ทีมสำรวจของญี่ปุ่นเผยว่า ก้อนแมงกานีสซึ่งเป็นก้อนแร่ก้นทะเลที่อุดมไปด้วยโลหะหายากมากมายกว่า 200 ล้านตันนั้นอยู่ลึกลงไปในน้ำทะเลลึกในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น ห่างจากโตเกียวไปทางตะวันออกเฉียงใต้เกือบ 2,000 กิโลเมตร
ขณะนี้ ทีมงานมีแผนเริ่มดำเนินการทดลองทำเหมืองแร่ซึ่งมีโคบอลต์และนิกเกิลในปริมาณมากจากแหล่งมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงต้นปี 2025 โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์
ตามประกาศของมหาวิทยาลัยโตเกียวและมูลนิธินิปปอนเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนระบุว่า ก้อนแมงกานีสที่อุดมไปด้วยโคบอลต์ นิกเกิล และโลหะหายากอื่นๆ ถูกพบกระจุกตัวอยู่ที่พื้นทะเลใกล้กับเกาะมินามิ-โทริชิมะ ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ทางตะวันออกสุดของญี่ปุ่น
ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนเพื่อนำทรัพยากรแร่ที่กระจัดกระจายอยู่ก้นทะเลที่ระดับความลึกระหว่าง 5,200-5,700 เมตรจากเกาะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะโอกาซาวาระ
จากการสำรวจซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 10,000 ตารางกิโลเมตร นักวิจัยคาดการณ์ว่ามีก้อนแมงกานีสประมาณ 230 ล้านตัน ก้อนแมงกานีสดังกล่าวคาดว่าประกอบด้วยโคบอลต์ประมาณ 610,000 ตัน และนิกเกิลประมาณ 740,000 ตัน โดยทั่วไปจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 5 ถึงหลายสิบเซนติเมตร
ในการดำเนินการทดลองที่คาดว่าจะเริ่มในปี 2025 นักวิจัยวางแผนที่จะรวบรวมก้อนแมงกานีสประมาณ 2,500 ตันต่อวันโดยตั้งเป้าว่าจะได้ 3 ล้านตันต่อปี
ทั้งนี้ โคบอลต์ นิกเกิล และโลหะหายากอื่นๆ ถูกนำมาใช้ในยานพาหนะไฟฟ้า สมาร์ทโฟน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ซับซ้อน แต่ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าเพราะทรัพยากรเหล่านั้นกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ เช่น แอฟริกาและออสเตรเลีย
ยาสุฮิโระ คาโตะ ศาสตราจารย์ด้านทรัพยากรธรณีแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า “นิกเกิลและโคบอลต์เป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งในแง่ของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ...”