กว่าจะมีวันนี้! ‘คาทาลิน คาริโก’ เจ้าของโนเบลกับการวิจัยวัคซีน ‘mRNA’ ที่ไม่มีใครเห็นค่า

3 ต.ค. 2566 - 09:30

  • ย้อนรอยเรื่องราวของ ‘คาทาลิน คาริโก’ กับเส้นทางงานวิจัยวัคซีน ‘mRNA’ ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

katalin-kariko-nobel-prize-scientist-2023-SPACEBAR-Hero (1).jpg

‘คาทาลิน คาริโก’ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์กับเส้นทางวิจัยที่เต็มไปด้วย ‘อุปสรรค’ 

ประกาศไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2023 (Nobel Prize in physiology or medicine) ซึ่งรางวัลนี้ตกเป็นของ ‘คาทาลิน คาริโก’ และ ‘ดรูว์ ไวสส์แมน’ 2 คู่หูนักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมกันคิดค้น ‘วัคซีนชนิด mRNA’ ที่ปูทางไปสู่ ‘วัคซีนป้องกันโควิด-19’ 

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่ารางวัลนี้เป็นหนึ่งในรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดในโลกวิทยาศาสตร์ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากสภาโนเบลแห่งสถาบันการแพทย์แคโรลินสกาแห่งสวีเดน “เราไม่ได้ทำงานเพื่อรางวัลใดๆ สิ่งสำคัญคือการมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์” คาริโก ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเซเกด (University of Szeged) ในฮังการีและผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (UPenn) กล่าว 

ขณะที่ผู้ชนะร่วมอย่างไวสส์แมนซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านการวิจัยวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเผยว่า “มันเป็นความฝันตลอดชีวิตที่จะชนะ” พร้อมทั้งเล่าถึงการทำงานอย่างหนักกับคาริโกมานานกว่า 20 ปี “ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาที่เราร่วมวิจัยกันก่อนที่จะมีใครรู้หรือให้ความสนใจจริงๆ…เราสองคนนั่งข้างๆ กันที่ม้านั่งและทำงานร่วมกัน โดยปกติเวลาตี 3 หรือตี 5 เราจะส่งอีเมลหากันเพื่อเสนอแนวคิดใหม่ๆ”

กว่าจะมีวันนี้ชีวิตไม่ง่ายเลย… 

ใครจะไปรู้ว่าภายใต้รางวัลอันทรงเกียรติที่กว่าจะได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักในฐานะผู้บุกเบิกวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้นไม่ง่ายเลยสำหรับพวกเขาโดยเฉพาะคาริโกที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมานานหลายปีเพื่อหาทุนสำหรับการวิจัยของเธอ 

หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเซเกด คาริโกก็เริ่มศึกษาโมเลกุล mRNA ตั้งแต่นั้นมาอย่างขยันขันแข็ง ทว่าในปี 1985 เธอกลับต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบากเมื่อโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนต่อ ทำให้คาริโกตัดสินใจออกจากฮังการีและย้ายไปสหรัฐฯ พร้อมครอบครัวหลังจากได้ข้อเสนอทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทมเพิล (Temple University) 

ในปี 1989 คาริโกเข้าร่วมทีมกับคณะแพทยศาสตร์แห่ง UPenn ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการวิจัย และตลอดช่วงทศวรรษ 1990 ขณะที่ทำการวิจัยอยู่ที่ UPenn คาริโกพยายามเปลี่ยนวัคซีน mRNA ให้เป็นเครื่องมือในการรักษา ขณะเดียวกันก็ยังดิ้นรนหาทุนเพื่อสนับสนุนวิจัยของเธออยู่เสมอ แต่ทว่าในเวลานั้นทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็มองว่างานวิจัยของเธอเป็นเรื่องไกลตัว ประกอบกับงานวิจัยด้าน DNA และยีนบำบัดดึงดูดความสนใจในหมู่ชุมชนวิทยาศาสตร์ (scientific community) ส่วนใหญ่มากกว่า 

คาริโกเผยว่า ‘เธอต้องทนต่อการเยาะเย้ยจากเพื่อนร่วมงานในมหาวิทยาลัยสำหรับการหาทุนวิจัยอย่างไม่ลดละ ทว่าในปี 1995 โชคก็ไม่เข้าข้างและคาริโกไม่ได้รับทุนวิจัย ซึ่งมันทำให้ UPenn ลดตำแหน่งของเธอในการก้าวเป็น ‘ศาสตราจารย์’ (full-time professor) 

...เมื่อจุดเริ่มต้นที่เริ่มไว้กำลังจะได้สานต่อ

katalin-kariko-nobel-prize-scientist-2023-SPACEBAR-Photo01 (1).jpg
Photo: Photo by : X : @NobelPrize

ขณะเดียวกันในปี 1997 ไวสส์แมนเองก็ได้เข้ามาร่วมงานกับ UPenn และรู้จักกับคาริโกในปี 1998 ซึ่งในเวลาต่อมาพวกเขาก็พบว่าต่างคนต่างก็สนใจวิจัยเรื่องวัคซีนเหมือนกัน และนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือของพวกเขา 

และในปี 2006 คาริโกตัดสินใจเข้าสู่วงการเทคโนโลยีชีวภาพด้วยการก่อตั้งบริษัท ‘RNARx’ ต่อมาในปี 2013 เธอก็ย้ายไปทำงานที่บริษัท ‘BioNtech’ ของเยอรมัน จนกระทั่งโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่ชนิดที่ว่าใครๆ ต่างก็ตั้งตัวไม่ทัน 

ณ ห้วงเวลานั้นทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ต่างก็ทำการทดลองและวิจัยกันยกใหญ่ และแน่นอนว่าเป็นคาริโกที่ทำสำเร็จ ในวันนี้เธอได้รับการยอมรับ งานวิจัยที่เธอพยายามดิ้นรนขอทุนมาโดยตลอดกลายเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกว่า ‘วัคซีน mRNA ช่วยปกป้องทุกคนจากโควิด-19 ได้’ 

แม้แต่ตอนแรกที่คาริโกและไวสส์แมนรู้ว่าตัวเองได้รับรางวัลโนเบลสาขานี้ พวกเขาแทบจะไม่เชื่อเลยด้วยซ้ำพร้อมบอกว่า “มันแค่เรื่องตลกเท่านั้น” ขณะที่ไวสส์แมนเผยว่า “เราดีใจมากแต่ก็ยังไม่เชื่อ และแอบสงสัยว่ามีใครเล่นตลกกับเราหรือเปล่า…แต่เมื่อเราเห็นประกาศ เราก็รู้ว่าเป็นเรื่องจริง มันน่าทึ่งมาก”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์