อัตราเงินเฟ้อในลาวแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 40 ในปีที่แล้ว และยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่องที่ประมาณร้อยละ 25.8 เมื่อเดือนที่แล้ว สกุลเงินท้องถิ่นที่อ่อนค่าลงกำลังกระตุ้นให้ราคาของสูงขึ้น หลังจากมูลค่าลดลงไปประมาณ 60% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปีปี 2021
ลาวต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นอย่างมาก ราคาของสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่อาหารไปจนถึงการขนส่งพุ่งสูงขึ้น ผู้ที่ใช้จ่ายเงินกีบได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด
สมจิตร พันคำ ผู้จัดการฟาร์มรายหนึ่งได้เปลี่ยนสถานที่ทำงานของเธอในเวียงจันทน์ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อของประเทศลาว นอกจากจำหน่ายข้าวและผักแล้ว สมจิตรยังจัดทัวร์พร้อมไกด์และนำเสนอหลักสูตรการทำอาหารและการทำเซรามิกที่ฟาร์มอินทรีย์ปัญญาเวช (Panyanivej Organic Farm)
นอกจากนี้ ความหายนะทางเศรษฐกิจของลาวทำให้สมจิตรต้องตกอยู่ในภาวะลำบาก เนื่องจากคนงานในฟาร์มของเธอได้หนีออกนอกประเทศเพื่อแสวงหาค่าจ้างที่ดีกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน “การขาดแคลนแรงงานทำให้การขยายขนาดฟาร์มเป็นเรื่องยาก รัฐบาลของเราไม่สามารถทำอะไรได้มาก…ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่ผู้คนอยากไป ฉันกังวลมาก แต่ฉันจะทำอย่างไรได้” สมจิตรบอก
สมจิตรเกรงว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานอาจกินเวลานานหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักเรียนไม่ยอมเข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นแล้วไปหางานทำและหาเงินแทนท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นของลาว “เศรษฐกิจเป็นเหตุผลหลัก และผู้คนไม่เห็นเหตุผลใดๆ ที่จะต้องมีการศึกษา” สมจิตรกล่าว
รายงานของธนาคารโลกล่าสุดเกี่ยวกับลาวที่เผยแพร่ในเดือนเมษายนพบว่า จำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นชาวลาวที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ระหว่างเดือนมิถุนายน 2023 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ รายงานยังระบุด้วยว่าชาวลาวกำลังย้ายออกจากงานบริการและเข้าสู่บทบาทด้านการเกษตรและการผลิต
ลาวติดอยู่กับค่าเงินกีบที่ ‘อ่อนแอ’

ภูเพชร เกียวีพิลาวงศ์์ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของลาว ออกมาเตือนว่าอย่ากล่าวเกินจริงถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจของประเทศ
แม้ว่าชาวลาวบางคนที่ใช้จ่ายสกุลเงินกีบท้องถิ่นกำลังมองหางานที่ได้ค่าตอบแทนดีกว่า แต่คนอื่นๆ อาจมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวเผยว่า ชาวลาวจำนวนมากทำธุรกิจด้วยสกุลเงินต่างประเทศที่มั่นคง เช่น ดอลลาร์สหรัฐ และบาทไทย “ชาวลาวยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ทองคำ และปลูกอาหารของตัวเอง ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการนำเข้าสิ่งจำเป็นพื้นฐาน” ศาสตราจารย์กล่าว
“ชาวลาวได้เรียนรู้ที่จะปกป้องตัวเองจากเงินกีบที่อ่อนค่าและความเสียหายจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียระหว่างปี 1997-1998" ภูเพชรกล่าว
เพื่อหนุนเงินกีบซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและหนี้ต่างประเทศจำนวนมากของลาวก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้น ภูเพชรกล่าวว่า “การผลักดันให้เงินทุนไหลเข้ามากขึ้นผ่านการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยวจะเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ผู้จัดการฟาร์มอย่าง สมจิตร ใช้อยู่แล้ว”
ขณะนี้ ลาวมีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเมียนมาที่เสียหายจากสงคราม ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทั้ง 2 ประเทศเป็นกลุ่มประเทศที่ผิดปกติมากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียเกิดใหม่ (ประเทศกำลังพัฒนา) ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ในปีที่แล้ว และร้อยละ 3.9 ในปี 2022
“การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีที่ร้อยละ 3.7 ในปีที่แล้ว ตรงกันข้ามกับปัญหาเงินเฟ้อของลาวอย่างสิ้นเชิง ในปีนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของประเทศคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น” ตามรายงานเมื่อเดือนเมษายนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุ
“เศรษฐกิจลาวยังคงฟื้นตัวปานกลางในปี 2023 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการค้า อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากหนี้ที่ไม่ยั่งยืนและอัตราเงินเฟ้อที่สูงยังคงมีอยู่ ส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศลดลง” โซโนมิ ทานากะ ผู้อำนวยการธนาคารประจำประเทศลาว กล่าว
แต่ เหวินชองเจีย นักวิเคราะห์การวิจัยเอเชียของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและการเมือง ‘Economist Intelligence Unit’ บอกว่า “อัตราเงินเฟ้อในประเทศลาวและการอ่อนค่าของเงินกีบอาจแย่ลงอีกในปีนี้ สาเหตุหลักมาจากการพึ่งพาการนำเข้าของลาว”
“เงินกีบที่อ่อนค่ากำลังผลักดันราคาสินค้านำเข้าให้สูงขึ้น โดยเฉพาะปิโตรเลียม หากไม่มีน้ำมันสำรองในประเทศ ลาวก็พึ่งพาการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์นี้อย่างเต็มที่ ทำให้มีความอ่อนไหวสูงต่ออัตราเงินเฟ้อนำเข้า ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ปี 2022... เพื่อบรรเทาความกังวลเรื่องค่าครองชีพ ลาวควรเพิ่มการผลิตอาหารและเปลี่ยนมาใช้ทางเลือกที่ถูกกว่า แต่เวียงจันทน์จะเผชิญกับความท้าทายในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศหมดลง” เหวินกล่าว
เป็นหนี้จีน

การรับรู้ของตลาดเชิงลบเกี่ยวกับหนี้ต่างประเทศจำนวนมากของลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อจีน ได้ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของเงินกีบ
ตามรายงานของธนาคารโลกเมื่อเดือนเมษายนระบุว่า หนี้ต่างประเทศของลาวเกินร้อยละ 110 ของ GDP นอกจากนี้ ลาวยังเลื่อนการชำระหนี้เกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับจีนระหว่างปี 2020-2023
“หนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการชำระคืนส่วนแบ่งของเวียงจันทน์ในโครงการรถไฟลาว-จีน” เจยันต์ เมนอน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน ‘ISEAS–Yusof Ishak’ ของสิงคโปร์ กล่าว โครงการรถไฟดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (China’s Belt and Road Initiative)
“ลาวติดหนี้ เพราะจำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อใช้เป็นเงินทุน แม้แต่ดอกเบี้ยจากหนี้ของตัวเอง และสามารถฟื้นตัวได้ก็ต่อเมื่อมีการปลดหนี้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ลาวปฏิเสธโครงการ IMF และหันไปหาจีนโดยตรงเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาหนี้และเศรษฐกิจมหภาค ไม่ค่อยมีใครรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขการเจรจากับจีน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่าเพียงพอที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพหรือไม่” เมนอน กล่าว
เมนอนกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “จีนไม่เต็มใจที่จะยกเลิกหนี้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เนื่องจากกลัวว่าจะสร้างแบบอย่าง”
จีนถูกกล่าวหามานานแล้วว่าใช้ ‘การทูตกับดักหนี้’ (debt trap diplomacy) หรือการกู้ยืมเงินแก่ประเทศยากจนเพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมืองเหนือพวกเขา
แต่จากข้อมูลของภูเพชรระบุว่า นักวิเคราะห์ที่กล่าวหาจีนถึงพฤติกรรมนี้มองข้ามว่าเงินกู้ของจีนได้กระตุ้นการลงทุนของลาว ส่งเสริมการค้าแร่และการท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟลาว-จีน นอกจากนี้ ทางรถไฟยังได้ลดเวลาเดินทางจากเวียงจันทน์ไปยังหลวงพระบาง สถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศ จาก 8 ชั่วโมงเหลือประมาณ 2 ชั่วโมง
“ผู้คนต่างตื่นเต้นกับจีนมากเกินไป รัฐบาลลาวกำลังเจรจากับจีนด้วย และหนี้กับจีนยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เราไม่เหมือนศรีลังกา เรามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง นอกจากนี้เรายังกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนในโครงการเขื่อนและทางรถไฟด้วย และรายได้จากสินทรัพย์เหล่านี้สามารถนำไปใช้ชำระหนี้ได้” ภูเพชรกล่าว
ในปี 2022 ศรีลังกาประกาศล้มละลายท่ามกลางวิกฤติการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นและค่าเงินของก็ร่วงลง ขณะที่ IMF อนุมัติการทบทวนแพ็คเกจช่วยเหลือศรีลังกามูลค่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งที่่ 2 เมื่อต้นเดือนนี้
“บทบาทของจีนจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ลาวหลุดพ้นจากวิกฤตเงินเฟ้อ”
“ลาวต้องการให้จีนยกเลิกหนี้ส่วนใหญ่ของตัวเอง หรือไม่เช่นนั้น ลาวก็ต้องขอความช่วยเหลือจากโครงการ IMF ที่มีมาตรการปรับโครงสร้างใหม่และเข้มงวด นี่เป็นทางเลือกเดียวในระยะสั้น ไม่ว่าในกรณีใด สิ่งต่างๆ จะแย่ลงก่อนที่จะดีขึ้น” เมนอน กล่าว
รัฐบาลลาวเตรียม ‘เพิ่มเงินเดือน’ ให้ข้าราชการท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อ

รัฐบาลลาวได้ประกาศแผนการเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำของข้าราชการเป็นระหว่าง 2 ล้านกีบถึง 2.2 ล้านกีบ (ราว 3,300-3,700 บาท) ภายในปี 2025 เพื่อตอบสนองต่อค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นและวิกฤตเศรษฐกิจ
สันติภาพ พรมวิหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ถึงนโยบายของรัฐบาลในการขึ้นเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงข้าราชการและตำรวจ แม้จะมีการเพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่รัฐมนตรียอมรับว่าเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงในปัจจุบันยังคงไม่เพียงพอที่จะบรรเทาผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อและค่าเงินที่อ่อนค่าลง
ในปี 2023 รัฐบาลขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 1.7 ล้านกีบ (ราว 2,800 บาท) และจัดสรรเงินเพิ่ม 150,000 กีบ (ราว 250 บาท) เพื่อชดเชยค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ในปีนี้ มีการเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ทำให้เงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 1.85 ล้านกีบ (ราว 3,100 บาท)
สันติภาพย้ำว่ารัฐบาลคำนึงถึงการจ่ายเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และลูกจ้างเกษียณอายุให้ตรงเวลาเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากอัตราเงินเฟ้อและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ยังคงส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพของพนักงานภาครัฐ
เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ กระทรวงการคลังกำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการเพิ่มเงินเดือนเพิ่มเติม โดยการวิจัยเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าสามารถเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 2-2.2 ล้านกีบ ซึ่งเพิ่มขึ้น 8-18% จากเงินเดือนขั้นต่ำในปัจจุบัน และคาดว่าจะดำเนินการเพิ่มเงินเดือนเป็นช่วงๆ เริ่มตั้งแต่ปี 2025
เมื่อเดือนที่แล้ว บุญเหลือ สินชัยวรวงศ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป. ลาว ประกาศว่าอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงจนถึงสิ้นปี ทำให้การลดอัตราเงินเฟ้อลงเหลือร้อยละ 9 ไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลในปี 2023 ขณะที่เงินกีบลาวยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก
Photo by Jack TAYLOR / AFP