งานวิจัยล่าสุดเผย มลพิษทางแสงทำให้แมงมุมที่อาศัยอยู่ในเมืองมีขนาดสมองเล็กลง ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการปีนป่ายและล่าเหยื่อได้
“การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสมองอาจขัดขวางความสามารถของแมงมุมในการทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การหาอาหารและการนำทางในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน... มลพิษทางแสงอาจเป็นข่าวร้ายสำหรับแมงมุม และยังส่งผลต่อคนด้วย” เทเรซา โจนส์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ซึ่งเป็นผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบทางนิเวศวิทยาของมลภาวะแสงต่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง กล่าว
ศาสตราจารย์โจนส์ กล่าวเสริมว่า “ประวัติศาสตร์อันยาวนานที่เรามีเกี่ยวกับวงจรแสงกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง...ทั้งมนุษย์และแมงมุมต่างผลิตเมลาโทนินในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นสารเคมีสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มลพิษทางแสงรบกวนนั้นส่งผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ การอยู่รอด การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และกระบวนการทางสรีรวิทยาอื่นๆ อีกมากมาย”
“แมงมุมเป็นตัวอย่างสำหรับการทำความเข้าใจผลกระทบของมลภาวะแสง...ใช่แล้ว มันมี 8 ขา เห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถจับมนุษย์มาควักสมองออกมาแล้วทำซีทีสแกนได้ แต่เราสามารถใช้แมงมุมเพื่อเริ่มศึกษาผลกระทบบางส่วนได้” ศาสตราจารย์โจนส์ กล่าว
ศาสตราจารย์โจนส์ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบทางระบบนิเวศของแสงประดิษฐ์ในเวลากลางคืนมานานกว่าทศวรรษ เธอกล่าวว่าการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาครั้งแรกของโลกที่วัดผลกระทบของมลภาวะแสงต่อโครงสร้างสมองของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
นิโคลัส วิลมอตต์ ผู้เขียนหลักและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นได้รวบรวมแมงมุมตระกูล ‘juvenile garden orb-weaving spiders’ เพศเมีย 20 ตัวและเพศผู้ 10 ตัวจากสถานที่มืดๆ ทั่วเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
แมงมุมเหล่านี้จะถูกนำไปเลี้ยงในห้องแล็บเฉพาะทางและให้จิ้งหรีดเป็นอาหารสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยที่แมงมุมจำนวนครึ่งหนึ่งถูกปล่อยให้อยู่ในสภาวะแสงที่เทียบเท่ากับการยืนอยู่ใต้เสาไฟข้างถนน
เมื่อแมงมุมโตเต็มที่ ซึ่งตัวผู้จะใช้เวลา 35 วัน และตัวเมียจะใช้เวลา 50 วัน จากนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงแช่แข็งและนำสมองของแมงมุมออกมา
ศาสตราจารย์โจนส์ กล่าวว่า “แมงมุมเหล่านี้สวยงามและมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ลำตัวยาวถึง 3 ซม. และมีขาที่ยาวกว่านั้นอีก แต่สมองของพวกมันนั้นเล็กมาก ซึ่งเทียบเท่ากับขนาดหัวปากกาลูกลื่น”
ทีมวิจัยได้วัดและวิเคราะห์สมองของแมงมุมโดยใช้เครื่องสแกนไมโครซีที ซึ่งเป็นเครื่องขนาดเล็กกว่าและมีความละเอียดสูงกว่าเครื่องที่ใช้กับมนุษย์ ทั้งนี้พบว่า ในกลุ่มแมงมุมที่สัมผัสกับแสงประดิษฐ์ โดยส่วนหนึ่งของสมองที่เรียกว่า ‘เส้นทางการมองเห็น’ หลักมีขนาดเล็กกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับแมงมุมในกลุ่มควบคุม
ขณะที่ ดร.ลอเรน ฟาร์เดลล์ นักนิเวศวิทยาซึ่งศึกษาผลกระทบของมลภาวะแสงแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวว่า “แสงประดิษฐ์จากโคมไฟข้างถนน บ้านเรือน และเมืองต่างๆ มีผลกระทบต่อสัตว์ป่ามากมาย มลพิษในตอนกลางคืนอาจทำให้สัตว์เสียสมาธิจากการตอบสนองตามปกติ และนำพวกมันไปในทางที่รบกวนการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในช่วงที่เต่าทะเลกำลังฟักไข่ หรือช่วงที่นกหรือผีเสื้ออพยพ เป็นต้น”
ฟาร์เดลล์ กล่าวอีกว่า “สัตว์ในออสเตรเลียจำนวนมากเป็นสัตว์หากินเวลากลางคืน และได้รับผลกระทบอย่างมากจากแสงไฟประดิษฐ์ในเวลากลางคืน ซึ่งทำให้การรับรู้วงจรแสงธรรมชาติเปลี่ยนไป”
อย่างไรก็ดี สภาท้องถิ่นหลายแห่งในออสเตรเลียกำลังดำเนินการติดตั้งระบบแสงอุ่นระดับต่ำ ซึ่งช่วยลดจำนวนชั่วโมงการใช้แสงสว่าง รวมถึงกำหนดพื้นที่มืดและสวนสาธารณะไร้แสงด้วย นอกจากนี้ ครัวเรือนต่างๆ ยังสามารถร่วมมือได้ด้วยการลดใช้แสงสว่างภายนอกและปิดผ้าม่านเพื่อป้องกันไม่ให้แสงภายในส่องออกมาข้างนอก