ไทยอยู่ตรงไหนในสมการ? เมื่อมาเลเซียกำลังผงาดเป็นศูนย์กลางผลิตเซมิคอนดักเตอร์

1 มิ.ย. 2567 - 04:00

  • เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือที่ที่บริษัทผลิตชิปหมายตามากที่สุด เพื่อนบ้านอาเซียนแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม ไทย หรือสิงคโปร์ เพื่อให้ได้เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมชิปของโลก

  • มาเลเซียมาแรงที่สุด ถึงขั้นจะผงาดเป็นศูนย์กลางของโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ไม่กี่ปีมานี้บริษัทชิปรายใหญ่พากันไปลงทุน

  • ย้อนกลับมามองที่ไทย นักลงทุนต่างชาติกระหน่ำเทขายพันธบัตรไทยไปแล้วกว่า 990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทิ้งหุ้นไทย 2,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงที่สุดในตลาดเอเชีย และความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเทไทยไปประเทศอื่น

 malaysia-emerges-hotspot-semiconductor-thailand-political-turmoil-SPACEBAR-Hero.jpg

ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยี บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งต่างก็มองหาที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ที่ทั้งสองมหาอำนาจบังคับใช้ต่อกัน 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือที่ที่บริษัทผลิตชิปหมายตามากที่สุด ด้วยศักยภาพด้านประชากรที่มีกว่า 700 ล้านคน และด้านเศรษฐกิจที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงผลประโยชน์ด้านภาษีและแรงงานราคาถูก  

ความได้เปรียบนี้ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนาม ไทย หรือสิงคโปร์ ที่ต่างก็พยายามยกระดับให้ประเทศตัวเองดูดีมีภาษีที่สุดเพื่อให้ได้เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมชิปของโลก

แต่ดูเหมือนว่า “มาเลเซีย” จะมาแรงที่สุด ถึงขั้นจะผงาดเป็นศูนย์กลางของโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์

มาเลเซียมีประสบการณ์และโครงสร้างพื้นฐานในการเป็น “หลังบ้าน” ของห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซิคอนดักเตอร์มากว่า 50 ปีแล้ว ทั้งการประกอบและทดสอบชิป 

และยังถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของวงการเซมิคอนดักเตอร์ จากการเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อันดับ 6 ของโลก และแต่ละปีสหรัฐฯ ยังนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากมาเลเซียถึง 20% มากกว่าที่นำเข้าจากไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ 

บริษัทชิปแห่ลงทุน 

เดือนธันวาคม 2021 บริษัท Intel ของสหรัฐฯ ประกาศว่าจะลงทุนมากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างโรงงานประกอบและทดสอบชิปในมาเลเซีย 

เอ. เค. ชง กรรมการผู้จัดการ Intel Malaysia เผยกับ CNBC ว่า ที่ตัดสินใจลงทุนในมาเลเซียเพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างมาอย่างดี มีซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง และมีคนเก่งที่หลากหลาย 

เดือนกรกฎาคม 2022 บริษัท Infineon ของเยอรมนี ประกาศจะสร้างโมดูลแผ่นเวเฟอร์ (แผ่นวัสดุสารกึ่งตัวนำที่มีคุณสมบัติการนำไฟฟ้าอยู่ระหว่างตัวนำและฉนวน) ที่เมืองคูลิม 

เดือนกันยายนปีที่แล้ว ยักษ์ใหญ่ชิปจากสหรัฐฯ อีกเจ้าหนึ่งอย่าง GlobalFoundries สร้างโรงงานศูนย์กลางเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการของบริษัทในปีนัง 

ตันยูกง รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปของ GlobalFoundries ในสิงคโปร์ ให้เหตุผลว่าเลือกมาเลเซียเพราะมีนโยบายที่มองการณ์ไกล รัฐบาลท้องถิ่นสนับสนุนอย่างแข็งขัน  

ปีที่แล้วและยังมี Micron ที่เปิดโรงงานประกอบและทดสอบชิปแห่งที่ 2 ในปีนัง ส่วน Infineon ทุ่มเงิน 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยับขยายโรงงานตลอด 5 ปีข้างหน้า และ Nvidia จะร่วมมือกับหุ้นส่วนในท้องถิ่นพัฒนาศูนย์ AI มูลค่า 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในรัฐยะโฮร์ ไปจนถึง Amazon Web Service ที่จะลงทุนรวม 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตลอด 14 ปีข้างหน้าเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ให้แข็งแกร่ง 

เดือนที่แล้ว Neways ซัพพลายเออร์หลักของผู้ผลิตอุปกรณ์ชิป ASML ของเนเธอร์แลนด์ บอกว่าจะสร้างโรงงานใหม่ในเมืองกลัง 

ต้นเดือนพฤษภาคม Microsoft ประกาศลงทุน 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อพัฒนาคลาวด์เทคโนโลยีและปัญญาประกิษฐ์ (AI) ตามมาติดๆ ด้วย Google ที่เตรียมลงทุนกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งศูนย์ข้อมูลและบริการคลาวด์ 

มาเลเซียเตรียมพร้อมอย่างดี 

The New York Times ระบุว่า มาเลเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในหลายด้าน อาทิ AI และแมชชีนเลิร์นนิง และยังยกระดับศักยภาพด้านเซมิคอนดักเตอร์อย่างแข็งขันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ตัวเองดึงดูดสายตาบริษัทต่างๆ ที่กำลังมองหาทางเลือกอื่นนอกจีนและสหรัฐฯ  

ความสามารถในการปรับตัวต่อสิ่งใหม่ๆ และการบริหารความเสี่ยงที่ใช้ได้จริงยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของมาเลเซีย ผลการสำรวจความคิดเห็นโดย Financial Times พบว่า ความแข็งแกร่งในการผลิตและความได้เปรียบด้านลอจิสติกส์เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจชิปเติบโตด้วยความเสี่ยงที่ลดลง 

ภูมิรัฐศาสตร์ที่ผันผวนส่งผลให้บรรดาบริษัทข้ามชาติเริ่มคิดทบทวนเรื่องการพึ่งพาจีนในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ บวกกับการที่สหรัฐฯ จำกัดการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีน หลายบริษัทพากันมองหาตัวเลือกอื่น 

ทว่า The New York Times ระบุว่า มันไม่ใช่แค่การมองหาโรงงานผลิตที่ต้นทุนถูกกว่าเท่านั้น แต่เป็นการค้นหาสถานที่ที่เหมาะสมในเชิงกลยุทธ์ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ 

นอกจากนี้ ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศด้านอิเล็กทรอนิกส์ บวกกับการมองการณ์ไกลของรัฐบาล เพื่อดึงดูดนักลงทุนเพิ่ม ทำให้มาเลเซียยิ่งได้เปรียบ 

Financial Times และ The New York Times สรุปไปในทางเดียวกันว่า หากความคิดริเริ่มเชิงกลยุทธ์และความสามารถในการปรับตัวยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดบริษัทต่างๆ อนาคตที่สดใสในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกของมาเลเซียคงไม่ไกลเกินเอื้อม 

ส่องความเป็นไปได้ของไทย 

 
ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เผยว่า มีบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติหลายเจ้าให้ความสนใจลงทุนในไทย 

แต่สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ไทยกำลังจะเข้าสู่ “ความไม่แน่นอนทางการเมือง” ระยะใหม่ ซึ่งจะยิ่งสร้างความเสียหายต่อตลาดการเงินที่เปราะบางอยู่แล้ว 

ในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ ศาลจะชี้ชะตานายกฯ เศรษฐา อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคก้าวไกล และแม้ว่าผลของคดีจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีสิทธิ์ไปถึงขั้นที่นายกฯ เศรษฐาจะหลุดเก้าอี้ 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของตลาดหุ้นแดงเถือก เงินบาทอ่อนค่า และเงินทุนไหลอกนอกประเทศ บรรดานักลงทุนที่หวั่นๆ กับความไม่ลงรอยกันของรัฐบาลและแบงก์ชาติอยู่แล้ว ตอนนี้ต้องเผชิญกับโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่อาจทำให้งบประมาณสำคัญๆ ต่างๆ รวมทั้งงบประมาณประจำปี 2025 แขวนอยู่บนเส้นด้ายเข้าไปอีก แบบนี้ความเชื่อมั่นต่อไทยในสายตานักลงทุนจะเหลือสักกี่มากน้อย

เศรษฐกิจไทยกำลังรับกรรมจากการประกาศงบประมาณปี 2024 ล่าช้าหลังเกิดความชะงักงันหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว จนตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจลดลงเหลือ 1.5% ในควอเตอร์แรกของปี ซึ่งต่ำที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียน ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอาจทำให้สภาอนุมัติงบประมาณปี 2025 ล่าช้า ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็หนีไม่พ้นต้องเจอวิบากอีก 

จากการติดตามของ Bloomberg พบว่า ปีนี้นักลงทุนต่างชาติกระหน่ำเทขายพันธบัตรไทยไปแล้วกว่า 990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทิ้งหุ้นไทย 2,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงที่สุดในตลาดเอเชีย เงินทุนที่ไหลออกนี้ยิ่งกระทบค่าเงินบาทที่ในปีนี้ร่วงลงไปแล้วกว่า 7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นับว่าอ่อนค่ามากที่สุดรองจากเงินเยนของญี่ปุ่นเท่านั้น

บริษัทบริหารสินทรัพย์ Samsung Asset Management มองว่า ด้วยปัจจัยทางการเมืองรอบล่าสุดนี้ นักลงทุนต่างชาติอาจเทไทยไปที่อื่น

อลัน ริชาร์ดสัน ผู้บริหารกองทุนของ Samsung Asset Management เผยกับ Bloomberg ว่า “สัญญาณใดๆ ของความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองจะทำให้นักลงทุนกังวล เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล” 

หากจะแข่งกับเพื่อนบ้านดึงดูดบริษัทต่างชาติ ไทยคงต้องเร่งฝีเท้าชนิดหืดขึ้นคอ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์