เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย! ซากุระบางสายพันธุ์เลยทนไม่ไหว
ในขณะที่ญี่ปุ่นเตรียมการเฉลิมฉลองประจำปีเพื่อต้อนรับฤดูกาลการมาถึงของดอกซากุระ ทว่ารายงานฉบับใหม่ที่ออกมาอาจทำหลายคนเศร้า เพราะ “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจทำให้พันธุ์ซากุระที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของญี่ปุ่นในฤดูซากุระสูญพันธุ์ในบางส่วนของประเทศภายในปี 2100”
หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยชี้ให้เห็นว่า “ญี่ปุ่นเผชิญกับฤดูหนาวที่อบอุ่นที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ และภาวะโลกร้อนอาจทำลาย ‘ต้นซากุระพันธุ์โซเมอิ-โยชิโนะ’ จากนครมิยาซากิ นครนางาซากิ และคาโงชิมะในคิวชู ซึ่งเป็นเกาะหลักทางใต้สุดของญี่ปุ่นในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ
“ซากุระพันธุ์โซเมอิ-โยชิโนะจะหลับใหลในฤดูใบไม้ร่วง และต้องใช้เวลากระตุ้นสภาพอากาศให้หนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวเพื่อทำให้ซากุระกลับมาบานอีกครั้ง หากไม่มีอุณหภูมิที่หนาวเย็นต่ำกว่า 5 องศาฯ ซากุระจะไม่ตื่นจากการหลับใหลและไม่สามารถออกดอกได้”
สำนักข่าว ANN News รายงาน
แม้ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นและผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศญี่ปุ่นจะเป็นสาเหตุของความกังวลร้ายแรง แต่ดอกซากุระพันธุ์อื่นก็สามารถทดแทนพันธุ์โซเมอิ-โยชิโนะอันเป็นที่รักได้
“ฉันรู้ว่าปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นแล้วทางตอนใต้ของคิวชู ซากุระไม่ได้บานอย่างเต็มที่เพราะดอกไม้เหล่านี้ต้องการอากาศหนาวอย่างน้อย 1 เดือน แต่ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพันธุ์โซเมอิ-โยชิโนะ และมีพันธุ์อื่นๆ ที่ทนทานหรือเหมาะสมกับสภาพอากาศที่อุ่นกว่า” นาโอโกะ อาเบะ นักข่าวและนักเขียนสารคดีบอกกับสำนักข่าว South China Morning Post (SCMP)
อาเบะเสริมว่า “เช่นเดียวกับการพยายามรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือชะลอความเร็ว ถึงเวลาแล้วที่ชาวญี่ปุ่นจะต้องปลูกต้นซากุระที่หลากหลายมากขึ้นและเลิกคิดว่าโซเมอิ-โยชิโนะเป็นซากุระเพียงพันธุ์เดียว หากเรามีความหลากหลายมากขึ้น เราก็จะสามารถเพลิดเพลินกับซากุระได้แม้ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังดำเนินไป”
ปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาติดตามการบานของต้นซากุระทั่วประเทศอีกครั้ง โดยมีรายงานการบานครั้งแรกบนเกาะมิยาโกจิมะของจังหวัดโอกินาว่าในวันที่ 5 มกราคม 2024 ซึ่งเร็วกว่าปีที่แล้ว 12 วัน ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ซากุระจะบานครั้งแรกในโตเกียวในวันที่ 18 มีนาคมซึ่งเร็วกว่าปีที่แล้ว 4 วัน และเร็วกว่าในช่วงทศวรรษ 1960 ที่บานวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในเมืองหลวง
อย่างไรก็ดี สภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้ในปีนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจตลอดจนพืชและสัตว์ในท้องถิ่น โดยพบว่าสกีรีสอร์ทฤดูหนาวทางตอนเหนือนั้นมีหิมะน้อยกว่าฤดูหนาวปกติมาก ขณะที่หงส์อพยพไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ในรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเร็วกว่าปกติ 3 สัปดาห์
บางทีคนญี่ปุ่นต้องเรียนรู้ที่จะปลูกซากุระพันธุ์อื่นๆ ที่เหมาะกับสภาพอากาศที่อุ่นขึ้นด้วย

“นอกเหนือจากความท้าทายด้านสภาพอากาศแล้ว ซากุระพันธุ์โซเมอิ-โยชิโนะยังเผชิญกับภัยคุกคามจากการแพร่กระจายของด้วงหนวดยาวที่เชื่อกันว่าเข้ามาในญี่ปุ่นจากการขนส่งสินค้าบนเรือจากส่วนอื่นๆ ของเอเชีย โดยเฉพาะจีน” เควิน ชอร์ต นักธรรมชาติวิทยาและอดีตศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สารสนเทศโตเกียวกล่าว
“ต้นซากุระโซเมอิ-โยชิโนะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในญี่ปุ่นมานานแล้ว แต่พวกมันถูกผสมข้ามสายพันธุ์ขึ้นครั้งแรกจากพันธุ์อื่นๆ ในช่วงปลายยุคเอโดะ (ปี 1603-1868) และก่อนหน้านั้นผู้คนก็ชื่นชอบสายพันธุ์พื้นเมืองที่หลากหลายมากขึ้น…ต้นไม้เหล่านี้ได้รับความนิยมเนื่องจากเติบโตอย่างรวดเร็ว และดอกไม้ก็บานก่อนที่ใบไม้จะผลิใบ ทำให้เกิดเป็นสีชมพูที่น่าทึ่ง” ชอร์ตกล่าวเสริม
ชอร์ตยังบอกอีกด้วยว่า “แต่หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อพันธุ์ซากุระทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ผมค่อนข้างมั่นใจว่าผู้คนจะสามารถปลูกต้นซากุระต้นใหม่ที่สามารถทนต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ หรือพวกเขาสามารถกลับไปปลูกพันธุ์ที่เคยเติบโตที่นั่นในอดีต”
อาเบะเสริมว่า “ไม่น่าเชื่อว่าพื้นที่บางส่วนของญี่ปุ่นจะไม่มีดอกไม้ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของชาติ คนญี่ปุ่นอาศัยอยู่กับซากุระมานานกว่า 1,000 ปี ซากุระเป็นผู้พิทักษ์ชีวิตของผู้คน ในสมัยโบราณ ชาวนาเชื่อว่าซากุระจะปกป้องนาข้าว และเมื่อซากุระบาน ชาวนาก็จะรู้ว่านี่ถึงเวลาหว่านเมล็ดข้าวแล้ว ขณะที่ชาวประมงเองก็จะรู้ว่าตอนนี้ถึงเวลาตกปลาแล้วเมื่อดอกบาน”
“ซากุระเป็นสัญลักษณ์ของทุกแง่มุมของชีวิตและฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนญี่ปุ่น” แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องพันธุ์โซเมอิ-โยชิโนะเสมอไป”
อาเบะกล่าว
จากข้อมูลของอาเบะเผยว่า “มีซากุระภูเขาป่าหรือพันธุ์สำหรับเพาะปลูกที่แตกต่างกัน และแต่ละภูมิภาคก็มีซากุระอยู่ตามสถานที่ เช่น ทุ่งนาหรือใจกลางหมู่บ้าน”
“ปัญหาในปัจจุบันก็คือ เนื่องจากซากุระพันธุ์โซเมอิ-โยชิโนะมีความโดดเด่นทั่วทั้งญี่ปุ่น ผู้คนจึงเชื่อมโยงซากุระกับพันธุ์โซเมอิ-โยชิโนะ และสื่อส่วนใหญ่ก็กล่าวถึงพันธุ์นี้เพียงพันธุ์เดียวเท่านั้น เราจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ผู้คนเกี่ยวกับประโยชน์ของความหลากหลาย”
Photo by Charly TRIBALLEAU / AFP