ประเทศไหนบ้าง? ลงโทษประหารชีวิตคนผิดไม่สนแม้เป็น ‘เยาวชน’

8 ต.ค. 2566 - 02:00

  • เปิดรายชื่อประเทศไหนบ้างที่ยังคงลงโทษตัดสินประหารชีวิตผู้กระทำผิดทั้งที่เป็น ‘เยาวชน’ อยู่

  • ส่วนใหญ่เป็นรัฐอาหรับและอิสลามที่ยังดำเนินการเช่นนี้อยู่

juvenile-death-penalty-islamic-countries-SPACEBAR-Hero.jpg

เมื่อสังคมเริ่มตั้งคำถามว่า ‘การละเว้นโทษทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดนั้นสมควรและยุติธรรมกับผู้เสียหายหรือสูญเสียแล้วหรือ?’ และเป็นประเด็นร้อนให้ถกเถียงกันในช่วงเวลานี้หลังผู้ก่อเหตุกราดยิงในสยามพารากอนเป็นเยาวชนชายวัย 14 ปี ซึ่งจุดชนวนในสังคมอีกครั้งว่า ‘สุดท้ายแล้วกฎหมายก็ลงโทษอะไรร้ายแรงไม่ได้นอกจากส่งเยาวชนเข้าสถานพินิจ’ 

จากหลายๆ กรณีเยาวชนกระทำผิดในไทยซึ่งมักจะฉายหนังม้วนเดิมอยู่บ่อยครั้งและกลายเป็นบาดแผลของผู้เสียหายเสียมากกว่า ขณะที่เยาวชนบางคนเอาแต่อ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำไปเพราะขาดสติ และแน่นอนว่ามันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่วยผ่อนปรนโทษเพียงแค่เข้าไปบำบัดพฤติกรรมในสถานพินิจ 

ถึงกระนั้นจึงเกิดคำถามต่อว่า ‘แล้วถ้าลงโทษหนักกว่านั้นถึงขั้นประหารชีวิตเยาวชนมันไม่รุนแรงไปหน่อยหรือ?’ แต่ใดๆ ในโลกล้วนมีมุมมองแนวคิดที่ต่างออกไป และมีบางประเทศที่ตัดสินใจประหารชีวิตเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี 

ประเทศไหนที่ยังคงลงโทษประหารเด็กที่อายุ ‘ต่ำ’ กว่า 18 ปี

จากข้อมูลเมื่อปี 2015 ของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) หรือองค์กรนิรโทษกรรมสากลพบว่า “ระหว่างปี 1990 - 2009 มีการประหารชีวิตผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชนอย่างน้อย 82 ครั้งทั่วโลก ได้แก่ จีน (2) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (1) อิหร่าน (46) ไนจีเรีย (1) ปากีสถาน (4) ซาอุดีอาระเบีย (5) เยเมน (2) ซูดาน (2) และสหรัฐฯ (19)” 

แน่นอนว่าในปัจจุบันบางประเทศนั้นยกเลิกการประหารชีวิตเยาวชนไปแล้ว บางประเทศอย่าง จีน และไนจีเรียกำหนดอายุขั้นต่ำในการลงโทษประหาร ขณะเดียวกัน อิหร่าน ปากีสถาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกก็กำลังพิจารณากฎหมายโทษประหารชีวิตเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ขณะที่ 33 รัฐในสหรัฐฯ นั้นไม่ได้กำหนดอายุขั้นต่ำ

juvenile-death-penalty-islamic-countries-SPACEBAR-Photo01.jpg

ทว่าส่วนใหญ่แล้วยังเป็นรัฐอาหรับหรืออิสลามที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตสำหรับผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชน บางคนอ้างว่าสิ่งนี้อาจขัดแย้งกับกฎหมายชารีอะห์ แต่พวกเขาก็ทำเช่นนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ (international obligations) ของตน 

ทั้งนี้ พบว่า ระหว่างปี 1990 - 2009 มีการประหารชีวิตผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชนอย่างน้อย 60 ครั้งในประเทศอิสลามตามที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่อิหร่านและซาอุดีอาระเบียยังเป็น 2 ประเทศที่มีการข่มขู่และบังคับใช้โทษประหารชีวิตเด็กและเยาวชนอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี 2009 

  • ซาอุดีอารระเบีย

ซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศที่มีอัตราการประหารชีวิตสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยตั้งแต่ปี 1990 ซาอุดีอาระเบียได้ประหารชีวิตเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 5 ราย และปัจจุบันการประหารชีวิตเยาวชนยังคงเป็นปัญหาในประเทศนี้ 

อาจเป็นเพราะที่นี่ไม่มีประมวลกฎหมายอาญาซึ่งกำหนดการกระทำที่ถือเป็นความผิดทางอาญา และไม่มีการตีความกฎหมายชารีอะห์อย่างเป็นทางการซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำหรับกฎหมายทั้งหมดในราชอาณาจักร แต่ในทางกลับกัน ผู้พิพากษาจะใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางในการตีความและประยุกต์ใช้หลักกฎหมายชารีอะห์ของศาสนาอิสลามในคดีอาญาแทน 

ผู้พิพากษาจะตัดสินว่าจำเลยเป็นเด็กโดยพิจารณาจากสัญญาณทางกายภาพของวัยแรกรุ่น ณ เวลาที่พิจารณาคดี ไม่ใช่ ณ เวลาที่ก่ออาชญากรรม โดยเด็กหรือเยาวชนจะถูกพิจารณาคดีในฐานะผู้ใหญ่และถูกตัดสินประหารชีวิตจากอาชญากรรมที่กระทำเมื่ออายุ 13 ปี 

จากข้อมูลของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า มีผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชน 126 คนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในซาอุดีอาระเบีย 

  • ซูดาน

ก่อนหน้านี้ในช่วงทศวรรษ 1990 ระบบกฎหมายของซูดานยังคงมีบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจน ซึ่งผู้บรรลุนิติภาวะอายุเพียงแค่ 15 ปีเท่านั้น กระทั่งปี 2010 ที่ซูดานแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนดให้อายุ 18 ปีเป็นเกณฑ์อายุที่บรรลุนิติภาวะ  

แต่ทว่าภายใต้สถานการณ์บางประการ มาตรา 27 วรรค 2 ของประมวลกฎหมายอาญายังอนุญาตให้มีการลงโทษประหารชีวิตสำหรับเด็กอายุ 7-18 ปีที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดหรือฆาตกรรม  

ทั้งนี้ คำจำกัดความของ ‘ผู้ใหญ่’ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาญา หมายถึง ‘บุคคลที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์โดยมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านร่างกายและมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ และบุคคลใดก็ตามที่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์จะถือว่าเป็นผู้ใหญ่ แม้ว่าจะไม่มีลักษณะของการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็ตาม’ 

แม้ว่าประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ของซูดานจะกำหนดว่าโทษประหารชีวิตจะไม่บังคับใช้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือบุคคลที่มีอายุครบ 70 ปี ยกเว้นในบางกรณีดังเช่นบางกรณีในประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่ผู้เยาว์ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำฆาตกรรม ข่มขืน หรือล่วงประเวณี ก็อาจถูกตัดสินประหารชีวิตได้ 

  • เยเมน

นับตั้งแต่การรวมประเทศในปี 1991 - 1994 ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลกำลังมุ่งหน้าสู่การรวมศาสนาอิสลามเข้ากับกฎหมายทั่วไปที่สืบทอดมา โดยมีกฎหมายพื้นฐานบางประการที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติม แต่ในที่สุดกฎหมายอาญา วิธีพิจารณาคดีอาญา และหลักฐานทางอาญาของสาธารณรัฐประชาชนก็ถูกแทนที่ด้วยกฎหมายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชารีอะห์อยู่ดี  

ในช่วงทศวรรษ 1990 เยเมนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการประหารชีวิตผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชน แต่ในปี 1991 ที่เยเมนได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก จนกระทั่งในปี 1994 เยเมนก็ได้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับโทษประหารชีวิตเพิ่มเป็น 18 ปี ณ เวลาที่กระทำความผิดในประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 31) 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีสูติบัตรอย่างเป็นทางการ การคำนวณอายุจึงมักคำนวณตามลักษณะทางกายภาพ  เป็นเหตุให้ผู้เยาว์จำนวนมากถูกตัดสินประหารชีวิต 

  • ปากีสถาน

ตามประมวลกฎหมายอาญาของปากีสถานปี 1860 ระบุว่า ‘เด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ปีกระทำความผิดไม่ถือเป็น และความผิดใดที่กระทำโดยเด็กอายุเกิน 7 ปี แต่ต่ำกว่า 12 ปีที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเพียงพอไม่ถือว่าเป็นความผิด”  

ก่อนหน้านี้ ตามกฎหมายชารีอะห์ได้ระบุบทลงโทษอาชญากรรมสถานหนัก ‘ฮุดูด’ (hudud laws / had) ปี 1979 เป็นกฎหมายที่บังคับใช้แทนที่กฎหมายอื่นๆ ทั้งหมด ทั้งนี้ การลงโทษฮุดูดไม่อาจบังคับใช้กับเด็กได้ แต่คำจำกัดความของเด็กในกฎหมายฮุดูดนั้นแตกต่างจากกฎหมายอื่นในปากีสถาน 

ตามข้อกฎหมายฮุดูด ‘เด็ก’ คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้น เด็กหญิงอายุ 12 ปีที่บรรลุนิติภาวะจึงเป็นผู้ใหญ่ตามกฎหมายและอาจถูกตัดสินให้รับโทษฮุดูด ซึ่งนับตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายฮูดูดในปากีสถานก็พบว่าเปอร์เซ็นต์ของเด็กผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงประเวณีจึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

  • ไนจีเรีย

ไนจีเรียกำหนดอายุบรรลุนิติภาวะไว้ที่ 17 ปี แต่ 12 รัฐทางตอนเหนือของไนจีเรียที่ดำเนินการภายใต้กฎหมายอิสลามซึ่งบางรัฐกำหนดอายุของความรับผิดทางกฎหมายน้อยกว่า 17 ปี โดยกำหนดความรับผิดทางอาญาเมื่อเข้าสู่วัยแรกรุ่น โดยไม่คำนึงถึงอายุสำหรับอาชญากรรมร้ายแรงฮุดูด เช่น การผิดประเวณี การข่มขืน การร่วมเพศสัมพันธ์ และการร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง 

ตามพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายอาญาของไนจีเรียมาตรา 18 กำหนดไว้ว่า ‘เมื่อใดก็ตามที่ศาลเห็นว่า ชายผู้นี้มีอายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ 17 ปี และถูกตัดสินว่ามีความผิดในความผิดใดๆ ศาลอาจใช้ดุลยพินิจสั่งเฆี่ยนเขาเพิ่มเติมหรือทดแทนการลงโทษอื่นใด’ 

ภายใต้กฎหมายไนจีเรียระบุว่า 

  • บุคคลที่อายุต่ำกว่า 7 ปีไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อการกระทำหรือการละเว้นใดๆ 
  • บุคคลที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ต้องรับผิดทางอาญาในการกระทำหรือการละเว้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าในขณะที่กระทำการหรือละเว้นนั้น บุคคลนั้นย่อมรู้ว่าตนไม่ควรกระทำ 
  • ชายอายุต่ำกว่า 12 ปี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความรู้ทางกามารมณ์

ในเดือนมีนาคม 2010 พบว่า ผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชนมากกว่า 30 คนต้องโทษประหารชีวิต  

  • อิหร่าน

ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาเดิมของอิหร่านระบุว่า อายุที่ต้องรับผิดทางอาญาคือ ‘18 ปี’ ขณะที่การประหารชีวิตเด็กและเยาวชนเป็นผลมาจากการปฏิวัติอิสลามในปี 1979  

อย่างไรก็ดี ระบบกฎหมายนี้ก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1980 โดยประมวลกฎหมายแพ่งของอิหร่านระบุว่า ‘ในกฎหมายของอิหร่าน วัยเด็กถือเป็นบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ’ ภายใต้มาตรา 1210-1 ระบุว่า ‘เด็กผู้หญิงจะบรรลุนิติภาวะหลังจากอายุ 9 ปีตามจันทรคติ และเด็กผู้ชายหลังจากอายุครบ 15 ปีจันทรคติ’ 

ทั้งนี้ กฎหมายอาญาของอิหร่านจะใช้กับผู้ที่เข้าสู่วัยแรกรุ่น (อายุ 9 ปีสำหรับเด็กผู้หญิงและ 15 ปีสำหรับเด็กผู้ชาย) ตัวอย่างเช่น ภายใต้กฎหมายของอิหร่าน หากเด็กหญิงอายุ 10 ปีก่อเหตุฆาตกรรม เธอจะถูกพิจารณาและลงโทษในลักษณะเดียวกันเหมือนผู้หญิงวัย 40 ปี 

ดังนั้น ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาอิสลามของอิหร่านจึงอนุญาตให้มีโทษประหารชีวิตสำหรับเยาวชนหญิงที่มีอายุครบ 9 ปีได้ ทว่าในทางปฏิบัติยังไม่มีเด็กคนใดถูกตัดสินประหารชีวิตขณะที่อายุต่ำกว่า 13 ปี แต่กฎหมายยังคงระบุอยู่ในหนังสือธรรมนูญและสามารถบังคับใช้ได้ 

ขณะเดียวกันในปัจจุบันทางการอิหร่านก็กำลังพิจารณาร่างกฎหมายเพิ่มอายุขั้นต่ำเป็น 18 ปีด้วยเช่นเดียวกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์