‘เจฟฟ์ เบโซส’ กับธุรกิจ Amazon ในช่วงขาลงเศรษฐกิจโลก

18 พ.ย. 2565 - 09:18

  • ‘เจฟฟ์ เบโซส’ ผู้ก่อตั้งแอมะซอนประกาศบริจาคทรัพย์สินส่วนใหญ่ให้กับการกุศล

  • เบโซส บริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ ‘ดอลลี พาร์ตัน’ ร่วมสมทบทุนช่วยผลิตวัคซีนโมเดอร์นา

jeff-bezos-amazon-lay-off-thousands-workers-SPACEBAR-Main
ตอนนี้หลายบริษัทในหลายภาคธุรกิจพยายามลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปากท้องของผู้บริโภคทั่วโลก แรงกระเพื่อมนี้ส่งผลกระทบถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกทางออนไลน์อย่าง Amazon อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
 
ล่าสุด Amazon บริษัทค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตันขงสหรัฐฯ ประกาศปลดพนักงานประมาณ 10,000 คน โดยจะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัทปรับตัวร่วงลงทันที 1.33% สู่ระดับ 99.44 ดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ (14 พ.ย.) 
 
Amazon กลายเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันขนาดใหญ่รายล่าสุด ที่ปลดพนักงานตามหลังบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Meta และ Twitter ซึ่งในกรณีของ Amazon เป็นการเตรียมรับมือกับการเติบโตที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และภาวะถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ 
 
การปลดพนักงานครั้งนี้ ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของ Amazon นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และบุคลากรที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดอยู่ในฝ่ายธุรกิจอุปกรณ์คือ ระบบผู้ช่วยเสมือน กับแผนกลำโพง เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยแผนกค้าปลีก และทรัพยากรบุคคล 

การปลดพนักงานประมาณ 10,000 คนครั้งนี้ คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของจำนวนพนักงาน Amazon ที่มีทั่วโลก ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. ปี 2021 ระบุว่า Amazon มีพนักงานที่ทำงานเต็มเวลาทั่วโลกทั้งสิ้นประมาณ 1.6 ล้านคน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1Zu20g7gqbTt4y0FMZEU0T/da597efe830c63cc056afc263a7795c1/SPB_temp-info-2-01
ส่วนเจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง Amazon ซึ่งปัจจุบันครองตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลก ประกาศว่า เขาและแฟนสาวคือ ลอเรน ซานเชซ เตรียมจะบริจาคทรัพย์สินส่วนใหญ่ให้กับการกุศล เช่น ให้นำไปใช้เพื่อพัฒนาด้านสภาพแวดล้อมและสังคม แม้จะไม่ได้ระบุตัวเลขทรัพย์สินที่ชัดเจน แต่ตอนนี้เบโซส มีทรัพย์สินประมาณ 1.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

การแสดงเจตจำนงแบบนี้ของเจ้าพ่อ Amazon มีขึ้นหลังจากเหล่ามหาเศรษฐีของโลกเริ่มวางแผนที่จะบริจาคทรัพย์สินให้กับองค์กรการกุศลกันมากขึ้น รวมทั้ง บิล เกตส์ อภิมหาเศรษฐีร่ำรวยติดอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ที่วางแผนบริจาคทรัพย์สินมากกว่า 700,000 ล้านบาทให้กับการกุศล 
 
เมื่อปี 2021  เบโซส ประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของ Amazon โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้เวลากับงานการกุศลและโครงการอื่นๆ มากขึ้น โดยเขาได้จัดตั้งกองทุนเบโซส เอิร์ธ ฟันด์ พร้อมบริจาคเงินมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้เป็นเงินตั้งต้นเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
 
นอกจากนี้ ยังบริจาคเงิน 510.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อการกุศลอื่นๆ ล่าสุด เพิ่งบริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับ ดอลลี พาร์ตัน นักร้องที่มีส่วนในการช่วยสร้างวัคซีนโมเดอร์นาเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 
 
อย่างไรก็ตาม ในอดีตนั้น เบโซสถูกวิจารณ์ว่า ไม่ลงนามในแคมปญ Give Pledge ซึ่งเป็นแคมเปญที่ริเริ่มโดยบิล เกตส์, เมลินดา เฟรนช์ เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์  เพื่อสนับสนุนให้มหาเศรษฐีบริจาคความมั่งคั่งส่วนใหญ่ผ่านการทำบุญ 

ขณะที่ แม็คเคนซี สก็อตต์ อดีตภรรยาของเขาที่หย่าร้างกันในปี 2019 ได้บริจาคเงินเพื่อการกุศลอย่างมหาศาล โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เธอมอบเงินมากกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับวิทยาลัย มหาวิทยาลัย กลุ่มสิทธิสตรี และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ 
 
เบโซส ปัจจุบันอายุ 58 ปี ก่อตั้ง Amazon โดยเริ่มจากเป็นร้านหนังสือออนไลน์ตั้งแต่ปี 1994 และได้ขยายตัวเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลก พร้อมกับหลายๆ กิจการตั้งแต่บริการส่งของ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง บริการคลาวด์คอมพิวติง และโฆษณา 
 
การประกาศปลดพนักงานจำนวนมากของ Amazon มีขึ้นในช่วงเดียวกับที่บริษัท Sea บริษัทเกมและค้าปลีกออนไลน์ เจ้าของธุรกิจ Shopee จากสิงคโปร์ ก็ประกาศปลดพนักงานประมาณ 7,000 คน หรือประมาณ 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเพื่อลดภาวะขาดทุน และเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุน 
 
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า ในจำนวนพนักงานทั้งหมดที่ถูกปลดระลอกล่าสุดนี้ รวมถึงพนักงานของ Shopee ประมาณ 100 ราย และทุกคนได้รับแจ้งเรื่องการถูกปลดจากตำแหน่งตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ (14 พ.ย.) ซึ่ง Sea เริ่มดำเนินการปลดพนักงานหลายระลอกมาตั้งแต่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว 
 
Sea สูญเสียมูลค่าตลาดไปเกือบ 90% นับตั้งแต่ราคาหุ้นแตะระดับสูงสุดในปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจเกี่ยวกับแนวโน้มการทำรายได้ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น และการแข่งขันที่ดุเดือด บริษัทจึงตัดสินใจลดพนักงาน รวมถึงปิดการดำเนินงานธุรกิจอีคอมเมิร์ซในบางตลาดของยุโรปและลาตินอเมริกา ทั้งยังประกาศลดการใช้จ่ายลง 
 
การปลดพนักงานครั้งล่าสุดของ Sea ครอบคลุมถึงฝ่ายสรรหาบุคลากร การจัดการความสัมพันธ์พนักงาน การฝึกฝนและฝ่ายงานทรัพยากรมนุษย์อื่นๆ ในสิงคโปร์และจีน 
 
ที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่าง Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ก็ประกาศปลดพนักงานมากกว่า 11,000 คนด้วย 
 
พนักงาน Meta ที่ถูกปลดจะได้รับการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งการจ่ายชดเชยพนักงาน 4 เดือน ประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 6 เดือน และจัดศูนย์ช่วยเหลือด้านการจัดหางานใหม่ให้พนักงานที่ถูกปลดออกในครั้งนี้ 

ทั้งหมดนี่น่าจะบอกได้ว่า หมดยุคทองของบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทค้าปลีกออนไลน์แล้ว และทุกบริษัทควรเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์