เป็นเวลาหลายปีแล้วที่พนักงานชาวจีนถูกครอบงำชีวิตด้วย ‘ระบบงาน 996’ อันโหดร้ายที่จะต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ตั้งแต่ 9.00-21.00 น. ถึงขนาดได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่พลเมืองทำงานล่วงเวลามากที่สุดในโลก ไม่เพียงเท่านั้น แต่พนักงานยังเผชิญกับความเครียดทางจิตใจ และความอ่อนล้าทางร่างกายอีกด้วย
ทว่าทุกอย่างที่เคยชินกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลได้ผลักดันให้บริษัทเลิกงานตรงเวลา อีกทั้งองค์กรต่างๆ ของจีนก็ยังออกมาตรการสนับสนุนให้พนักงานออกจากงานตรงเวลาตามนโยบายของรัฐ
รัฐบาลกดดันปราบ ‘ระบบงาน 996’
รัฐบาลจีนมุ่งมั่นที่จะ ‘ลด’ การทำงานล่วงเวลาเพื่อตอบสนองต่อความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการทำงานหนักเกินไป ซึ่งมักเชื่อมโยงกับระบบการทำงาน ‘996’ อันโหดร้าย และวัฒนธรรม ‘เน่ยจวน’ (การแข่งขันที่รุนแรงในสังคมจีน) ที่พนักงานต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ทำงานดีกว่ากัน
เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนได้กล่าวถึง ‘การแข่งขันแบบเน่ยจวน’ ในรายงานการทำงานประจำปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลรับรู้ถึงผลกระทบเชิงลบที่มีต่อพนักงาน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเองก็มีความหวังว่าความพยายามเหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้างและเป็นระบบมากขึ้น
‘DJI’ หนึ่งในบริษัทนำร่องมาตรการใหม่ 21.00 ต้องออกจากสำนักงาน!!!

บริษัทผลิตโดรนรายใหญ่อย่าง ‘DJI’ จากเมืองเซินเจิ้นเป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้ ซึ่งกำหนดให้พนักงานทุกคนต้องออกจากออฟฟิศภายใน 21.00 น. ถือเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากวัฒนธรรมเดิมที่แข่งขันกันทำงานช่วงดึก ทว่ามาตรการใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมากลับจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงบนโลกออนไลน์
ที่ผ่านมา ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและการทำงานล่วงเวลานั้นเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมหลายแห่งของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิต การเงิน และภาคเทคโนโลยีที่มีการแข่งขันสูง แม้ว่าบางคนอาจโต้แย้งว่าเวลา 21.00 น. ยังคงเป็นเวลาเลิกงานที่ช้าอยู่ดี แต่หลายคนก็ยินดีกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
วิศวกรซอฟต์แวร์ของ DJI คนหนึ่งซึ่งทำงานมาเป็นเวลา 4 ปี ได้แชร์ประสบการณ์ส่วนตัวของเขาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเสี่ยวหงชู (Xiaohongshu) ว่า “มาตรการใหม่ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ถือเป็น ‘ข่าวใหญ่’ สำหรับบริษัท...การทำงานหลังเที่ยงคืนเคยเป็นเรื่องปกติของบริษัท นับจากวันนี้เป็นต้นไป (การทำงานล่วงเวลา) จะกลายเป็นอดีต”
“แต่ปัจจุบัน ด้วยนโยบายใหม่นี้ พนักงานก็ไม่ต้องกังวลว่าจะพลาดรถไฟเที่ยวสุดท้าย หรือรบกวนครอบครัวในยามดึกอีกต่อไป...การตอกบัตรออกตรงเวลา 21.00 น. หมายความว่าผมไม่ต้องกังวลเรื่องการปลุกภรรยาเมื่อกลับถึงบ้านอีกต่อไป”
วิศวกรซอฟต์แวร์ของ DJI โพสต์
รายงานระบุว่าที่สำนักงานของ DJI ในเซี่ยงไฮ้จะปิดไฟในบริษัททุกวันเวลา 21.00 น. เพื่อเตือนพนักงานว่าถึงเวลาตอกบัตรออกและกลับบ้านแล้ว แม้ว่านักวิจารณ์บางคนจะโต้แย้งว่า 21.00 น. ก็ยังถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลาอยู่ดี แต่พนักงานหลายคนกลับมองว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขารู้สึกชื่นมื่นในอุตสาหกรรมที่กำหนดให้ทำงานล่วงเวลา
บริษัทอื่นๆ เริ่มปรับใช้นโยบายเลิกงานตรงเวลาไปตามๆ กัน
DJI ไม่ใช่บริษัทเดียวที่ต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลา แต่บริษัทที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ได้แก่
- บริษัทค้าปลีกชื่อดัง ‘Miniso’ : กำหนดระยะเวลาการประชุมไม่ควรเกิน 30 นาที, การดำเนินการอนุมัติไม่ควรใช้เวลาข้ามคืน, และห้ามการนำเสนองานด้วย PowerPoint เด็ดขาด
- ยักษ์ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้า ‘Midea Group’ : กำหนดให้พนักงานทุกคนต้องเลิกงานภายใน 18.20 น., ห้ามประชุมหลังเลิกงาน, และห้ามทำงานล่วงเวลาโดยไม่จำเป็น
เล่ยจุน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเสี่ยวหมี่ (Xiaomi) ได้แสดงการสนับสนุนเต็มที่ โดยโพสต์ข้อความบนแอปพลิเคชัน ‘WeChat’ ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของรัฐบาลว่า “เราต้องต่อต้านวัฒนธรรมเน่ยจวนและยึดมั่นกับการพัฒนาคุณภาพสูง เราจะต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงเพื่อพัฒนาในระดับไฮเอนด์...และเดินตามเส้นทางการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงอย่างสม่ำเสมอ”
แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะต้องใช้เวลา
ด้านมืดของวัฒนธรรม ‘เน่ยจวน’

หลี่เหวินตง รองศาสตราจารย์จากภาควิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (CUHK) บอกกับ สำนักข่าว CNA ว่า “บริษัทจีนเริ่มมองเห็น ‘ด้านมืด’ ของวัฒนธรรมเน่ยจวน และด้านลบของการทำงานเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง...มีการสันนิษฐานว่าการทำงานเป็นเวลานานจะทำให้มีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นมาก…แต่ผู้คนเริ่มสังเกตเห็นว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป แม้คุณจะทำงานเป็นเวลานานมาก ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีเสมอไป”
ครั้งหนึ่ง แจ็ค หม่า เจ้าพ่อเทคโนโลยีชาวจีนผู้ก่อตั้งอาลีบาบาเคยกล่าวไว้ในปี 2019 ว่า
“การที่พนักงานเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 ที่เข้มงวดนั้นถือเป็น ‘พรอันประเสริฐ’ หากขาดวัฒนธรรมดังกล่าว เศรษฐกิจจะ ‘สูญเสีย’ ความมีชีวิตชีวาและแรงผลักดันอย่างมาก...ผู้ที่สนุกกับงานของตัวเองจะไม่พบว่าระบบงาน 996 นั้นเป็นปัญหา”
แจ็ค หม่า กล่าว
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายในที่สาธารณะทวีความรุนแรงขึ้นท่ามกลางรายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการทำงานล่วงเวลาหลายราย
นี่เป็นครั้งแรกในรายงานการทำงานประจำปีที่ได้รับการคาดหวังอย่างมาก รัฐบาลจีนได้พูดถึงปัญหาของ ‘การแข่งขันแบบเน่ยจวน’ โดยกล่าวว่าจะมีการดำเนินการอย่างครอบคลุมเพื่อจัดการกับการแข่งขันที่ดุเดือด “เราจะดำเนินการอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในการพัฒนา ปรับปรุงสถาบัน และกฎเกณฑ์พื้นฐานเพื่อจุดประสงค์นี้” นายกฯ หลี่เฉียง กล่าว
นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่...
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมการทำงานของจีน ก็เกิดการตั้งคำถามว่าพนักงานที่ทำงานหนักเกินไปในประเทศจีนอาจกำลังเผชิญกับเปลี่ยนแปลงจริงๆ หรือไม่ หรือว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงระยะสั้น และเป็นเพียงการแสดง
ผู้เชี่ยวชาญบอกกับ CNA ว่า
“บริษัทใหญ่ๆ ของจีนที่ออกนโยบายต่อสู้กับวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 ที่เข้มงวดนั้น ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกในทิศทางที่ถูกต้อง แต่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะต้องใช้เวลา และผู้บริหารระดับสูงต้องยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง”
“การแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญ แต่การแข่งขันที่มากเกินไปนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ หากรัฐบาลจีนมีทัศนคติที่จริงจังต่อการปราบปรามระบบ 996 บริษัทต่างๆ และผู้บริหารก็จะต้องปรับนโยบาย อย่างไรก็ตาม คำสั่งใดๆ ที่ออกไปควรได้รับการอธิบายอย่างชัดเจน โดยปรึกษาหารือกับภาคอุตสาหกรรมและคนรุ่นใหม่ มิฉะนั้น พนักงานอาจเข้าใจผิดถึงเจตนาที่ดี” ดร.พอล ลิม อาจารย์อาวุโสด้านพฤติกรรมองค์กรและทรัพยากรบุคคลแห่งมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ (SMU) กล่าว
รองศาสตราจารย์หลี่จาก CUHK เผยว่า “ในทุกสำนักงาน อาจมีบางคนที่เลือกทำงานล่วงเวลาโดยสมัครใจ ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันให้พนักงานคนอื่นทำเช่นเดียวกัน เพราะเจ้านายของฉันทำงาน ฉันจะลาออกได้อย่างไร เพื่อนร่วมงานของฉันยังอยู่ที่เดิมและไม่ยอมลาออก...ผู้จัดการจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่และเป็นแบบอย่างที่ดี”
“การเป็นผู้นำก็สำคัญเช่นกัน คุณควรเป็นผู้นำแบบอย่างที่ดี หากคุณไม่สามารถจัดสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานได้ แล้วคุณจะคาดหวังให้พนักงานทำแบบเดียวกันได้อย่างไร” รองศาสตราจารย์หลี่ กล่าว
นโยบายเลิกงานตรงเวลาอาจต้องใช้เวลา...
เมื่อพูดถึงมาตรการต่อต้านระบบงาน 996 ที่บริษัทต่างๆ นำมาใช้ ดร.ลิมอธิบายว่า “มาตรการมาตรการเหล่านี้ ‘เป็นไปในทางบวก’” แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่าจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งก่อนที่วัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่จะกลายเป็นเรื่องปกติและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง “อาจมีการใช้มาตรการจูงใจหรือบังคับให้ปิดสำนักงาน แต่หากผู้จัดการยังคงคาดหวังให้พนักงานทำงานนอกสำนักงานหลังเวลาทำการก็เท่ากับย้ายงานออกไปนอกสำนักงานและไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” ดร.ลิม กล่าวเสริม
รองศาสตราจารย์หลี่กล่าวว่า “ผู้นำและฝ่ายบริหารจะต้องเจาะลึกลงไปอีกเพื่อค้นหาสาเหตุหลักว่าทำไมพนักงานจึงทำงานล่วงเวลา ทั้งนี้ การสร้างโอกาสสำหรับการพัฒนาและการฝึกอบรมทักษะควบคู่ไปกับการให้รางวัล เช่น การเลื่อนตำแหน่ง อาจช่วยให้พนักงานตระหนักถึงศักยภาพของตัวเอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยลดการแข่งขันในที่ทำงานและขจัดความจำเป็นในการ ‘ต่อสู้กันเอง’”
รองศาสตราจารย์หลี่เชื่อว่า องค์กรใดก็ตามที่ไม่ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน หรือสวัสดิการ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ก็แทบจะรับประกันได้เลยว่าชื่อเสียงในอุตสาหกรรมจะเสียหายในระยะยาว “การที่บริษัทไม่ใส่ใจพนักงาน และสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานนั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณเชิงลบต่อตลาด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผลกำไรของบริษัท”
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงล่าสุดที่บริษัท DJI และบริษัทอื่นๆ ทำ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อสู้อันยาวนานกับการทำงานล่วงเวลาของจีน แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ายังมีงานอีกมากที่ยังต้องทำ การที่รัฐบาล และองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับการลดการทำงานล่วงเวลามากขึ้นนั้น ถือเป็นสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่วัฒนธรรมที่ทำงานที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น แต่การทดสอบที่แท้จริงคือการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้หยั่งรากลึกในภูมิทัศน์ทางธุรกิจหรือไม่
ในตอนนี้ ขั้นตอนเริ่มต้นของมาตรการใหม่ชี้ให้เห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลง ทว่าเส้นทางสู่วัฒนธรรมการทำงานที่สมดุลในประเทศจีนยังคงยาวไกลอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง จำเป็นต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้นำจะต้องกำหนดแนวทางให้ชัดเจนสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
Photo by : Shutterstock / aslysun