‘ทำไมไม่มีใครโกรธที่ชาวปาเลสไตน์ถูกฆ่าบ้าง?’ เสียงสะท้อนของความ ‘สิ้นหวัง’ จากเขตเวสต์แบงก์

11 พ.ย. 2566 - 02:00

  • บทสัมภาษณ์จาก นิโคลัส คริสต์ทอฟ คอลลัมนิสต์จาก The New York Times ที่เคยเดินทางท่องเที่ยวตะวันออกกลางจนได้พบกับเพื่อนชาวปาเลสไตน์ 2 คน

losing-hope-in-west-bank-SPACEBAR-Hero.jpg

นิโคลัส คริสต์ทอฟ (Nicolas Kristof) คอลลัมนิสต์จาก The New York Times เคยเป็นนักศึกษากฎหมายที่ไปแบกเป้ท่องเที่ยวตะวันออกกลางในปี 1982 และได้พบกับนักศึกษาชาวปาเลสไตน์ 2 คน บนรถบัสท้องถิ่นในเขตเวสต์แบงก์ ทั้งหมดได้พูดคุยกัน และคริสต์ทอฟได้เดินทางไปยังบ้านของพวกเขาและใช้เวลา 1 วันเต็มๆ ในการเข้า-ออกซอกซอยในค่ายผู้ลี้ภัยในเวสต์แบงก์ซึ่งมีประชากรหนาแน่น 

คริสต์ทอฟเล่าว่า พวกเขามีช่วงเวลาดีๆ ร่วมกัน ชาวท้องถิ่นทั้ง 2 คนเล่าเรื่องการเรียนภาษาอาหรับที่มหาวิทยาลัยเบธเลเฮม ซึ่งเขาเองก็มีแผนที่จะศึกษาภาษาอาหรับในกรุงไคโรด้วยเช่นกัน ทั้ง 3 คนตื่นเต้นกับการศึกษาและเต็มไปด้วยความฝัน เราแยกย้ายกันด้วยการที่เราต่างทิ้งชื่อที่อยู่ไว้ในสมุด แต่สุดท้ายพวกเราไม่เคยติดต่อกันอีกเลย

losing-hope-in-west-bank-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: MAHMUD HAMS / AFP

เมื่อเวลาผ่านพ้นไปถึง 41 ปี คริสต์ทอฟไปขุดคุ้ยเจอสมุดที่อยู่เก่าๆ และเจอกับชื่อของพวกเขา ทำให้คริสต์คอฟสงสัยขึ้นมาว่า สหายทั้ง 2 คนยังมีชีวิตอยู่ไหม? พวกเขาจะย้ายไปต่างประเทศหรือยัง? ในช่วงเวลาอันเลวร้ายที่ต้องเผชิญหน้ากับสงครามนี้ พวกเขาคิดอย่างไรกับอิสราเอล ฮามาส และสหรัฐฯ   

ด้วยความช่วยเหลือจากนักข่าวท้องถิ่นที่โทรศัพท์ไปยังค่ายผู้ลี้ภัย ทำให้คริสต์ทอฟสามารถติดต่อ ซาเลห์ โมเฮ็ม (Saleh Molhem) อายุ 63 ปี และ มาห์หมัด คาราคีย์ (Mahmoud Qaraqei) อายุ 60 ปี ซึ่งหนึ่งเหตุผลที่ค้นหาพวกเขาเจอเป็นเพราะผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์จะไม่ค่อยย้ายถิ่นฐาน ทั้ง 2 ยังคงอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเดียวกัน พวกเขายังคงจำคริสต์ทอฟได้และชวนไปเยือนอีกครั้ง

ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้พบพวกเขาอีกครั้ง แต่การกลับมาพบกันอีกครั้งของเราก็เป็นเส้นทางไปสู่ควมคับข้องใจของชาวปาเลสไตน์เช่นกัน โลกเปลี่ยนแปลงไปมากในรอบ 4 ทศวรรษ ขณะที่ผมกำลังเดินทางไปทั่วโลกและมีอาชีพการงานที่สมบูรณ์ พวกเขาก็ยังคงไร้สัญชาติ ติดอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย และอาศัยอย่างหวาดกลัว ที่แย่กว่านั้นคือ พวกเขามีอิสระน้อยกว่าที่ผมพบเขาในปี 1982 มาก

คริสต์ทอฟ

มาห์หมัดบอกกับคริสต์ทอฟว่า ในสมัยนั้น พวกเขาสามารถเดินทางไปทั่วอิสราเอลและหางานทำได้อย่างง่ายดาย และสามารถไปพักผ่อนบนชายหาดของอิสราเอลในช่วงสุดสัปดาห์ได้  

ตอนนี้พวกเขาอาศัยอยู่ภายใต้จุดตรวจที่เข้มงวด ซึ่งทำให้การเดินทางยากลำบากแม้จะอยู่ในเวสต์แบงก์ก็ตาม และการโจมตีของกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ทุกอย่างแย่ลง และเนื่องจากทางการอิสราเอลปิดถนน คริสต์ทอฟจึงไม่สามารถเดินทางไปยังบ้านของพวกเขาได้ เขาจึงต้องทิ้งรถของเขาไว้บนถนนฝั่งอิสราเอล และปีนขึ้นไปบนคันดินที่อิสราเอลสร้าง และโบกรถแท็กซี่ชาวปาเลสไตน์เข้าไป 

มาห์หมัดกล่าวว่า เขาไม่สามารถออกไปไหนได้ และเขาเองก็อยากไปหาหมอในเมืองเฮบรอนในเขตเวสต์แบงก์เช่นกัน แต่เขาบอกว่าตอนนี้เป็นไปไม่ได้เพราะว่าถนนถูกปิด

losing-hope-in-west-bank-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: MAHMUD HAMS / AFP

ขณะที่ชาวอิสราเอล กล่าวว่า หากชาวปาเลสไตน์มีเสรีภาพน้อยลงก็เป็นความผิดของพวกเขาเอง พวกเขาบอกว่าเหตุระเบิดฆ่าตัวตายโดยชาวปาเลสไตน์นำมาสู่การสร้างจุดตรวจที่เข้มงวด ทั้งที่นี่ (เวสต์แบงก์) และในฉนวนกาซา 

ตอนคริสต์ทอฟเจอกับซาเลห์และมาห์หมัดครั้งแรก ทั้ง 2 คน เต็มไปด้วยเป้าหมายอันสูงส่งในการเดินทาง และอาชีพการงาน รวมถึงการ ‘มองโลกในแง่ดี’ ทว่าตอนนี้พวกเขากลับดูขมขื่น และเชื่อว่าอิสราเอลคือ ‘สิ่งเลวร้าย’ อย่างรวดเร็ว

“ชาวปาเลสไตน์ที่ดี คือชาวปาเลสไตน์ที่ตายแล้ว” ซาเลห์กล่าว โดยอธิบายถึงทัศนคติของเขาที่มีต่ออิสราเอล

losing-hope-in-west-bank-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: MAHMUD HAMS / AFP

ทั้งคู่คาดหวังว่าจะได้เข้าเรียนในระดับบัณฑิตในต่างประเทศ ซาเลห์อยากได้ปริญญาเอกจากการศึกษาภาษาอาหรับในอียิปต์ และมาห์หมัดหวังว่าจะได้รับปริญญาโทภาษาสเปนในสเปน แต่พวกเขาบอกว่า ‘การปราบปรามของอิสราเอลทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ และทำให้โอกาสของพวกเขาหลุดลอยไป’ 

พวกเขาทั้ง 2 ลงเอยด้วยการเป็นครูโรงเรียนมัธยมในเขตเวสต์แบงก์ แต่ต่างฝ่ายต่างบอกว่าเขาถูกทางการอิสราเอลไล่ออกเมื่อหลายปีก่อน 

มาห์หมัดกล่าวว่า เจ้าหน้าที่อิสราเอลไล่เขาออก หลังจากที่เขาถูกจำคุกอยู่ 18 วัน จากความผิดที่เขาฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเมื่อหลายปีก่อน ส่วนซาเลห์บอกว่าเขาไม่เคยถูกจับ แต่ถูกเจ้าหน้าที่อิสราเอลไล่ออกเนื่องจากเขาไม่สามารถป้องกันไม่ให้นักเรียนขว้างก้อนหินใส่กองกำลังอิสราเอลได้ ต่อมาทั้ง 2 ได้งานเป็นครูในโรงเรียนสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ที่ดำเนินการโดยองค์การสหประชาชาติ และปัจจุบันพวกเขาเกษียณแล้ว  

คริสต์ทอฟบอกว่า เรื่องราวเหล่านี้ไม่สามารถยืนยันได้ และหากฟังจากทางฝั่งอิสราเอลอาจแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง ตะวันออกกลางเต็มไปด้วย ‘เรื่องเล่า’ ซึ่งแต่ละเรื่องเกิดขึ้นจริงสำหรับคนที่อยู่ที่นี่ และอิสราเอลก็ยังคงมุ่งเน้นไปที่ภัยคุกคามจากชาวปาเลสไตน์ 

ฉนวนกาซาครองพื้นที่ข่าวในทุกๆ วัน แต่ชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 132 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กกว่า 41 ราย พร้อมกับทหารของอิสราเอล 1 ราย ถูกสังหารในเขตเวสต์แบงก์ นับตั้งแต่การโจมตีของกลุ่มฮามาส ชาวปาเลสไตน์กว่า 900 ราย ถูกบังคับให้ออกจากบ้านในช่วงเวลาของการโจมตี

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่มีมายาวนาน แต่กลับแย่ลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา 

รับบี อาริก แอสเชอร์แมน (Rabbi Arik Ascherman) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในอิสราเอล กล่าวว่า ผู้ที่ต้องการตั้งถิ่นฐานใช้ประโยชน์จากสงครามครั้งนี้เพื่อขับไล่คนท้องถิ่นอย่างรุนแรง  

ด้านองค์การสหประชาชาติ กล่าวด้วยว่า มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีของผู้ที่ต้องการตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์โดยเฉลี่ยแล้ววันละ 7 ราย ตั้งแต่ที่เริ่มมีการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. โดยมักจะใช้ปืนและบ่อยครั้งได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอล

losing-hope-in-west-bank-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Jason Connolly / AFP

คริสต์ทอฟได้พูดคุยกับผู้ตั้งถิ่นฐานในอดีต ซึ่งพวกเขาแย้งว่า สิ่งที่พวกเขาทำเป็นเพียงการปกป้องตัวเองจากชาวปาเลสไตน์ และไม่ว่ากรณีใดๆ พระเจ้าก็จะประทานพื้นที่ทั้งหมดให้แก่พวกเขา ‘นี่คือโฉนดแผ่นดินของเรา’ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติกล่าวกับทูตคนอื่นๆ ในปี 2019 โดยชูพระคัมภีร์และกล่าวถึงเขตเวสต์แบงก์ และอิสราเอล 

เจสซิกา มอนเทลล์ ผู้บริหารกลุ่มสิทธิมนุษยชนฮาโมเกด กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจับกุมชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์เป็นจำนวนมาก 

เหตุผลหนึ่งที่ชาวปาเลสไตน์รู้สึกว่าถูกคุกคามก็คือ อิตามาร์ เบน-เกวีร์ รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงของอิสราเอล ซึ่งเป็นคนขวาจัด และเคยถูกตัดสินลงโทษในศาลอิสราเอลว่าให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอิสราเอล  

และบางทีด้วยเหตุผลนั้น ซาเลห์และมาห์หมัดจึงกังวลที่จะมาพบคริสต์ทอฟ และระมัดระวังเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาพูด ซึ่งเป็นการพูดคุยกับที่ค่อนข้างห่างไกลจากวิธีที่พวกเขาพูดกับคริสต์ทอปในการเจอกันครั้งแรก นอกจากนี้ยังไม่ให้ถ่ายรูปใบหน้าด้วย

losing-hope-in-west-bank-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: MAHMUD HAMS / AFP

บทสนทนาเริ่มตึงเครียดมากขึ้น เมื่อไปถึงคำถามเกี่ยวกับการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค.

‘การที่ผู้คนในโลกอาหรับจะมีความสุข ไม่ใช่เพราะการสังหารและการนองเลือด แต่เป็นเพราะชาวกาซานจะสามารถออกจากฉนวนกาซาได้’ ซาเลห์บอก 

เมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความโหดร้ายของฮามาส ทั้งซาเลห์และมาห์หมัดกล่าวว่า พวกเขาโศกเศร้าต่อการสูญเสียของชาวอิสราเอล แต่สงสัยว่าเหตุใดโลกจึงไม่โกรธเคืองต่อการที่ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถูกสังหาร พวกเขา ‘ผิดหวัง’ ที่คริสต์ทอฟมุ่งความสนใจไปที่ความป่าเถื่อนของกลุ่มฮามาส แต่คริสต์ทอฟเองก็ผิดหวังที่ทั้ง 2 คนไม่เต็มใจที่จะประณามการโจมตีนั้นอย่างชัดเจน  

มาห์หมัดทำลายความตึงเครียดที่พุ่งเข้ามาอย่างถาโถมจากบทสนทนาดังกล่าว ‘เราไม่ได้เกลียดใคร ทั้งยิว คริสต์  พุทธ เราไม่ได้เกลียดใคร เราแค่แสวงหาอิสรภาพในการใช้ชีวิต’ ส่วนซาเลห์เองก็บอกว่า ‘เราไม่ใช่ตัวปัญหา เราแค่อยากมีชีวิตที่เป็นอิสระเหมือนกันคนอื่นๆ ในโลก’

เมื่อถามว่า เวสต์แบงก์มีความเสี่ยงที่จะ ‘ระเบิด’ ด้วยความโกรธแค้นต่อการสูญเสียในกาซาหรือไม่ ซาเลห์บอกว่า ‘ผู้คนจะรู้สึกอึดอัด และด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงออกไปแสดงความรู้สึกของพวกเขา’ พร้อมกับชี้ไปที่น้ำอัดลมตรงหน้าพร้อมบอกว่า ‘เหมือนๆ กับขวดน้ำอัดลมนั่นแหละ ลองเขย่ามันดูสิ มันจะระเบิด’ 

หลังจากการพูดคุยคริสต์ทอฟบอกลาเพื่อนๆ และพูดติดตลกว่า จะพบกันอีกในอีก 41 ปีข้างหน้า ทว่ากลับทำให้บรรยากาศมันกลับดำดิ่ง มืดมนลงกว่าเดิม เพราะพวกเขาไม่แน่ใจว่าจะมีชีวิตรอดได้อีก 2 – 3 ชั่วโมงข้างหน้าหรือไม่ และเกิดเป็นความเงียบงันตามมา 

คริสต์ทอฟเล่าว่า ทั้ง 3 คนแยกกัน แม้ว่าความสดใส กระตือรือล้นจะน้อยกว่าครั้งแรก แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นชาวปาเลสไตน์ธรรมดาๆ ที่ส่วนใหญ่จะต้อง ‘ก้มหน้า’ และหลีกเลี่ยงการเมืองเพื่อไม่ให้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปกับความขัดแย้ง แม้ว่าพวกเขาจะสูญเสียอิสรภาพและศักดิ์ศรีไป  

‘คริสต์ทอฟนึกถึงชาย 2 คนนั้นที่เต็มไปด้วยคำสัญญาและความอบอุ่น มีชีวิตชีวาด้วยความหวังและอาศัยอยู่ในโลกที่ชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างดี ช่างเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่การเปลี่ยนแปลงมันเป็นเช่นนี้ เมื่อซาเลห์ และมาห์หมัดกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว และคุณปู่ พวกเขาก็ขาดความมีชีวิตชีวา อนาคต และความหวัง ซึ่งนั่นแหละคือแก่นแท้ของปัญหาของชาวปาเลสไตน์’

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์