‘เจนเซน หวง’ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ผมคงไม่ทำ Nvidia

22 มิ.ย. 2567 - 02:01

  • Nvidia ผงาดแซงหน้าทั้ง Apple และ Microsoft ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกช่วงสั้นๆ ก่อนจะขยับลงมาเป็นเบอร์ 2

  • Nvidia เริ่มจากจุดเล็กๆ ในช่วงประมาณ 20 ปีแรกมุ่งผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์กราฟฟิกไฮเอนด์สำหรับวิดีโอเกม ก่อนตัดสินใจครั้งสำคัญในปี 2016 หันเหมาที่ AI ซึ่งกำลังมาแรง

  • มูลค่าหุ้นของ Nvidia พุ่งขึ้น 3 เท่าตัวในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จากการที่ลูกค้าที่เป็นบริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon และ Meta เข้ามาเล่นในสนาม AI โดยที่ Nvidia เป็นผู้จัดหาชิป GPU รายใหญ่

  • หวงและครอบครัวเคยย้ายมาอยู่เมืองไทยตอนที่เขาอายุ 5 ขวบ

jensen-huang-nvidia-would-not-do-it-again-SPACEBAR-Hero.jpg

ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่มักจะเกิดจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ และเรื่องนี้คือเรื่องจริงของ Nvidia บริษัทผลิตชิปที่ผงาดแซงหน้าทั้ง Apple และ Microsoft ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกช่วงสั้นๆ ก่อนจะขยับลงมาเป็นเบอร์ 2  

เจนเซน หวง วางแผนบริษัทที่กลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการชิปในทุกวันนี้จากร้านอาหาร Denny’s นอกเมืองซานโฮเซของแคลิฟอร์เนียตอนที่เขาอายุ 30 ปี ซึ่งเป็นที่ที่เขาเริ่มทำงานจากการเป็นพนักงานล้างจานก่อนจะขยับขึ้นมาเป็นพนักงานเสิร์ฟ 

หวงและเพื่อนที่เป็นนักออกแบบชิปอีก 2 คนคือ คริส มาลาชอฟสกี และเคอร์ทิส พรีม ช่วยกันระดมสมองและควักกระเป๋ารวมกัน 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1,467,300 บาท) เพื่อก่อตั้ง Nvidia ที่ตอนนี้มีมูลค่าสูงถึง 3.34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นในปี 1993  

ในช่วงประมาณ 20 ปีแรก Nvidia มุ่งผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์กราฟฟิกไฮเอนด์สำหรับวิดีโอเกม ก่อนตัดสินใจครั้งสำคัญในปี 2016 หันเหมาที่ AI ซึ่งกำลังมาแรง 

ตอนแรกบริษัทใช้ชื่อ NVision แต่เพิ่งมาทราบภายหลังว่าชื่อนี้ถูกบริษัทผลิตกระดาษชำระใช้ไปแล้ว หวงจึงเสนอให้ใช้ชื่อ Nvidia ซึ่งมาจากคำว่า invidia ในภาษาละตินที่แปลว่า “สิ่งที่ถูกอิจฉา” 

และคำว่า “สิ่งที่ถูกอิจฉา” ก็ดูเหมือนจะเป็นคำที่ใครๆ โดยเฉพะในโลกธุรกิจต่างก็รู้สึกกับ Nvidia ในตอนนี้  

นักวิเคราะห์ต่างก็มองว่า Nvidia ซึ่งก่อนหน้านี้จะรู้จักกันเฉพาะในโลกของวิดีโอเกมกราฟฟิก จะยังคงเป็นผู้เล่นคนสำคัญในตลาด AI หากฟองสบู่ AI ไม่แตกเสียก่อน บางคนบอกว่า Nvidia คือ “ผู้กุมอำนาจอุปทานชิป” ที่ทุกบริษัทจะต้องใช้หากอยากกระโดดเข้าร่วมขบวน AI ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ 

และในขณะที่ Microsoft และ Apple เติบโตอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การผงาดขึ้นมาของ Nvidia เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  

ความสนใจใน AI พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการเปิดตัว ChatGPT ในปี 2022 และ Nvidia ก็ได้อานิสงส์จากสิ่งนี้ด้วย เพราะ ChatGPT ได้รับการฝึกฝนโดยใช้ GPU ของ Nvidia จำนวน 10,000 หน่วยที่ถูกบรรจุลงในซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 

มูลค่าหุ้นของ Nvidia พุ่งขึ้น 3 เท่าตัวในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จากลูกค้าที่เป็นบริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon และ Meta เข้ามาเล่นในสนาม AI โดยที่ Nvidia เป็นผู้จัดหาชิป GPU รายใหญ่

jensen-huang-nvidia-would-not-do-it-again-SPACEBAR-Photo01.jpg

เทย์เลอร์ สวิฟต์ แห่งวงการเทค 

ก่อนที่ทั้งโลกจะรู้จัก Nvidia หวงเก็บตัวสร้างบริษัทมาอย่างเงียบๆ แต่ตอนนี้เขาโด่งดังไม่แพ้ซูเปอร์สตาร์ ครั้งหนึ่ง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก บอกกับฟอลโลเวอร์ของตัวเองที่ไม่รู้จักว่าหวงคือใครไว้ว่าเขาคือ “เทย์เลอร์ สวิฟต์ แห่งวงการเทค” ส่วนในไต้หวันบ้านเกิดและเป็นเมืองหลวงแห่งการผลิตชิปเขาคือ “ฮีโร่แห่งชาติ” ที่มักจะมีแฟนคลับรุมล้อมและตะโกนเรียกชื่อ รวมทั้งขอลายเซ็นด้วย กลายเป็นปรากฏการณ์ “เจนเซน หวง ฟีเวอร์” ล่าสุดที่ไปร่วมงานประชุมด้านเทคที่ไต้วันมีแฟนคลับหญิงคนหนึ่งใส่เสื้อมาให้เซ็นตรงตำแหน่งใกล้กับหน้าอก จนหวงต้องถามว่ามันจะดีมั้ย แต่สุดท้ายก็เซ็นให้ 

คนสติดีๆ คงไม่ทำ 

หวงกับเพื่อนไม่เคยรู้เลยว่าจะสร้างบริษัทที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านได้อย่างไร แต่ก็นั่นแหละ บางครั้ง “ความไร้ประสบการณ์” ก็คือกุญแจสู่ความสำเร็จ

เอาจริงๆ นะ ผมไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไง พวกเขา (เพื่อนๆ) ก็ด้วย ไม่มีใครรู้เลยว่าต้องทำยังไง

เจนเซน หวง เผยถึงที่มาที่ไปของ Nvidia ในรายการ 60 minutes

ตอนก่อตั้ง Nvidia ทั้งหวงและเพื่อนๆ ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน แต่หวงซึ่งเป็นนักออกแบบไมโครโพรเซสเซอร์เชื่อว่าพวกเขาสามารถสร้าง GPU ที่จะมาปฏิวัติวงการเกมและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกได้ 

หวงเชื่อว่าความไม่มีประสบการณ์ช่วยให้เขาไม่ยอมแพ้ก่อนที่ Nvidia จะประสบความสำเร็จ เพราะเขาไม่รู้ว่าหาทางข้างหน้าจะยากเย็นเพียงใด หวงให้สัมภาษณ์กับรายการพอดแคสต์  Acquired เมื่อปี 2023 ว่า หากย้อนกลับไปในปี 1993 ได้แล้วทำอีกครั้งเขาคงหยุดทำ Nvidia

ที่ Nvidia ผมเคยล้มเหลว ครั้งใหญ่เลยล่ะ มันน่าอายมาก

เจนเซน หวง กล่าวในพิธีสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันเมื่อปี 2023

GPU ตัวแรกของ Nvidia ล้มเหลว จนเกือบทำให้ Nvidia หายไปจากวงโคจรในปี 1996 หวงต้องลดพนักงานของบริษัทลงเกินครึ่ง และต้องขอให้บริษัทวิดีโอเกม Sega ซึ่งเป็นลูกค้าจ่ายเงินตามสัญญาทั้งๆ ที่ชิปที่ Nvidia ส่งมอบจะ “คณภาพไม่ดีในทางเทคนิค”  

เมื่อได้เงินจาก Sega มาแล้ว Nvidia ก็ทุ่มความพยายามมากกว่าเดิมในการผลิตชิปแบบใหม่นั่นคือ RIVA 128 ที่ต่อมากลายเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Nvidia ทำยอดขายได้มากกว่า 1 ล้ายยูนิตภายใน 4 เดือนในปี 1997 ความสำเร็จครั้งนั้นพลิกโชคชะตาของ Nvidia ให้ก้าวเดินสู่เส้นทางการเป็นบริษัทที่มีมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

อย่างไรก็ดี ถึงจะประสบความสำเร็จแล้ว แต่หวงเล่าว่าความเครียดและความเจ็บปวดระหว่างการนำพาธุรกิจฝ่าฟันอุปสรรคอาจไม่คุ้มค่าหากเขารู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ตอนนั้นถ้าพวกเรารู้ว่าจะต้องเจ็บปวด ต้องทุกข์ ต้องรู้สึกอ่อนแอแค่ไหน และความท้าทายที่เราต้องเผชิญ ความอับอาย และทุกความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าคงไม่มีใครอยากตั้งบริษัท คนสติดีๆ คงไม่ทำ

เจนเซน หวง เล่าในรายการพอดแคสต์ Acquired

jensen-huang-nvidia-would-not-do-it-again-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: เจนเซน หวง ปาลูกเบสบอลระหว่างเกมที่ CTBC Brothers ดวลกับ Wei Dragons ที่สนามไทเปโดมของไต้หวัน Photo by Sam Yeh / AFP

เคยอยู่ไทย

หวงเกิดที่เมืองไถหนาน แต่ตอนเขาอายุ 5 ขวบครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ที่ไทย ก่อนจะถูกพ่อส่งไปอยู่กับลุงที่รัฐวอชิงตันของสหรัฐฯ เมื่อปี 1973 แต่โชคไม่ดีนิดหน่อยที่หวงต้องเข้าเรียนในโรงเรียนแบ๊บติสต์สำหรับเด็กมีปัญหาในเคนทักกี เพราะลุงของเขาเข้าใจผิดว่าเป็นโรงเรียนประจำชื่อดัง 

หวงในวัย 9 ขวบถูกบุลลี่สารพัด แต่เมื่อมองย้อนกลับไปเขาบอกว่าการถูกบุลลี่สอนให้เข้ารู้จักทักษะ “ล้มเร็วลุกเร็ว” ซึ่งหวงมองว่าเป็นสิ่งสำคัญในการประสบความสำเร็จ 

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็เริ่มทำงานหาเงินที่ร้านอาหาร Denny’s หวงเล่าว่า “ผมเป็นเด็กดี ผมเป็นคนมุ่งมั่น แต่ค่อนข้างอินโทรเวิร์ท...ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ดึงผมออกจากกรอบคือการเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ Denny’s ผมเคยกลัวการพูดคุยกับผู้คน” 

แต่ทุกวันนี้หวงกลายเป็นซีอีโอและกูรูธุรกิจที่มีแต่คนอยากได้คำแนะนำจากเขา

Photo by SAM YEH / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์