มีรายงานว่าผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นจำนวนมากหันมาซื้ออาหาร ‘หมดอายุ’ หรืออาหารที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานซึ่งมักจะมีส่วนลด เนื่องจากราคาข้าวของพุ่งสูงขึ้นในประเทศ ขณะที่ร้านค้าบางแห่งในญี่ปุ่นรายงานว่า ยอดขายสินค้าลดราคาที่หมดอายุ ใกล้วันหมดอายุ หรือมีบรรจุภัณฑ์เสียหายเพิ่มขึ้น
Ecolo Marche ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยในเขตอาดาชิ โตเกียว มีชั้นวางสินค้าที่ระบุว่า ‘หมดอายุ’ ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่บนป้ายราคา โดยซูเปอร์มาร์เก็ตดังกล่าวเปิดในปี 2019 และขายช็อกโกแลตในราคา 15 เยน (3 บาท) น้ำแร่ราคา 11 เยน (2 บาท) และน้ำสลัดราคา 59 เยน (14 บาท) ขณะที่ Rakuten ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ของญี่ปุ่นขายช็อกโกแลตแท่งละ 260 เยน (62 บาท) น้ำแร่ขวดละ 130 เยน (31 บาท) และน้ำสลัด 270 เยน (64 บาท)
เจ้าของร้าน ยูซุเกะ โอกาตะ บอกกับหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นว่า ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว เมื่อราคาของเริ่มสูงขึ้น การใช้จ่ายเฉลี่ยของลูกค้าต่อคนที่นี่เพิ่มขึ้น 1.5 - 2 เท่า
รายงานของหนังสือพิมพ์ The Asahi Shimbun ระบุว่า โอกาตะได้ชิมผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ติดฉลากว่าผลิตภัณฑ์หมดอายุ และเตือนลูกค้าเกี่ยวกับวันหมดอายุ
จากข้อมูลของสำนักงานอาหารสิงคโปร์ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับวันหมดอายุเท่านั้น โดยวันที่ ‘ควรบริโภคก่อน (Best Before)’ ใช้สำหรับอาหารที่มีอายุการเก็บรักษานานกว่า แต่ระบุว่าอาหารจะมีคุณภาพดีที่สุดเมื่อใด ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ติดว่า ‘ใช้ก่อน (Use-by)’ นั้นมีไว้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เน่าเสียง่าย เช่น นมและโยเกิร์ต ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรรับประทานเกินวันที่ระบุไว้
Maruyasu เครือซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ลดราคาใกล้วันหมดอายุหรือในบรรจุภัณฑ์เสียหายในโตเกียวและไซตามะ ระบุว่า ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
จำนวนสมาชิกของซูเปอร์มาร์เก็ต Kuradashi ซึ่งเป็นมาร์เก็ตออนไลน์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ประมาณ 3,300 รายการในราคาถูกรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใกล้กมดอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยมีสมาชิกในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบเป็นรายปี
“จำนวนเมมเบอร์เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น นอกเหนือจากการแพร่ระบาดของโควิด-19” ร้านกล่าว
ตามรายงานของ The Japan Times โดยอ้างอิงผลการสำรวจโดยบริษัทวิจัยสินเชื่อธนาคารข้อมูลเทย์โคกุ จำนวนผลิตภัณฑ์อาหารในเดือนมิถุนายนที่ขึ้นราคาหรือคาดว่าจะขึ้นราคาในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 มีจำนวนถึง 29,106 รายการ เกินกว่าที่คาดการณ์ในปี 2022 ที่ 25,768 รายการ
บริษัท Yamazaki Baking บริษัทอาหารรายใหญ่ของญี่ปุ่น ขึ้นราคาเฉลี่ย 7% สำหรับสินค้า 227 รายการในเดือนกรกฎาคม บริษัทผู้ผลิตอาหาร Nisshin Seifun Welna ขึ้นราคาแป้งเค้กขนาดด 1 กิโลกรัมจาก 329 เยน (79 บาท) เป็น 337 เยน (81 บาท) มีรายงานว่าการขึ้นราคาอาจเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลง
ในการสำรวจออนไลน์ที่ดำเนินการในเดือนตุลาคม ร้าน Kuradashi ได้สอบถามชายและหญิงมากกว่าา 3,000 คนที่มีอายุระหว่าง 20 - 80 ปีในญี่ปุ่นว่าค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างไร
ผู้ตอบแบบสอบถาม 92.8% กล่าวว่า พวกเขา ‘ไม่สนใจรูปลักษณ์ (ของผลิตภัณฑ์) ตราบใดที่ไม่มีปัญหากับรสชาติหรือคุณภาพ’ ในขณะที่ 70% กล่าวว่า พวกเขา ‘เต็มใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานหรือใกล้จะหมดอายุ’ เพราะพอใจกับราคาที่ถูกกว่า
มิกะ โอโนะเดระ วัย 44 ปี บอกกับ The Asahi Shimbun ว่า เธอเริ่มใช้บริการร้าน Kuradashi เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวของเธอที่มีสมาชิก 9 คน ซึ่งค่าอาหารในครัวเรือนต่อเดือนของเธอลดลง 10,000 เยน (ราว 2,400 บาท)
“ฉันให้ความสำคัญแค่กับวันที่หมดอายุแบบ Use-by” เธอกล่าวพร้อมเสริมว่า กฎเกี่ยวกับวันหมดอายุในญี่ปุ่นนั้นเข้มงวดมากจนเธอไม่สนใจว่าผลิตภัณฑ์บางอย่างจะเลยวันหมดอายุไปแล้วหนึ่งสัปดาห์หรือนานกว่านั้น
Photo by Philip FONG / AFP