หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมาเมื่อปลายเดือนมีนาคมจนสะเทือนถึงไทยรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนเกือบทุกจังหวัดโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่อื่นๆ แถมภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์ยังมีรายงานแผ่นดินไหวขนาด 3.5 ที่จังหวัดกระบี่ และขนาด 2.4 ที่จังหวัดกาญจนบุรีเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้คนไทยได้ตระหนักว่า ‘แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว’
ว่ากันด้วยเรื่อง ‘รอยเลื่อน’ ซึ่งเป็นรอยแยกที่เกิดจากการที่แผ่นเปลือกโลกทั้งสองแผ่นเคลื่อนตัวผ่านกัน ในบริเวณเหล่านี้มักสะสมพลังทำลายล้าง เมื่อเกิดความเครียดสะสมตามรอยเลื่อน และถูกปลดปล่อยออกมาอย่างกะทันหัน จะส่งผลให้เกิด ‘แผ่นดินไหว’
SPACEBAR พาไปสำรวจ ‘รอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่ทั้งใหญ่ทั้งอันตราย’ เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
1. รอยเลื่อนซานแอนเดรียส, สหรัฐฯ, ทอดยาวกว่า 1,300 กิโลเมตร

‘รอยเลื่อนซานแอนเดรียส’ เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ระหว่างระหว่างแผ่นแปซิฟิกและแผ่นอเมริกาเหนือทอดยาวประมาณ 1,300 กิโลเมตรผ่านทะเลซัลตันทางตอนใต้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ไปจนถึงแหลมเมนโดซิโนทางตอนเหนือ และผ่านเมืองใหญ่ๆ อย่างลอสแองเจลิสและซานฟรานซิสโก
ลักษณะทางธรณีวิทยาที่โดดเด่นปรากฏให้เห็นเป็นหน้าผาและหุบเขาตลอดแนวรอยเลื่อนว่ากันว่ารอยเลื่อนซานแอนเดรียสเป็นที่รู้จักจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เช่น แผ่นดินไหวซานฟรานซิสโกขนาด 7.8 ในปี 1906
ที่ผ่านมา นักธรณีวิทยามักจะศึกษารอยเลื่อนนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อทำความเข้าใจลักษณะการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ทั้งนี้พบว่ารอยเลื่อนซานแอนเดรียสบริเวณชุมชนพาร์คฟิลด์ในแคลิฟอร์เนียตอนกลางมักก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 ประมาณ 1 ครั้งในทุก ๆ 22 ปี
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ได้รับการบันทึกไว้ในปี 1857, 1881, 1901, 1922, 1934 และ 1966 นักธรณีวิทยาได้คาดการณ์ว่าแผ่นดินไหวอีกครั้งจะเกิดขึ้นที่พาร์คฟิลด์ในปี 1993 และเกิดขึ้นในที่สุดในปี 2004 และเนื่องจากกิจกรรมแผ่นดินไหวที่คาดเดาได้บ่อยครั้ง พาร์คฟิลด์จึงกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลกสำหรับการวิจัยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่
2. รอยแยกแอฟริกาตะวันออก, แอฟริกาตะวันออก, ทอดยาวกว่า 6,400 กิโลเมตร
‘รอยแยกแอฟริกาตะวันออก’ (EAR) เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่ทอดยาว 6,400 กิโลเมตรจากทะเลแดงไปจนถึงโมซัมบิก รอยแยกดังกล่าวมีลักษณะเด่นคือ หน้าผาสูงชัน เป็นแหล่งภูเขาไฟ และมีทะเลสาบลึก แต่รอยแยกนี้แตกต่างจากรอยเลื่อนอื่นๆ ตรงที่รอยแยกนี้กำลังแยกทวีปแอฟริกาออกจากกัน และก่อตัวเป็นแอ่งมหาสมุทรแห่งใหม่ในที่สุด
บริเวณเขตรอยแยกแอฟริกาตะวันออกจะรายล้อมไปด้วยภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นและยังไม่ดับสนิทจำนวนหนึ่ง ได้แก่ :
- ยอดเขาคิลิมันจาโร, ภูเขาเมอรูในแทนซาเนีย
- ภูเขาเคนยา, ภูเขาไฟลองโกโนต, ปล่องภูเขาไฟเมเนนไกในเคนยา
- ภูเขาคาริซิมบีในรวันดา
- ภูเขานิอิรากองโกในคองโก
- ภูเขาเอลกอนในยูกันดา
EAR เป็นรอยแยกที่มีแผ่นดินไหวใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน แผ่นดินไหวส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นใกล้กับแอ่งอาฟาร์ แต่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดมักเกิดขึ้นตาม หรือใกล้กับรอยเลื่อนชายแดนหลัก สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในศตวรรษที่ผ่านมาคาดว่าจะมีความรุนแรงสูงสุดที่ 7.0 โดยเหตุแผ่นดินไหวครั้งสำคัญจากรอยเลื่อนนี้ ได้แก่ :
- ปี 2002 แผ่นดินไหวในทะเลนามกา (Nyamka)
- ปี 2007 แผ่นดินไหวในทะเลสาบแทนกันยีกา (Tanganyika) ในทวีปแอฟริกา
3. รอยเลื่อนอานาโตเลียเหนือ, ทูร์เคีย (ตุรกี), ทอดยาวกว่า 1,500 กิโลเมตร
‘รอยเลื่อนอานาโตเลียตอนเหนือ’ (NAF) ในตุรกีแห่งนี้เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียและแผ่นเปลือกโลกย่อยอานาโตเลีย ทอดความยาวกว่า 1,500 กิโลเมตรพาดผ่านพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นรวมถึงอิสตันบูล ทำให้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว
NAF ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดในโลก และเป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวรุนแรงหลายครั้ง เช่น แผ่นดินไหวขนาด 7.6 ที่อิซมิตในปี 1999 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 20,000 ราย และมีผู้สูญหายจำนวนมาก
นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมืองเออร์ซินจันในปี 1939 ก็มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้นถึง 7 ครั้งด้วยกัน โดยวัดความรุนแรงได้เกิน 7.0 ในแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นในจุดๆ หนึ่งจะค่อยๆ เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก
ประวัติศาสตร์ของรอยเลื่อนนี้เกี่ยวพันกับอารยธรรมโบราณ รวมถึงชาวไบแซนไทน์และออตโตมันที่สร้างเมืองขึ้นตามรอยเลื่อนนี้ เรื่องราวที่เล่าขานกันมามักเกี่ยวกับเมืองต่างๆ ที่ถูกทำลายและสร้างขึ้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้นได้เน้นย้ำถึงการดำรงอยู่ของรอยเลื่อนนี้ตลอดชีวิตของชาวตุรกีมาอย่างยาวนาน
4. ร่องลึกญี่ปุ่น, ญี่ปุ่น, ทอดยาวกว่า 800 กิโลเมตร

‘ร่องลึกญี่ปุ่น’ (Japan Trench) เป็นร่องลึกใต้มหาสมุทรที่ตั้งอยู่บริเวณนอกชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นทอดยาวกว่า 800 กิโลเมตรจากหมู่เกาะคูริลไปจนถึงปลายด้านเหนือของหมู่เกาะอิซุ
กิจกรรมแผ่นดินไหวตามแนวร่องลึกญี่ปุ่นเกิดขึ้นตามแนวเขตการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนตัวเข้าหากันระหว่างแผ่นเปลือกโลกโอค็อตสค์และแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกที่มุดตัวลง การเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่องตามแนวขอบของแผ่นเปลือกโลกเหล่านี้เกิดขึ้นที่ความลึกประมาณ 8,000 เมตร ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่หลายครั้ง รวมถึงเหตุแผ่นดินไหวโทโฮกุเมื่อปี 2011 ที่มีความรุนแรงถึง 9.0 ทำให้เกิดรอยแยกและคลื่นสึนามิขนาดใหญ่
ในปี 1896 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ขึ้นที่บริเวณร่องลึกญี่ปุ่น ต่อมาในปีเดียวกันก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.5 ซึ่งครั้งนั้นทำให้เกิดคลื่นสึนามิ 2 ลูก สร้างความเสียหายอย่างหนัก หลังจากนั้นในปี 1938 ก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ขึ้นไปถึง 5 ครั้งบริเวณฟุกุชิมะ-โอกิ
5. รอยเลื่อนด้านหน้าหิมาลัย, อินเดีย-เนปาล, ทอดยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร

‘รอยเลื่อนด้านหน้าหิมาลัย’ (HFT) เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินเดียและยูเรเซียพาดผ่านเชิงเขาหิมาลัยและที่ราบอินโด-คงคาทอดยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ทั้งยังเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านแผ่นดินไหวอย่างมีนัยสำคัญต่อภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นรอบเทือกเขาหิมาลัย รวมถึงเมืองใหญ่ๆ ในอินเดียและเนปาล
ว่ากันว่ารอยเลื่อนนี้เป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในโลกหลายครั้ง เช่น แผ่นดินไหวกอร์กาขนาด 7.8 ที่ประเทศเนปาลในปี 2015 คร่าชีวิตผู้คนเกือบ 10,000 ราย
6. รอยเลื่อนสุมาตราใหญ่, อินโดนีเซีย, ทอดยาวกว่า 1,900 กิโลเมตร
‘รอยเลื่อนสุมาตราใหญ่’ หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘รอยเลื่อนเซมังโก’ เป็นแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกในมหาสมุทรอินเดียระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียและแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย อีกทั้งยังเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่เคลื่อนตัวตามแนวยาวของเกาะสุมาตราในอินโดนีเซีย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิรุนแรงหลายครั้ง
ที่ผ่านมา รอยเลื่อนนี้ก่อให้เกิดแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิครั้งใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียมาแล้วหลายครั้ง :
- ปี 1994 แผ่นดินไหวลิวาใต้สุดของเกาะสุมาตราขนาด 7.0 คร่าชีวิตผู้คน 207 ราย
- ปี 1995 แผ่นดินไหวที่เกาะเกอริงชีขนาด 6.8 คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 84 ราย และบาดเจ็บ 1,868 ราย
- ปี 2004 แผ่นดินไหวขนาดประมาณ 9.1-9.3 ถือเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งทำให้เกิดการทำลายล้างอย่างกว้างขวางและการสูญเสียชีวิตหลายแสนคน
