโนะ ศาสตราจารย์คณะทรัพยากรมนุษย์ของมหาวิทยาลัยฮิโตะสึบาชิเผยว่า “ผมคิดว่ามันต้องใช้เวลา (สำหรับการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน) ในการแทรกซึมเข้ามา เราไม่คุ้นชินกับการทำงานที่ยืดหยุ่น มันยังไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศอื่นเหมือนกัน ผมเลยคิดว่าสำหรับญี่ปุ่นมันยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง” 

ศาสตราจารย์โอโนะบอกอีกว่า บริษัทจำนวนน้อยนิดที่ใช้นโยบายทำงานสัปดาห์ละ 4 วันในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ใช่บริษัทดั้งเดิมของญี่ปุ่น เช่น Microsoft Japan ขณะที่ Panasonic หนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เปิดโอกาศให้พนักงานทำงานสัปดาห์ละ 4 วันเมื่อปี 2022 แต่กลับมีพนักงานที่ได้สิทธินี้เข้าร่วมเพียง 150 จาก 63,000 คนเท่านั้น  

ในปีเดียวกันนี้องค์กรไม่แสวงกำไรอย่าง 4 Day Week Global ทำแคมเปญทดลองทำงาน 4 วันโดยมีหลายบริษัททั่วโลกเข้าร่วม ผลปรากฏว่า กว่า 9 ใน 10 ของพนักงานที่เข้าร่วมต้องการทำงาน 4 วันต่อไป เนื่องจากวิธีนี้ทำให้พวกเขามีสุขภาพกายและใจดีขึ้น รวมถึงความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงาน และเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตโดยรวม อีกทั้งระดับความเครียด ความเหนื่อยล้า และความขัดแย้งระหว่างงานกับครอบครัวยังลดลงด้วย โดยผู้เข้าร่วมให้คะแนนประสบการณ์การทดลองของตัวเองที่ 9.1 จาก 10 คะแนน 

AFP / CHARLY TRIBALLEAU

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์