‘ลองโควิด’ ร้ายกว่ามะเร็ง ทำคุณภาพชีวิตแย่ไม่รู้จบ

8 มิ.ย. 2566 - 07:27

  • งานวิจัยระบุว่า ระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิดบางรายแย่กว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 4 และผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง

  • ความเหนื่อยล้าเป็นอาการที่มีผลกระทบมากที่สุดต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิด

long-covid-can-impair-quality-of-life-more-than-advanced-cancers-SPACEBAR-Thumbnail

มีภาวะลองโควิดนานเกินไปก็ไม่ดี

รู้หรือไม่ว่าหลายคนที่มี ‘ภาวะลองโควิด’ (Long Covid) นานอาจมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพต่ำกว่าคนที่เป็นมะเร็งระยะลุกลามซะอีก 

จากการศึกษาที่นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) และมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ระบุว่าความเหนื่อยล้าเป็นอาการที่มีผลกระทบมากที่สุดต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิด และยังพบว่าหลายคนป่วยหนักและมีความเหนื่อยล้าแย่กว่าหรือคล้ายกับคนที่เป็นภาวะโลหิตจางจากมะเร็งหรือโรคไตขั้นรุนแรง 

นอกจากนี้ ระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพยังต่ำกว่าผู้ที่เป็นมะเร็งระยะลุกลามอย่างเช่น มะเร็งปอดระยะที่ 4 และผลกระทบยังแย่กว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย 

“ลองโควิดเป็นภาวะที่มองไม่เห็น…น่าตกใจที่การวิจัยของเราเปิดเผยว่าภาวะนี้อาจทำให้ผู้คนเหนื่อยล้าและมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่ามะเร็งบางชนิด แต่เราต้องการการวิจัยเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนเพื่อหาแนวทางการรักษาผู้คนที่พยายามจัดการกับสภาวะใหม่ที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม” ศาสตราจารย์วิลเลียม เฮนลีย์ ผู้ร่วมวิจัยจากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์กล่าว 

การวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าประมาณ 17% ของผู้ที่ได้รับเชื้อโควิดจะมีภาวะลองโควิด และจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติช่วงเดือนกรกฎาคม 2022 ระบุว่า ประชากรประมาณ 1.4 ล้านคนในสหราชอาณาจักรมีอาการของภาวะลองโควิด  


ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Open ได้ทำการศึกษาผู้ป่วยมากกว่า 3,750 รายที่ส่งต่อไปยังคลินิกลองโควิด หลังจากมีอาการอย่างน้อย 12 สัปดาห์ภายหลังจากการติดเชื้อ 

โดยผู้ป่วยจะให้ข้อมูลในแอปฯ เกี่ยวกับระยะเวลาที่โควิดส่งผลกระทบต่อพวกเขา รวมถึงผลกระทบต่อกิจกรรมประจำวัน ระดับความเหนื่อยล้า ซึมเศร้า วิตกกังวล หายใจไม่อิ่ม สมองฝ่อ และคุณภาพชีวิต 

และพบว่าผู้ป่วยลองโควิดมากกว่า 90% ที่ใช้แอปฯ อยู่ในวัยทำงาน (18-65 ปี) ขณะที่ 51% กล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถทำงานได้อย่างน้อย 1 วันในเดือนก่อนหน้า โดยที่ 20% ไม่สามารถทำงานได้เลย อีกทั้งข้อมูลยังระอีกว่าเกือบ 3 ใน 4 (71%) ของผู้ป่วยเป็นผู้หญิง 

“ผลการศึกษาของเราพบว่าภาวะลองโควิดอาจส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตของผู้ป่วย โดยความเหนื่อยล้ามีผลกระทบมากที่สุดต่อทุกสิ่ง ตั้งแต่กิจกรรมทางสังคมไปจนถึงการทำงาน งานบ้าน และการรักษาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น” 

“ทีมวิจัยหวังว่าความเข้าใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับอาการลองโควิดจะช่วยให้หน่วยบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) และผู้กำหนดนโยบายสามารถกำหนดเป้าหมายทรัพยากรที่จำกัดได้ดีขึ้นเพื่อปรับปรุงตัวเลือกการรักษา รวมถึงมุ่งเน้นไปที่บริการทางคลินิกและการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อจัดการกับความเหนื่อยล้า” ดร.เฮนรี กู๊ดเฟลโลว์ นักวิจัยจากสถาบันโรคระบาดและสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL Institute of Epidemiology and Health) ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยกล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์