จากวิดีโอที่เป็นไวรัลใน TikTok ซึ่งพูดถึงเทรนด์ใหม่วัยรุ่นญี่ปุ่นอย่าง ‘ไล่อันเฟรนด์’ โดยวัยรุ่นญี่ปุ่นจะลบเพื่อนออกทั้งหมดในช่องทางโซเชียลของตัวเอง และเริ่ม ‘หาเพื่อนใหม่’ หรือไม่ก็เปลี่ยนแอคเคาท์โซเชียลมีเดียไปเลย
ในคลิปนี้ได้มีการไปสัมภาษณ์ทั้งผู้ที่เป็นคนไล่ลบเพื่อน และคนที่โดนลบเพื่อนด้วย ซึ่งเหตุผลหลักๆ ของการลบมาจากการที่เพื่อนที่พวกเขามีอยู่นั้นไม่ได้พูดคุย หรือติดต่อกันอีก จึงได้ทำการลบและไปหาเพื่อนใหม่แทน
เทรนด์แบบนี้อาจจะมองได้ว่าคนญี่ปุ่นดูจะชอบเข้าสังคม ชอบทำความรู้จักกับคนแปลกหน้า ทว่าแท้จริงแล้วพวกเขาสบายใจที่จะโลดแล่นอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียขนาดนั้นเลยหรือ?
ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ โซเชียลมีเดียถือเป็น ‘ราชา’ ดังที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า SNS (Social Networking Services) และสมาร์ทโฟนที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้ SNS บูมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่ล่าสุดกระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่นได้จัดทำแบบสำรวจเพื่อตรวจสอบว่าผู้คนใช้ SNS ทำไม และอย่างไร จากผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจ 4 ประเทศ (ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ และเยอรมนี) โดยถามว่า ‘สบายใจที่ใช้ SNS เพื่อโพสต์ความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง’

ผลการสำรวจพบว่า ชาวญี่ปุ่น 17% รู้สึกสบายใจกับการใช้ไลน์ (LINE) และใช้บ่อยที่สุด ตามมาด้วยเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์เดิม) 7.7% เฟซบุ๊ก 5.3% และอินสตาแกรม 3.9% เมื่อเปรียบเทียบไลน์กับแอปฯ อื่นๆ แล้วพบว่าที่ชาวญี่ปุ่นสบายใจกับการโพสต์ข้อมูลบนไลน์เนื่องจากผู้ใช้รู้จักกันในชีวิตจริงอยู่แล้ว ขณะที่ชาวญี่ปุ่นไม่ถึง 20% เห็นพ้องว่าพวกเขารู้จักเพื่อนใหม่ผ่าน SNS
-แล้วชาวญี่ปุ่นใช้ SNS ทำอะไร?-
มากกว่า 30% ตอบว่าพวกเขาใช้ SNS ในการรับข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน, การรวบรวมข้อมูล, ฆ่าเวลา ขณะที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่าโซเชียลมีเดียเป็นเพียงช่องทางในการอ่านข้อมูล ไม่ใช่สถานที่พบปะสังสรรค์หรือพบปะผู้คน ประกอบกับผลการสำรวจนี้อนุมานได้ว่าเกิดจากการขาดความไว้วางใจระหว่างบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
และนี่คือภาพรวมของ 4 ประเทศที่ทำการสำรวจ ด้วยชุดคำถามต่อไปนี้:
-ฉันสามารถไว้วางใจคนที่พบทางออนไลน์ได้-
- สหราชอาณาจักร 68.3%
- สหรัฐฯ 64.4%
- เยอรมนี 46.9%
- ญี่ปุ่น 12.9%
-ฉันแยกแยะคนที่พบทางออนไลน์ได้ระหว่างคนที่น่าเชื่อถือ และไม่น่าเชื่อถือ-
- สหราชอาณาจักร 71.6%
- สหรัฐฯ 66.7%
- เยอรมนี 57.1%
- ญี่ปุ่น 20.6%

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์แบบออฟไลน์ (Offline) พบว่าผู้เข้าร่วมชาวญี่ปุ่นเพียง 33.7% เท่านั้นที่เห็นด้วยว่าพวกเขา ‘สามารถไว้วางใจคนส่วนใหญ่ได้’ ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีเกิน 60% นอกจากนี้อีกสามประเทศยังมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการแยกแยะคนที่น่าเชื่อถือแบบออฟไลน์ โดยกว่า 70% มีความมั่นใจ ขณะที่ชาวญี่ปุ่นมีเพียง 36.6% เท่านั้นที่มั่นใจ โดยเหตุผลที่ไม่ไว้วางใจเพื่อนบนโลกออนไลน์ครอบคลุมทุกอายุ อิงจากปัญหาหลายอย่าง เช่น ขอรับบริจาคออนไลน์ ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าแม้ว่าแบบสำรวจนี้จะตรงตามเทรนด์ที่เป็นอยู่ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นอยู่เสมอ เช่น ผู้คนจำนวนมากที่ใช้เอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) เพื่อยืนยันความเชื่อของตัวเองในมิตรภาพที่พวกเขาสร้างทางออนไลน์ ขณะที่คนอื่นๆ บอกว่า แค่เพราะว่าเขาไม่เชื่อข้อมูลส่วนบุคคลบนโซเชียลก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่ชอบผู้ติดตาม หรือไม่ชอบพูดคุยกับคนเหล่านั้น