ญี่ปุ่นผุดไอเดียสร้างแอปฯ AI ตรวจสุขภาพ ‘แมว’ ไม่ต้องเสียเวลาไป รพ.

14 มิ.ย. 2567 - 09:40

  • ‘แคร์โลยี’ (Carelogy) สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิฮอน ได้พัฒนา CatsMe! ขึ้นมาด้วยการเทรนแอปฯ กับรูปภาพแมวกว่า 6,000 รูป

  • มีลูกค้าใช้งานแอปฯ นี้มากกว่า 230,000 รายนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว

  • ขณะที่นักพัฒนากล่าวว่า “มันมีความแม่นยำมากกว่า 95%...”

japans_beloved_cats_get_healthcare_help_from_ai_SPACEBAR_Hero_7bbe6effc8.jpg

มายูมิ คิตากาตะ ชาวญี่ปุ่นวัย 57 ปีกลายเป็นผู้ใช้รายแรกๆ ของ ‘CatsMe!’ แอปพลิเคชันสมาร์ทโฟนที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่สามารถบอกได้ว่าตอนนี้แมวของเรากำลังรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งช่วยลดการคาดเดาว่าเมื่อใดที่จำเป็นไปพบสัตวแพทย์ 

คิตากาตะเลี้ยงแมวชื่อ ‘จี้’ มาหลายปีแล้ว แต่เธอมีความกังวลเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของจี้ เพราะมันชื่นชอบการกินขนมต่างๆ และยังชอบกินแคทนิป หรือกัญชาแมวมากเกินไปด้วย ดังนั้นเพื่อช่วยให้จี้มีชีวิตอยู่นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คิตากาตะจึงหันมาพึ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 

“จี้อยู่ในวัยที่โรคต่างๆ จะเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ การที่เราสามารถปรึกษาสัตวแพทย์ได้ขณะเดียวกันก็ยังช่วยย่นเวลาการเดินทางไปโรงพยาบาลสัตว์จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับจี้และฉัน” คิตากาตะ เล่า

แม้ว่าสัตว์เลี้ยงจะเป็นส่วนหนึ่งของหลายครอบครัวทั่วโลก แต่สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ก็มีบทบาทที่เกินปกติในญี่ปุ่น เนื่องจากจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นและอัตราการเกิดที่ลดลง  

สมาคมอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งญี่ปุ่นประเมินว่า มีสัตว์เลี้ยงจำพวกแมวและหมาเกือบ 16 ล้านตัวในประเทศเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมากกว่าจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียอีก 

‘แคร์โลยี’ (Carelogy) สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิฮอน ได้พัฒนา CatsMe! ขึ้นมาด้วยการเทรนแอปฯ กับรูปภาพแมวกว่า 6,000 รูป ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าใช้งานแอปฯ นี้มากกว่า 230,000 รายนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว “มันมีความแม่นยำมากกว่า 95%...” นักพัฒนากล่าว 

คาซูยะ เอดามูระ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนิฮอนกล่าวว่า สัตวแพทย์เช่นเขาสามารถบอกได้ในระดับหนึ่งว่าสัตว์เจ็บปวดหรือไม่ แต่มันเป็นงานที่ยากกว่าสำหรับเจ้าของที่ต้องมาคาดเดาเอง 

“สถิติของเราแสดงให้เห็นว่าแมวที่มีอายุมากมากกว่า 70% เป็นโรคข้ออักเสบหรือปวด แต่มีเพียง 2% เท่านั้นที่ไปโรงพยาบาลจริงๆ ดังนั้น แทนที่จะใช้การวินิจฉัยขั้นสุดท้าย เราจึงใช้แอปฯ เป็นเครื่องมือในการแจ้งให้เจ้าของทราบว่าสถานการณ์ของแมวในตอนนี้อยู่ในภาวะปกติหรือไม่" เอดามูระ กล่าว 

คิตากาตะและจี้อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ใจกลางโตเกียว เธอเล่าว่าเธอติดตามการเข้าห้องน้ำของจี้ และใช้แอปฯ เพื่ออ่านใบหน้าของจี้ในแต่ละวัน 

คิตากาตะเล่าอีกว่าเธอเลี้ยงแมวมาตั้งแต่ตอนอายุ 20 กลางๆ ซึ่งรวมถึงเจ้าเหมียวโซราน แมวลายสีน้ำตาลที่ตายไปเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วด้วยโรคมะเร็งตอนอายุเพียง 8 ขวบ “ถ้าฉันสังเกตเห็น บางทีเราอาจจะรักษามะเร็งได้เร็วกว่านี้หรือทำอะไรสักอย่าง ซึ่งมันจะช่วยได้ แต่สัตวแพทย์ก็ไม่รู้” คิตากาตะเล่าทั้งน้ำตา “ฉันอาจจะสามารถช่วยมันได้”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์