เปิดอดีต ‘เรือนจำอัลคาทราซ’ ในอ่าวซานฟรานซิสโกใช้ขังนักโทษโหดร้าย ที่ที่ทรัมป์อยากจะเปิดอีกครั้ง

6 พ.ค. 2568 - 10:42

  • เปิดอดีต ‘เรือนจำอัลคาทราซ’ ในอ่าวซานฟรานซิสโกใช้ขังนักโทษ ‘โหดร้ายและรุนแรงที่สุด’

  • SPACEBAR พาไปทำความรู้จักกับ ‘เรือนจำอัลคาทราซ’ ที่ที่ทรัมป์อยากจะเปิดอีกครั้ง

key_facts_about_alcatraz_prison_SPACEBAR_Hero_bf08d97e27.jpg

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการเปิด ‘เรือนจำอัลคาทราซ’ (AlcatrazPrison) อันฉาวโฉ่ที่ตั้งอยู่บนเกาะนอกชายฝั่งซานฟรานซิสโก มาเป็นเรือนจำของรัฐบาลกลางอีกครั้งซึ่งปิดให้บริการมานานกว่า 60 ปี โดยทรัมป์อ้างว่าเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของกฎหมาย ระเบียบ และความยุติธรรม 

เรือนจำแห่งนี้ได้ชื่อว่าเคยคุมขังอาชญากรที่ ‘โหดร้ายและรุนแรงที่สุด’ บางคนของอเมริกา เช่น อัล คาโปน, จอร์จ แมชชีนกัน เคลลี, และเจมส์ ไวตี้ บัลเจอร์ เป็นต้น

“เป็นเวลานานเกินไปแล้วที่อเมริกาต้องทนทุกข์ทรมานกับอาชญากรที่โหดร้าย รุนแรง และก่ออาชญากรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกขยะสังคมไม่มีวันจะสร้างประโยชน์ใดๆ นอกจากความทุกข์และความเจ็บปวด เมื่อครั้งที่ประเทศของเราเคยเข้มงวดมากกว่านี้ในอดีต เราไม่ลังเลที่จะขังอาชญากรที่อันตรายที่สุดไว้ และกันพวกเขาให้อยู่ห่างจากผู้คนที่อาจได้รับอันตราย”

ทรัมป์โพสต์บน Truth Social

SPACEBAR พาไปทำความรู้จักกับ ‘เรือนจำอัลคาทราซ’ ที่ทรัมป์ต้องการจะให้เปิดขึ้นอีกครั้ง 

เรือนจำอัลคาทราซ...

เรือนจำแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะอัลคาทราซ ซึ่งเป็นพื้นที่หินเพียง 22 เอเคอร์ (8.9 หมื่นตารางเมตร) ในอ่าวซานฟรานซิสโก ห่างจากแผ่นดินใหญ่ 2 กิโลเมตร (1.25 ไมล์) มองเห็นได้จากสะพานโกลเดนเกต เคยเป็นเรือนจำของรัฐบาลกลางตั้งแต่ปี 1934-1963 

มิลลาร์ด ฟิลล์มอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 13 ประกาศให้เกาะแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะในปี 1850 และในไม่ช้าก็กลายเป็นสถานที่ทางทหาร กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรถูกคุมขังที่นั่นในช่วงสงครามกลางเมือง 

ในช่วงทศวรรษ 1930 รัฐบาลตัดสินใจว่าจำเป็นต้องมีสถานที่สำหรับคุมขังอาชญากรที่ ‘อันตรายที่สุด’ อัลคาทราซจึงถูกเลือกให้เป็นเรือนจำ 

“รัฐบาลต้องการสถานที่ห่างไกล ที่จะทำให้ผู้ต้องขังไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ตลอดเวลา แม้ว่าจะมีการพิจารณาพื้นที่ในอะแลสกา แต่ความพร้อมของเกาะอัลคาทราซก็ตรงกับความต้องการของรัฐบาลในการสร้างเรือนจำที่มีความปลอดภัยสูงในขณะนั้น” เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ระบุ 

เรือนจำอัลคาทราซมีนักโทษอยู่ประมาณ 260-275 คนในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งน้อยกว่า 1% ของนักโทษในเรือนจำของรัฐบาลกลางทั้งหมด ผู้ต้องขังในเรือนจำแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของเรือนจำของรัฐบาลกลางแห่งอื่น หรือเป็นคนที่ ‘เสี่ยงต่อการหลบหนี’ 

ทำไมเรือนจำถึงปิดไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว?

key_facts_about_alcatraz_prison_SPACEBAR_Photo01_df6a8a0bd3.jpg
(Photo by ANDREW CABALLERO-REYNOLDS / AFP)

ความห่างไกลของเกาะนี้ทำให้อะไรๆ ก็ไม่สะดวกไปเสียทุกอย่างตั้งแต่การเดินทาง อาหารไปจนถึงเชื้อเพลิงต้องขนส่งมาทางเรือ “เกาะนี้ไม่มีแหล่งน้ำจืด จึงต้องขนน้ำเกือบหนึ่งล้านแกลลอนมาที่เกาะในแต่ละสัปดาห์” ตามข้อมูลของสำนักเรือนจำกลางของสหรัฐฯ ระบุ 

รัฐบาลระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการคุมขังนักโทษที่นี่ในปี 1959 อยู่ที่ 10.10 ดอลลาร์ต่อวัน ขณะที่ค่าใช้จ่ายเรือนจำกลางในแอตแลนตาอยู่ที่ 3 ดอลลาร์ต่อวันเท่านั้น แม้แต่การสร้างเรือนจำใหม่ตั้งแต่ต้นก็ยังมีต้นทุนถูกกว่าด้วยซ้ำ 

จอห์น มาร์ตินี นักประวัติศาสตร์ที่เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่เกาะอัลคาทราซหลายปี กล่าวว่า “การกักขังนักโทษไว้ที่นั่นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก สิ่งต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่สถานที่นี้กลับแย่ลง”  

ตามรายงานของ FBI ระบุว่า นักโทษจำนวนมากพยายามหลบหนีออกจากเกาะ ครั้งหนึ่งในช่วงปี 1934-1963 ที่นี่เคยมีนักโทษชาย 36 คน และหนึ่งในนี้พยายามหลบหนีเข้าไปในอ่าวซานฟรานซิสโก 14 คน แต่ยังเป็นปริศนาว่านักโทษเกือบทั้งหมดนั้นถูกจับกุมได้ หรือว่าเสียชีวิตเพราะน้ำเย็นจัด หรือกระแสน้ำเชี่ยวแต่อย่างใด 

ภาพยนตร์ ‘Escape from Alcatraz’ (ฉีกคุกอัลคาทราช) ในปี 1979 ที่นำแสดงโดย คลินต์ อีสต์วูด เล่าเรื่องราวของจอห์น แองกลิน, คลาเรนซ์ แองกลิน และแฟรงก์ มอร์ริส นักโทษ 3 คนที่หลบหนีออกจากอัลคาทราซในปี 1962  

“ตลอด 17 ปีที่เราทำงานในคดีนี้ ไม่เคยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือใดๆ ปรากฏขึ้นเพื่อบ่งชี้ว่าทั้งสามคนยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะในสหรัฐฯ หรือในต่างประเทศ” FBI ระบุ   

กลายเป็น ‘อุทยานแห่งชาติ’ จุดหมายปลายทางนักท่องเที่ยว

key_facts_about_alcatraz_prison_SPACEBAR_Photo02_ce36256f35.jpg
(Photo by JOSH EDELSON / AFP)

หลังจากที่เรือนจำปิดตัวลงในช่วงทศวรรษ 1960 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ตั้งแต่นั้นมา เกาะอัลคาทราซก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเขตอุทยานแห่งชาติ ‘Golden Gate National Recreation Area’ และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในปี 1973 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษหลังจากที่เรือนจำแห่งนี้ปิดตัวลง 

ทางอุทยานระบุว่า เกาะแห่งนี้มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี โดยต้องเดินทางด้วยเรือเฟอร์รี่ ราคาตั๋วสำหรับผู้ใหญ่อยู่ที่ 47.95 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,600 บาท) และนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมห้องขังที่เคยใช้คุมขังนักโทษได้ 

ในปี 1969 กลุ่มชาวอเมริกันพื้นเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ได้อ้างสิทธิ์ในเกาะอัลคาทราซและเริ่มยึดครองพื้นที่นานถึง 19 เดือน แต่สุดท้ายการยึดครองก็สิ้นสุดลงในปี 1971 หลังเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางเข้ามาแทรกแซง 

ทรอย จอห์นสัน นักประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับเขียนไว้ว่า “เป้าหมายหลักของชนพื้นเมืองบนเกาะอัลคาทราซ คือการปลุกให้สังคมอเมริกันตระหนักถึงความยากลำบากของชาวอเมริกันพื้นเมืองกลุ่มแรก และยืนยันความจำเป็นในการกำหนดชะตากรรมตัวเองของของชนพื้นเมือง” 

เรือนจำอัลคาทราซจะกลับมาเปิดอีกครั้งได้หรือไม่...

ไม่นานหลังจากความคิดเห็นของทรัมป์กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก แชด กิลมาร์ติน โฆษกกระทรวงยุติธรรมกล่าวในแถลงการณ์ว่า “กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กำลังดำเนินการบูรณะและเปิดเรือนจำอัลคาทราซขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของกฎหมายและระเบียบ” 

แต่ผู้เชี่ยวชาญและนักประวัติศาสตร์ด้านเรือนจำกลับแสดงความสงสัยอย่างมากว่าแผนดังกล่าวมีความเป็นไปได้หรือไม่ 

ฮิวจ์ เฮอร์วิตซ์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานราชทัณฑ์ของรัฐบาลกลาง (BOP) ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2018 ถึงเดือนสิงหาคม 2019 กล่าวกับ BBC ว่า “พูดตรงๆ ว่า ตอนแรกผมคิดว่ามันเป็นเรื่องตลก มันไม่สมจริงเลยที่จะซ่อมแซมมัน คุณต้องรื้อแล้วสร้างใหม่ทั้งหมด” พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้นในสถานที่ดังกล่าว รวมถึงอาคารที่แทบจะพังทลายลงมา และห้องขังที่คนสูง 6 ฟุตไม่สามารถยืนตรงได้ 

“ไม่มีการอัปเกรดระบบรักษาความปลอดภัย ไม่มีกล้องวงจรปิด ไม่มีรั้วกั้น คุณไม่สามารถดำเนินงานในเรือนจำได้เลย” เฮอร์วิตซ์ กล่าว 

ขณะที่ โจลีน บายาค นักเขียนและนักประวัติศาสตร์เกาะอัลคาทราซ ซึ่งเคยอาศัยอยู่ที่นั่นเมื่อยังเป็นเด็กระหว่างที่พ่อของเธอรับตำแหน่งผู้บริหารเรือนจำ 2 ครั้ง กล่าวว่า “ที่นั่นมีแต่น้ำและสิ่งสกปรก” 

“โดยพื้นฐานแล้วมันเป็นเพียงเปลือก แม้แต่คอนกรีตก็มีปัญหาใหญ่ กรมอุทยานฯ ได้ทุ่มเงินหลายล้านบาทเพื่อเสริมโครงสร้างให้มั่นคง พวกเขาต้องการน้ำ ไฟฟ้า ความร้อน และระบบสุขาภิบาล แต่ไม่มีระบบใดเลยที่ใช้งานได้” จอห์น มาร์ตินี นักประวัติศาสตร์ที่เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่เกาะอัลคาทราซหลายปี กล่าว 

(Photo by JOSH EDELSON / AFP)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์