สหรัฐฯ ว่าไง? 4 ชาติอาเซียนรวมไทย เข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตร ‘BRICS’

25 ต.ค. 2567 - 04:48

  • รัฐมนตรีเศรษฐกิจของมาเลเซียเผยว่า “การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะทำให้มาเลเซียสามารถเสริมสร้างความมุ่งมั่นในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่ม BRICS...”

  • ขณะที่ทางกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า อินโดนีเซียจะถ่ายทอดข้อความสำคัญเรื่องสันติภาพและเน้นเรื่องความสามัคคี

  • ผู้เชี่ยวชาญบางคนกังวลว่า การเข้าร่วม BRICS ของ 4 ชาตินี้อาจสร้างความตึงเครียดให้อาเซียน

malaysia_indonesia_vietnam_thailand_SPACEBAR_Hero_9ff6acad4e.jpg

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ได้กลายเป็นประเทศพันธมิตรของ ‘บริกส์’ (BRICS) กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ถูกมองว่าเป็นการถ่วงดุลกับชาติตะวันตก 

บัญชี @BRICSInfo โพสต์บน X เมื่อวันพุธ (24 ต.ค.) ว่า มีการเพิ่มประเทศพันธมิตร 13 ประเทศเข้าเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการแล้ว ได้แก่ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา คาซัคสถาน ไนจีเรีย ตุรกี ยูกันดา และอุซเบกิสถาน 

พวกเขาไม่ได้เป็นสมาชิกเต็มตัวของกลุ่ม BRICS ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2006 ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ส่วนแอฟริกาใต้เข้าร่วมในปี 2010 ขณะที่อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เพิ่งจะกลายเป็นสมาชิกของ BRICS ในปีนี้  

เศรษฐกิจสมาชิกคิดเป็นมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 28% ของเศรษฐกิจโลก โดยในปีนี้ การประชุมสุดยอด BRICS ประจำปีจัดขึ้นที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคมที่ผ่านมา 

ราฟิซี รามลี รัฐมนตรีเศรษฐกิจของมาเลเซีย โพสต์ Instagram เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ว่า “การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะทำให้มาเลเซียสามารถเสริมสร้างความมุ่งมั่นในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่ม BRICS และรับมือกับภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่ซับซ้อนได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น”  

ขณะที่ทางกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารว่า ในการประชุม BRICS Plus อินโดนีเซียจะถ่ายทอดข้อความสำคัญเรื่องสันติภาพและความสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาและความสามัคคีของกลุ่มประเทศโลกใต้ เพิ่มพูนความสามัคคี และมีบทบาทสำคัญในการสร้างระเบียบโลกที่ครอบคลุม ยุติธรรม และเท่าเทียมกันมากขึ้น 

ส่วนประเทศไทยส่ง มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนไปประชุม และทางด้านเวียดนาม ฝั่มมิญจิ๊ญ นายกฯ เดินทางมาประชุมเอง 

การกระจายการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“มีความเป็นไปได้ที่สมาชิกอาเซียนทั้ง 4 ประเทศต้องการเพิ่มโอกาสทางการค้าและกระจายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง”

ฮาลมี อาซรี นักวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเมืองอิสระ กล่าวกับสำนักข่าว CNA

ขณะที่ “แรงจูงใจอีกประการหนึ่งอาจเป็นการ ‘ทำให้จีนพอใจมากขึ้น’ และหวังว่าจะได้รับเงื่อนไขการค้าและการลงทุนที่ดีขึ้นกับจีน เนื่องจากจีนเป็นพลังขับเคลื่อนของกลุ่ม BRICS อย่างเห็นได้ชัด” ดร.โอห์ไอซุน นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันการวิจัยระหว่างประเทศของสิงคโปร์ กล่าว 

“สำหรับมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและสนับสนุนประเด็นปาเลสไตน์นั้น ถือเป็นความพยายามที่ฉุกละหุกเพื่อเอาชนะชาติตะวันตกซึ่งสนับสนุนอิสราเอล” ดร.โอห์ กล่าวเสริม

ทว่าผู้เชี่ยวชาญบญบางคนแสดงความกังวลว่า การเป็นพันธมิตรกับ BRICS ของ 4 ประเทศนี้อาจสร้างความตึงเครียดให้กับอาเซียน

แต่ ดร.โอห์กลับมองในแง่ดีมากกว่า “สถานะของพวกเขาในฐานะประเทศพันธมิตร BRICS ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนักต่ออาเซียน นอกจากจะถูกมองว่าโน้มเอียงเข้าใกล้จีนมากขึ้นในการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทั่วโลก” ดร.โอห์ กล่าว 

นอกจากนี้ ฮาลมี กล่าวว่า “_ทั้ง 4 ประเทศสามารถให้ภูมิภาคอาเซียนมี ‘เสียงตัวแทน’ เพื่อหารือประเด็นต่างๆ หรือแบ่งปันความคืบหน้ากับสมาชิกกลุ่ม BRICS ได้เช่นกัน”_ 

“อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของ BRICS ในการบริหารอย่างมีประสิทธิผล เนื่องจากขาดโครงสร้างอย่างเป็นทางการ และสมาชิกที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว...ความกังวลอีกประการหนึ่งคือสมาชิกใหม่จะเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรได้อย่างไร” ฮาลมี กล่าวเสริม

Photo by MAXIM SHIPENKOV / POOL / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์