คิงชาร์ลส์เป็นมะเร็ง! จะเกิดอะไรขึ้นหากกษัตริย์อังกฤษ ‘ป่วยเกินกว่า’ จะทำงานได้

6 กุมภาพันธ์ 2567 - 07:42

king-charles-has-cancer-what-we-know-SPACEBAR-Hero.jpg
  • “ตามคำแนะนำของแพทย์ ในขณะที่ทรงเข้ารับการรักษา พระองค์จะทรงเลื่อนการพบปะต่อหน้าสาธารณชน แต่จะทรงดำเนินกิจการของรัฐและเอกสารราชการต่อไป…”

  • ราชวงศ์องค์อื่นๆ จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองต่อไป

หลังจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ยืนยันเมื่อวันจันทร์ (5 ก.พ.) ที่ผ่านมาว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ‘มะเร็ง’ ซึ่งถูกตรวจพบระหว่างเข้ารับการรับการรักษาอาการต่อมลูกหมากโตเมื่อเดือนที่แล้ว และขณะนี้พระองค์ทรงเริ่มรับการรักษาในลอนดอนแล้ว 

ตรวจเจอ ‘มะเร็ง’ เมื่อไหร่?

ปัญหาสุขภาพล่าสุดของคิงชาร์ลส์ที่ 3 เริ่มต้นเมื่อเดือนที่แล้วหลังจากพระราชวังบักกิงแฮมประกาศเมื่อวันที่ 17 มกราคมว่า พระองค์จะเสด็จไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอาการต่อมลูกหมากโตแต่ไม่เป็นอันตราย จากนั้นทรงออกจากโรงพยาบาลในลอนดอนเมื่อวันที่ 29 มกราคม และก่อนหน้านี้พระองค์มีพระอาการ ‘ปกติดี’  

ตามประกาศของพระราชวังเมื่อวันจันทร์ระบุว่า “ในขณะที่คิงชาร์ลส์ทรงเข้ารับการรักษานั้น มีประเด็นที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งซึ่งได้รับการตรวจในเวลาต่อมาก็พบว่าเป็น ‘มะเร็งชนิดหนึ่ง’” แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นมะเร็งชนิดใด และคาดว่าจะไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมในระยะนี้ ขณะที่แหล่งข่าวในราชวงศ์บอกกับ CNN ว่า ‘ไม่ใช่’ มะเร็งต่อมลูกหมาก  

ตอนนี้คิงชาร์ลส์เป็นอย่างไรบ้าง? 

มีรายงานการพบเห็นคิงชาร์ลส์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันอาทิตย์ (4 ก.พ.) โดยมีราชินีคามิลลาอยู่เคียงข้าง พระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ให้สาธารณชนขณะที่กำลังเดินทางไปที่โบสถ์เซนต์แมรี แม็กดาลีน เขตแซนดริงแฮม มณฑลนอร์ฟอล์ก เพื่อเข้าร่วมพิธีโบสถ์ในเช้าวันอาทิตย์ 

แต่ตอนนี้คิงชาร์ลส์กลับมาลอนดอนและเริ่มการรักษาแล้ว 

“ตามคำแนะนำของแพทย์ ในขณะที่ทรงเข้ารับการรักษา พระองค์จะทรงเลื่อนการพบปะต่อหน้าสาธารณชน แต่จะทรงดำเนินกิจการของรัฐและเอกสารราชการต่อไป พระองค์ยังคงมีทัศนคติเชิงบวกต่อการรักษาและหวังว่าจะได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุด” แถลงการณ์พระราชวังระบุ 

ราชวงศ์องค์อื่นๆ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

king-charles-has-cancer-what-we-know-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Adrian DENNIS / AFP

เจ้าชายวิลเลียมจะเสด็จกลับไปปฏิบัติหน้าที่พบปะสาธารณชนในวันพุธนี้ (7 ก.พ.) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่แคทเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์เข้ารับการผ่าตัดเมื่อเดือนที่แล้วซึ่งแหล่งข่าวในราชวงศ์บอกกับ CNN เมื่อวันที่ 17 มกราคมว่า “อาการของพระองค์ ‘ไม่ใช่’ มะเร็ง” 

การประกาศว่าเจ้าชายวิลเลียมจะกลับมาประกอบพระราชพิธีต่อในราชวงศ์เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่คิงชาร์ลส์จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง โดยแหล่งข่าวใกล้ชิดเจ้าชายแห่งเวลส์ระบุว่า เจ้าชายวิลเลียมทรงติดต่อกับพระราชบิดาเป็นประจำ 

ส่วนสมเด็จพระราชินีคามิลลาทรงปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มรูปแบบในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะดำเนินต่อไป ในขณะเดียวกัน สมาชิกที่ทำงานคนอื่นๆ ในราชวงศ์ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อสาธารณะต่อไป  

ตามรายงานของสำนักงานดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ระบุว่า เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ซึ่งได้พูดคุยกับคิงชาร์ลส์ตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งก็จะกลับมายังสหราชอาณาจักรในอีกไม่กี่วันข้างหน้า  

จะเกิดอะไรขึ้นหากกษัตริย์ประชวร ‘เกินกว่า’ จะทำงาน?

แม้ว่าสัญญาณทั้งหมดที่ประกาศมาจากพระราชวังจะเป็นไปในทางบวก แต่ก็มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ชั่วคราว ในกรณีนี้สามารถเรียก ‘ที่ปรึกษาแห่งรัฐ’ ให้เข้ามามาปฏิบัติหน้าที่แทนได้ โดยสามารถแต่งตั้งที่ปรึกษา 2 คนให้ดำเนินการในนามของพระมหากษัตริย์ได้ผ่านทาง ‘สิทธิบัตรจดหมาย’ เพื่อช่วยให้กระบวนการของรัฐดำเนินการต่อไปได้ 

ที่ปรึกษาแห่งรัฐจะได้รับอนุญาตให้ลงนามในเอกสาร เข้าร่วมการประชุมคณะองคมนตรี และรับเอกอัครราชทูตใหม่ แต่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญที่สุดบางประการตามรัฐธรรมนูญ เช่น การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (***แต่ถึงกระนั้นในปัจจุบันก็ยังไม่มีแผนที่จะแต่งตั้งที่ปรึกษาใดๆ) 

รายชื่อราชวงศ์ที่สามารถเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐได้ ได้แก่  

  • สมเด็จพระราชินีคามิลลา  
  • เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ 
  • เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ (ลาออกจากราชวงศ์) 
  • เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก (ถูกบังคับให้ลาออกจากกรณีอื้อฉาว) 
  • เจ้าหญิงเบียทริซ  

ในปี 2022 คิงชาร์ลส์ทรงขยายกลุ่มสมาชิกในราชวงศ์นี้ให้ครอบคลุมพี่น้องของพระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงแอนน์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด หากมีการประกาศใช้ตัวเลือกนี้ในอีกไม่กี่สัปดาห์หรือหลายเดือนข้างหน้า ก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่ดยุคแห่งซัสเซกซ์หรือดยุกแห่งยอร์กจะถูกสั่งให้ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แทน เนื่องจากพระองค์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในราชวงศ์แล้ว 

หากพระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้โดยสิ้นเชิงและรัฐไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมอีกต่อไป ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็สามารถถอนอำนาจของพระองค์และรับอำนาจแทนได้ ภายใต้พระราชบัญญัติผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน 1937 ซึ่งลำดับราชวงศ์ในการขึ้นครองราชย์ก็คือ ‘เจ้าชายวิลเลียม’ 

การที่จะเป็นเช่นนั้นได้นั้นจะต้องมีหลักฐานทางการแพทย์ว่า “กษัตริย์มี ‘ความบกพร่องทางจิตใจ’ หรือ ‘ร่างกายที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้น’ หรือ ‘มีสาเหตุแน่ชัดบางประการที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เหล่านั้นได้’”

และจะต้องผ่านการเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมากจากคณะกรรมการทั้ง 4 คนได้แก่  

  • อธิบดีศาลสูงสุด  
  • ประธานสภา  
  • หัวหน้าผู้พิพากษาแห่งอังกฤษ  
  • ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์  
  • และราชินีร่วมด้วย

โดยพวกเขาจะต้องประกาศการตัดสินใจเป็นลายลักษณ์อักษรและประกาศว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงพร้อมที่จะกลับมาปฏิบัติหน้าที่อีกครั้งหรือไม่?’ ในขณะเดียวกัน เจ้าชายวิลเลียมก็จะทำหน้าที่ในนามของพระองค์ 

Photo by Adrian DENNIS / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์