กอดกันหน่อยดีไหม? วิจัยใหม่ ยัน การสัมผัสดีต่อสุขภาพกายและใจ

14 เมษายน 2567 - 02:01

Large-study-finds-touch-can-benefit-a-persons-physical-and mental-wellbeing-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ในการวิเคราะห์ข้อมูลครั้งใหญ่ นักวิจัยเปิดเผยว่าวิธีการสัมผัสแบบใดบ้างที่จะส่งผลต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

คุณอาจนึกถึงความรู้สึกสบายเมื่อใครสักคนกอดคุณในวันเครียดๆ หรือลูบไหล่คุณเวลาที่คุณกำลังรู้สึกแย่ แต่คำถามก็คือ “การสัมผัสช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นจริงหรือ” และการที่ “ใครเป็นคนสัมผัสหรือสัมผัสอย่างไร” มีความหมายหรือไม่

ที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายที่เปิดเผยว่าการสัมผัสมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเรา แต่น้อยมากที่พยายามจะดึงข้อมูลขนาดใหญ่ของงานวิจัยนั้นมารวมไว้ด้วยกัน เพื่อค้นหาคำตอบเหล่านี้ นักวิจัยจาก Social Brain Lab แห่งสถาบันประสาทวิทยาแห่งเนเธอร์แลนด์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเอสเซนได้จัดการวิเคราะห์ขนาดใหญ่จากงานวิจัยหลายฉบับที่สำรวจเกี่ยวกับการสัมผัส

โดยผู้เชี่ยวชาญได้เผยข้อความที่เรียบง่ายว่า “การสัมผัสช่วยได้”

ดร.เฮเลนา ฮาร์ทมัน ผู้ร่วมเขียนงานวิจัย จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเอสเซน กล่าวว่า “ยิ่งมีการสัมผัสด้วยความเต็มใจในแต่ละวันของเรา สามารถช่วยบรรเทาหรืออาจทำให้ผ่อนคลายจากอาการทางด้านจิตใจและร่างกายได้”

งานวิจัยนี้เผยแพร่ในวารสาร Nature Human Behaviour โดยรวบรวมงานวิจัยที่เคยตีพิมพ์แล้ว 212 ฉบับ และประกอบด้วยการวิเคราะห์เชิงสถิติในผู้ใหญ่ 85 ฉบับ และเด็กแรกเกิด 52 ฉบับ 

จากการวิเคราะห์พบว่าการสัมผัสมีประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ทั้งในผู้ใหญ่และเด็กแรกเกิด อย่างไรก็ตามการสัมผัสบางบริเวณให้ผลมากกว่าบริเวณอื่นๆ

“การทำงานของเราอธิบายได้ว่าการแทรกแซงด้วยการสัมผัสเหมาะที่สุดสำหรับการลดความเจ็บปวด ภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวลในผู้ใหญ่และเด็ก เช่นเดียวกับการเพิ่มน้ำหนักให้กับเด็กแรกเกิดด้วย”

นักวิจัยเขียน

การวิเคราะห์เผยว่า สำหรับสุขภาพกายเมื่อถูกสัมผัสด้วยคนและจากวัตถุสิ่งของให้ประโยชน์เท่ากัน เช่น จากหุ่นยนต์ หรือผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก 

ดร.ฮาร์ทมัน กล่าวว่ามันน่าประหลาดใจ “นี่หมายความว่าเราจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ในการใช้ผ้าห่มถ่วงน้ำหนักหรือหุ่นยนต์มาดูแลสุขภาพผู้คน โดยเฉพาะระหว่างประสบกับสถานการณ์ที่จำกัดการสัมผัส อย่างเช่น ช่วงระบาดโควิด 19 ที่เพิ่งเกิดขึ้น”

ทีมวิจัยยังกล่าวว่า การสัมผัสของคนดีต่อสุขภาพจิตมากกว่าจากวัตถุ เพราะเป็นการสัมผัสด้วยผิวหนังกับผิวหนัง นอกจากนี้การสัมผัสนั้นดีต่อทั้งคนที่สุขภาพดีและคนป่วย แม้ว่าจะให้ผลที่ดีกว่าในเวลาต่อมาสำหรับประโยชน์ต่อสุขภาพจิต 

ส่วนชนิดและระยะเวลาในการสัมผัสนั้นไม่สำคัญ แม้ว่าการสัมผัสยิ่งบ่อย ยิ่งให้ประโยชน์มากกว่าในผู้ใหญ่ นอกจากนี้การสัมผัสศีรษะสัมพันธ์กับประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าส่วนอื่นๆของร่างกาย

ทีมวิจัยเตือนว่าการค้นพบบางอย่างอาจเป็นผลบวกปลอม ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนถ้านำไปใช้ในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

ดร. มาเรียนา วอน มอฮร์ จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องในงานวิจัยนี้ กล่าวว่า ถ้าอนาคตหุ่นยนต์สามารถเลียนแบบเนื้อและความอุ่นของผิวหนังมนุษย์ได้เหมือนจริงมากขึ้น พวกเขาอาจสามารถให้ประโยชน์ต่อสุขภาพจิตได้เทียบเท่าการสัมผัสของมนุษย์ได้

“สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญเพราะผิวหนังของพวกเราประกอบด้วยเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่เรียกว่า C-tactile afferent โดยเฉพาะอย่างยิ่งรับความรู้สึกอ่อนโยน การสัมผัสด้วยความรักใคร่ และอุณหภูมิที่เหมือนกับผิวหนังมนุษย์ เป็นปัจจัยที่น่าจะมาช่วยส่งเสริมการดูแลทางด้านอารมณ์ได้”

ศาสตราจารย์ แคเทอรีนา โฟโทพูลู แห่งมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่างานวิจัยนี้เป็นการมองผิวเผินเกี่ยวกับประโยชน์ของการแทรกแซงด้วยการสัมผัสต่อสุขภาพ เธอเตือนว่างานวิจัยนี้ไม่ได้ให้บทสรุปที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ชนิดของการสัมผัสแบบไหนที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยงานวิจัยนี้ควรเพิ่มงานใหม่ที่เกี่ยวข้องเข้าไป นั่นก็คือ สัมผัสอย่างไรที่สามารถนำมาใช้ควบคู่กับการรักษาอื่นๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์