หนึ่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการขนานนามให้เป็นเขตบลูโซน หรือเขตสีน้ำเงิน (Blue Zone) แห่งใหม่ล่าสุดแห่งที่ 6 ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้คนมีอายุยืนยาวและสุขภาพดี อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ผู้คนมีอายุขัยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก...ที่นี่ก็คือ ‘สิงคโปร์’
ทว่าเขตบลูโซนของสิงคโปร์นั้นต่างออกไปจากเขตบลูโซนแบบดั้งเดิม เพราะ 5 แห่งแรกอันได้แก่ :
- อิคารีอา, กรีซ
- โอกินาวะ, ญี่ปุ่น
- นิโคยา, คอสตาริกา
- ซาร์ดิเนีย, อิตาลี
- โลมาลินดา, สหรัฐฯ
เขตดั้งเดิมเหล่านี้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่ของสิงคโปร์นั้นเรียกว่า ‘บลูโซน 2.0’ เกิดขึ้นโดย ‘ฝีมือมนุษย์’ นั่นเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผลักดันนโยบายที่ก้าวหน้าของรัฐบาล มากกว่าที่จะเป็นแบบประเพณีวัฒนธรรมที่ยึดถือกันมายาวนานเหมือนในเขตบลูโซนอื่นๆ
แดน เบตต์เนอร์ นักวิจัยอายุขัย และนักเขียน ได้ประกาศให้สิงคโปร์เป็นเขตบลูโซนแห่งล่าสุด ซึ่งให้รายละเอียดไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขาชื่อ ‘The Blue Zones: The Secrets for Living Longer’ “สิงคโปร์เป็นบลูโซนที่ได้รับการออกแบบทางวิศวกรรม แทนที่จะเป็นเขตที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเหมือนกับอีก 5 เขต...สิงคโปร์เปลี่ยนผ่านมาเป็นศูนย์กลางเมืองในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาได้สร้างผลลัพธ์ที่เราต้องการอย่างชัดเจนด้วยนโยบายที่มุ่งเน้นให้ผู้คนต่างรุ่นมีส่วนร่วม เดิน และซื้ออาหารเพื่อสุขภาพ...สิงคโปร์เป็นตัวแทนของคนอายุยืนที่มีสุขภาพดี” เบตต์เนอร์ กล่าว
“บลูโซน 2.0 พรมแดนใหม่แห่งการแก่ชรา”
อายุขัยของคนสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 20 ปีนับตั้งแต่ปี 1960-2023 ขณะที่เขตบลูโซนอีก 5 แห่งค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ตลอดหลายศตวรรษ คนสิงคโปร์มีอายุขัยเฉลี่ยเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยผู้ชายมักมีอายุขัยเฉลี่ย 82.13 ปี ส่วนผู้หญิง 86.42 ปี
ทั้งนี้พบว่า อายุขัยของคนสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้คนที่นี่กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น (เช่น ระบุระดับน้ำตาลบนฉลากเครื่องดื่ม) หรือการมีระบบขนส่งมวลชน และเครือข่ายสวนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนเดินมากขึ้น และที่สำคัญกว่านั้น อาจสะท้อนถึงระบบการดูแลสุขภาพระดับโลกด้วย
หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ สิงคโปร์มีมาตรการด้านสุขภาพที่ดี จากการวิจัยของโครงการศึกษาภาระโรคทั่วโลก ‘Global Burden of Disease 2019’ จัดให้สิงคโปร์อยู่ในอันดับ 1 ของโลกแซงหน้าญี่ปุ่นทั้งในด้านอายุขัย และอายุขัยที่มีสุขภาพดี
“ชาวสิงคโปร์มีอายุขัยที่โดดเด่นเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การปกครองที่มั่นคงและดี เศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ บริการดูแลสุขภาพที่เข้าถึงได้ และนโยบายสาธารณสุข เช่น โปรแกรมการฉีดวัคซีนในวัยเด็ก และวิธีการจัดการกับโควิด-19 ที่ยอดเยี่ยม” ดร.ลอรีน หวัง กล่าว
‘เมืองแห่งสวน’ ส่งเสริมให้พลเมืองออกกำลังกาย

รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ รวมถึงเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ ให้เข้ากับทัศนียภาพของเมืองอย่างกลมกลืน ยกตัวอย่างสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองและเป็นสวนเขตร้อนแห่งเดียวที่ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโก นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เมืองแห่งสวน’ อีกด้วย
แม้สิงคโปร์จะเป็นเมืองใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าผู้คนที่นี่จะไม่เคยอยู่ห่างไกลจากแหล่งธรรมชาติอันสวยงามเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจากมีพื้นที่สีเขียวอยู่ทั่วทั้งประเทศ อีกทั้งการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยจัดการความเครียดได้เป็นอย่างดี
โดยทั่วไปแล้ว ชาวสิงคโปร์มักจะเดินเพราะความจำเป็น มากกว่าจะเดินเพื่อออกกำลังกาย นั่นก็เป็นเพราะการวางแผนของรัฐบาลในการจัดการกับระบบขนส่งสาธารณะที่เริ่มจากการเก็บภาษีรถยนต์ และเก็บภาษีน้ำมัน ซึ่งนั่นแหละเป็นเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือปั่นจักรยานแทน และหากจะนั่งรถไฟฟ้า ก็หมายความว่า ‘พวกเขาก็จะต้องเดินยังไงล่ะ’
ที่สิงคโปร์ยังมีทางเดิน หรือทางเท้าที่มีหลังคาและร่มเงาจำนวนมาก ทำให้ผู้คนสามารถเดินได้สะดวกไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร “การเดินบนถนนได้รับความนิยมมากกว่าการขับขี่รถยนต์หากว่าต้องเดินทางผ่านเมือง พวกเขาเดินได้วันละ 10,000 หรือ 20,000 ก้าวโดยที่ไม่ต้องคิดเลย” เบตต์เนอร์ กล่าว
นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์เองก็มีแรงจูงใจที่จะออกกำลังกายด้วย เนื่องจากรัฐบาลริเริ่มให้รางวัลแก่ประชาชนที่ออกกำลังกายผ่านแอปฯ ‘Healthy 365’ ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพ (HPB) โดยผู้คนสามารถเลือกกิจกรรมเพื่อสุขภาพที่ต้องการเข้าร่วม เช่น รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น หรือการนับก้าว แล้วก็สะสมคะแนนจากกิจกรรมนั้นเพื่อแลกรับรางวัล
รัฐบาลส่งเสริมการทานอาหารเพื่อสุขภาพ

นอกจากพื้นที่สีเขียวแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังส่งเสริมให้พลเมืองทานอาหารเพื่อสุขภาพจนเกิดกระแสจับจ่ายซื้ออาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป และหันมาซื้ออาหารสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแทน
“สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการทำให้อาหารเพื่อสุขภาพมีราคาถูกและเข้าถึงได้ง่ายกว่าอาหารขยะ” เบตต์เนอร์ กล่าว
กระทรวงสาธารณสุขยังได้สร้างระบบฉลากระบุปริมาณไฟเบอร์ น้ำตาล ไขมัน หรือโซเดียมไว้อย่างชัดเจน เพื่อเป็นตัวช่วยให้พลเมืองได้รู้ว่าอาหารชนิดใดดีต่อสุขภาพ และเลือกทานแต่อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งทางรัฐบาลสิงคโปร์ยังได้ลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มที่มีรสหวาน และเพิ่มฉลากอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับสินค้าที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในปริมาณจำกัด
ตึกหลายชั้น = ยาแก้เหงา

สิงคโปร์มีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้สึกเป็นชุมชนให้กับผู้คน “ความเหงาเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ หากคุณอาศัยอยู่ในซอยตันในเขตชานเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณไม่ชอบเพื่อนบ้านของคุณ คุณแทบจะไม่มีโอกาสบังเอิญเจอใคร หรือพูดคุยด้วยเลย” เบตต์เนอร์ กล่าว
ทางการสิงคโปร์จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างอาคารหลายชั้นที่มีทางเลือกที่อยู่อาศัยหลากหลายเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน และเชื่อมโยงผู้คนให้มีปฏิสัมพันธ์กัน
อีริก คลิเนนเบิร์ก นักสังคมวิทยาอธิบายไว้ในหนังสือ ‘Places for the People’ ว่า “80% ของพลเมืองสิงคโปร์อาศัยอยู่ในอาคารที่อยู่อาศัยสาธารณะที่มีอพาร์ตเมนต์ส่วนตัว การออกแบบเมืองในลักษณะนี้จะช่วยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของผู้อยู่อาศัยจากกลุ่มรายได้ที่แตกต่างกัน อีกทั้งบริเวณพื้นที่ส่วนกลางก็มีไว้เพื่อให้ผู้คนไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ตลอดเวลา”
สถาปัตยกรรมของสิงคโปร์เป็นเหมือนยาแก้เหงา ผู้คนอาศัยอยู่ในตึกสูงซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายของประชากร แต่นี่เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ผู้คนมารวมตัวกันได้ที่ร้านขายอาหาร ตลาด และพื้นที่ส่วนกลาง “คุณนั่งโต๊ะเดียวกัน และคุณกำลังพูดคุยโต้ตอบกับคนที่นั่งข้างๆ คุณ โอกาสที่คุณจะได้เจอเพื่อนเก่า หรือได้เพื่อนใหม่นั้นสูงขึ้นอย่างมาก” เบตต์เนอร์ กล่าว
บริการสุขภาพที่เข้าถึงได้ง่าย

ชาวสิงคโปร์จะได้รับบริการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า นั่นหมายความว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ รวมถึงบริการด้านสุขภาพ เช่น การป้องกัน การรักษา การฟื้นฟู และการดูแลแบบประคับประคอง โดยทางรัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อสร้างนโยบายที่อุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ระบบการดูแลสุขภาพของสิงคโปร์ยังได้รับการยกย่องจากทั่วโลกทั้งในด้านคุณภาพการรักษา และความสามารถในการควบคุมต้นทุน
ดัชนีความเจริญรุ่งเรือง ‘Legatum Prosperity Index’ ประจำปี 2023 ยกให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกในแง่ของสุขภาพประชาชน และการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ได้ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ลดอัตราการเสียชีวิตของคนสิงคโปร์ รวมถึงระบบการดูแลสุขภาพที่ดีก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยที่มีภาวะเรื้อรังมีอายุยืนยาวขึ้น
“ในอเมริกา การดูแลสุขภาพมีค่าใช้จ่ายสูงมาก...เนื่องจากนโยบายส่วนใหญ่เน้นความสำคัญด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก แต่ ผู้นำสิงคโปร์ (ยกตัวอย่าง ลีกวนยู) และเพื่อนร่วมงานของเขากลับต่างออกไป เพราะพวกเขาพยายามทำให้ผู้คนมีสุขภาพดีจริงๆ แทนที่จะหาเงินจากคน” เบตต์เนอร์ กล่าว